คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5466/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำว่า “เอกสารราชการ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(8) หรือมาตรา 265 หมายถึง เอกสารของราชการไทยเท่านั้น
การที่จำเลยนำหนังสือเดินทางปลอมและเช็คเดินทางปลอมไปแสดงต่อพนักงานจ่ายเงินและรับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของธนาคารในคราวเดียวกันเพื่อขอแลกเงินตามเช็คเดินทางปลอมนั้น เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษ
ส่วนปัญหาการปรับบทลงโทษ แม้จำเลยจะมิได้ฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง และพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยซึ่งมิได้ฎีกาด้วยเพราะเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา๒๖๔, ๒๖๕, ๒๖๖, ๓๓๕, ๓๕๗, ๘๓, ๙๑ ริบของกลาง เว้นแต่หนังสือเดินทางของจำเลยที่ ๑ คืนเจ้าของ
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๕, ๒๖๖(๔), ๒๖๘, ๘๓ เป็นการกระทำหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอม ตามมาตรา ๒๖๘ ประกอบด้วยมาตรา ๒๖๕ จำคุกคนละ ๒ ปี ความผิดฐานปลอมตั๋วเงินและใช้ตั๋วเงินปลอมตามมาตรา๒๖๖(๔), ๒๖๘ ให้ลงโทษฐานใช้ตั๋วเงินปลอมตามมาตรา ๒๖๘ กระทงเดียวจำคุกคนละ ๓ ปี รวมเป็นโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ ๕ ปี ริบของกลางเว้นแต่หนังสือเดินทางคืนเจ้าของ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๗ วรรคหนึ่ง จำคุก ๒ ปี เมื่อรวมโทษจำคุกของจำเลยทั้งสองตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว คงจำคุกคนละ๗ ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๒ ฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีฟังได้ว่าจำเลยที่ ๒ ร่วมกับจำเลยที่ ๑กับพวก รับของโจรเช็คเดินทาง ใช้หนังสือเดินทางปลอม ปลอมและใช้เช็คเดินทางปลอมแต่ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๘ ประกอบด้วยมาตรา ๒๖๕ นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า คำว่า “เอกสารราชการ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑(๘) หรือมาตรา ๒๖๕ หมายถึงเอกสารของราชการไทยเท่านั้น ส่วนหนังสือเดินทางเป็นหนังสือเดินทางของประเทศอังกฤษดังนั้น จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดเพียงฐานใช้เอกสารปลอมตามมาตรา๒๖๘, ๒๖๔ นอกจากนี้การที่จำเลยที่ ๑ นำหนังสือเดินทางปลอมและเช็คเดินทางปลอม ไปแสดงต่อนางสาวรำเพย เกตุเหล็ก พนักงานจ่ายเงินและรับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของธนาคารศรีนคร จำกัดสาขานานาเหนือ ในคราวเดียวกันเพื่อขอแลกเงินตามเช็คเดินทางปลอมจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ และปัญหาการปรับบทดังกล่าวแม้จำเลยที่ ๒ จะมิได้ฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องและพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ ๑ ซึ่งมิได้ฎีกาด้วยเพราะเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๖๔, ๒๖๖(๔), ๒๖๘, ๙๐, ๘๓ ให้ลงโทษฐานใช้ตั๋วเงินปลอมตามมาตรา ๒๖๘, ๒๖๖(๔) ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุกคนละ ๓ ปี เมื่อรวมโทษฐานรับของโจทก์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๗ วรรคหนึ่ง ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ ๒ ปีแล้ว รวมจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ๕ ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share