คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5462/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พยานแวดล้อมกรณีคือพยานเหตุผลที่จะทำให้ศาลเชื่อว่ามีข้อเท็จจริงบางอย่างอยู่หรือไม่ซึ่งจะต้องมีการใช้เหตุผลอนุมานเอาอีกต่อหนึ่งการที่ศาลอุทธรณ์ภาค2รับฟังคำของส.เจ้าของบ้านอันเป็นสถานที่ที่มีการเรียกเงินและเป็นผู้แนะนำให้หาผู้ถูกกล่าวหาเป็นทนายความให้กับคำของท. เพื่อนบ้านของผู้กล่าวหาซึ่งผู้กล่าวหายืมเงิน40,000บาทเพื่อนำไปให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาจึงมารู้เห็นเหตุการณ์อันเป็นพยานแวดล้อมที่มีรายละเอียดประกอบชอบด้วยเหตุผลที่ทำให้เชื่อว่ามีข้อเท็จจริงบางอย่างอยู่จึงไม่ขัดต่อวิธีพิจารณาความ พยานคู่กันนั้นไม่จำเป็นต้องรู้เห็นเหตุการณ์หรือเบิกความได้ตรงกันหมดทุกตอนจึงจะรับฟังได้พยานอาจเบิกความสนับสนุนบางตอนเท่าที่ตนรู้เห็นจริงซึ่งขึ้นอยู่กับศิลปะในการซักถามพยานของพนักงานอัยการหรือทนายความผู้ว่าคดีด้วยในเมื่อพยานเบิกความในสาระสำคัญตรงกันว่าผู้ถูกกล่าวหาได้เรียกเงินจากผู้กล่าวหาโดยอ้างว่าจะเอาไปให้พนักงานอัยการและผู้พิพากษาโดยเฉพาะคำเบิกความของพยานทุกปากไม่มีทนายความช่วยเหลือซักถามเป็นการเบิกความเล่าเรื่องต่อศาลเองแต่ยังคงได้ความในสาระสำคัญตรงกันเช่นนี้ย่อมมีน้ำหนักน่าเชื่อถือว่ามีการอ้างว่าจะเอาเงินไปให้พนักงานอัยการและผู้พิพากษาจริง แม้การอ้างว่าจะเอาเงินไปให้ผู้พิพากษาจะกระทำนอกบริเวณศาลแต่การอ้างเช่นว่านั้นก็เพื่อเป็นอามิสสินจ้างในการดำเนินคดีในศาลผลที่เกิดขึ้นจึงมุ่งหมายให้มีผลในการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลถือได้ว่าเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลโดยเฉพาะคดีนี้ยังมีการทวงถามเงินดังกล่าวในบริเวณศาลอันเป็นการกระทำต่อเนื่องและเป็นส่วนหนึ่งของการเรียกเงินจากผู้กล่าวหาด้วยจึงเป็นการละเมิดอำนาจศาล

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากนายหล่อ ศรีวิเชียร ผู้กล่าวหาได้กล่าวหานายเอนก วิเศษสิทธิโชค ผู้ถูกกล่าวหาต่อศาลชั้นต้นว่าผู้กล่าวหาเคยว่าจ้างให้ผู้ถูกกล่าวหาเป็นทนายความในการดำเนินคดีผู้ถูกกล่าวหาเรียกค่าจ้าง 140,000 บาท ผู้กล่าวหาขอต่อรองเป็นเงิน 70,000 บาท ผู้ถูกกล่าวหาไม่ยอมอ้างว่าต้องเอาไปให้พนักงานอัยการ 30,000 บาท ผู้พิพากษา 2 คน คนละ 30,000 บาทผู้กล่าวหาหลงเชื่อจึงยอมตกลงและจ่ายเงินให้ในชั้นแรก 40,000 บาทส่วนที่เหลือ 100,000 บาท ผู้ถูกกล่าวหาให้ผู้กล่าวหาทำสัญญากู้ไว้ขอให้ลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาล
ผู้ถูกกล่าวหา ให้การ ปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ววินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล เป็นการละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(1) จึงมีคำสั่งให้ลงโทษจำคุกผู้ถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 33 มีกำหนด 3 เดือน
ผู้ถูกกล่าวหา อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 2 พิพากษายืน
ผู้ถูกกล่าวหา ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าประเด็นโดยตรงในคดีนี้เป็นกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาได้เรียกเงินค่าจ้างจากผู้กล่าวหาโดยอ้างว่ามีส่วนหนึ่งจะเอาไปให้พนักงานอัยการและผู้พิพากษาหรือไม่ ส่วนกรณีสัญญากู้ที่ผู้ถูกกล่าวหานำมาเป็นพยานหลักฐานฟ้องร้องผู้กล่าวหาในคดีแพ่งนั้น จะมีมูลหนี้ที่แท้จริงอย่างไรมิใช่ประเด็นโดยตรง และศาลฎีกาเห็นสมควรไม่วินิจฉัยไปถึงมูลหนี้ดังกล่าว เพราะจะเป็นการก้าวล่วงไปวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทในคดีแพ่งซึ่งผู้ถูกกล่าวหาฟ้องผู้กล่าวหาเป็นอีกคดีหนึ่งอยู่แล้ว
ที่ผู้ถูกกล่าวหาฎีกาว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 รับฟังพยานแวดล้อมเป็นคำวินิจฉัยที่ขัดต่อกระบวนวิธีพิจารณาความนั้นเห็นว่า พยานแวดล้อมกรณี คือพยานเหตุผลที่จะทำให้ศาลเชื่อว่ามีข้อเท็จจริงบางอย่างอยู่หรือไม่ ซึ่งจะต้องมีการใช้เหตุผลอนุมานเอาอีกต่อหนึ่ง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 รับฟังคำของนายสนั่นเจ้าของบ้านอันเป็นสถานที่ที่มีการเรียกเงิน และนายสนั่นแนะนำผู้กล่าวหาให้หาผู้ถูกกล่าวหาเป็นทนายความให้ และนายสนั่นเองยังค้างค่าจ้างว่าความผู้ถูกกล่าวหาอยู่ด้วย กับคำของนายทรงเพื่อนบ้านของผู้กล่าวหา ซึ่งผู้กล่าวหายืมเงินจำนวน 40,000 บาทเพื่อนำไปให้แก่ผู้ถูกกล่าวหา จึงได้มารู้เห็นเหตุการณ์อันเป็นพยานแวดล้อมที่มีรายละเอียดประกอบชอบด้วยเหตุผล มาเป็นพยานเหตุผลประกอบที่ทำให้เชื่อว่ามีข้อเท็จจริงบางอย่างอยู่ จึงไม่ขัดต่อวิธีพิจารณาความแต่อย่างใด ผู้ถูกกล่าวหาฎีกาต่อไปว่าที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่าคำเบิกความของผู้กล่าวหานางสาวสง่านายสนั่น และนายทรง แม้จะแตกต่างกันก็เป็นการแตกต่างในพลความนั้นเป็นการวินิจฉัยที่ขัดต่อเหตุผล เพราะการที่จะพิจารณาลงโทษผู้ถูกกล่าวหาถึงจำคุกควรเป็นพยานหลักฐานที่ชัดเจนและไม่แตกต่างกันนั้นเห็นว่า พยานคู่กันนั้นไม่จำเป็นต้องรู้เห็นเหตุการณ์หรือเบิกความได้ตรงกันหมดทุกตอนจึงจะรับฟังได้พยานอาจเบิกความสนับสนุนบางตอนเท่าที่ตนรู้เห็นจริงเท่านั้นก็เป็นได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับศิลปะในการซักถามพยานของพนักงานอัยการหรือทนายความผู้ว่าคดีด้วย ในเมื่อได้ความในสาระสำคัญตรงกันว่าผู้ถูกกล่าวหาได้เรียกเงินจากผู้กล่าวหาโดยอ้างว่าจะเอาไปให้พนักงานอัยการและผู้พิพากษาจริง โดยผู้กล่าวหาเบิกความว่าผู้ถูกกล่าวหาเรียกเงินจำนวน 140,000 บาท ผู้กล่าวหาต่อรองเหลือ70,000 บาท ที่บ้านนายสนั่นเพื่อนบ้านของผู้กล่าวหาและนายสนั่นเป็นผู้ติดต่อให้ผู้ถูกกล่าวหาเป็นทนายความให้ผู้ถูกกล่าวหาว่าลดไม่ได้ เพราะจะต้องเอาไปให้พนักงานอัยการ 30,000 บาทให้ผู้พิพากษา 2 คน คนละ 30,000 บาท ผู้กล่าวหาหลงเชื่อว่าต้องเอาเงินไปให้เช่นนั้นจริง จึงตกลงจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้ผู้ถูกกล่าวหาไปแล้ว 40,000 บาท ที่บ้านนายสนั่น โดยมีผู้รู้เห็นคือ นายสนั่น นางสาวสง่า บุตรผู้กล่าวหา นายทรงและนายสมบัติ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 ส่วนนางสาวสง่าเบิกความว่าขณะเกิดเหตุเรียกเงินผู้ถูกกล่าวหามาที่บ้านนายสนั่น โดยมีพยานผู้กล่าวหาและนายสมบัติ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 ไปอยู่ด้วยผู้ถูกกล่าวหาเรียกเงินค่าดำเนินการ 140,000 บาท ผู้กล่าวหาขอต่อรองเหลือ 70,000 บาท ผู้ถูกกล่าวหาบอกว่าเงินจำนวนนี้ต้องให้พนักงานอัยการ 30,000 ให้ผู้พิพากษา 2 คน คนละ 30,000 บาทผู้กล่าวหาตกลง ในวันนั้นผู้กล่าวหาได้ให้เงินผู้ถูกกล่าวหาไป40,000 บาท เงินจำนวนนี้ผู้กล่าวหาให้พยานไปขอยืมเงินนายทรงเข้มอาจ ซึ่งเป็นเพื่อนบ้าน พยานไปขอยืม นายทรงได้มาที่บ้านนายสนั่นด้วยเมื่อทราบว่าผู้กล่าวหาจะเอาเงินให้ผู้ถูกกล่าวหาเพื่อเป็นค่าดำเนินคดีนายทรงจึงมอบให้ผู้กล่าวหา จากนั้นผู้กล่าวหาจึงมอบให้ผู้ถูกกล่าวหา และนายสนั่นเบิกความว่าเป็นผู้แนะนำให้ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นทนายความดำเนินการให้พยานรู้จักผู้ถูกกล่าวหาและเคยให้เป็นทนายความของพยานมาก่อนจึงนัดให้มาพบกัน ผู้ถูกกล่าวหาเรียกเงินค่าจ้าง 70,000 บาทผู้กล่าวหาตกลงและได้บอกให้จัดการดำเนินคดีจนเสร็จเรื่องรวมทั้งจัดการจดทะเบียนในเอกสารหลักฐานที่ดินอันเป็นมรดกด้วยผู้ถูกกล่าวหาจึงบอกว่าต้องเอาค่าดำเนินการเป็นเงิน 140,000 บาทโดยบอกว่าเงินจำนวนนี้จะต้องเอาไปให้พนักงานอัยการ ให้ผู้พิพากษาด้วย ไม่ใช่ทำงานคนเดียว ผู้กล่าวหาจึงยอมตกลง ในวันนั้นผู้กล่าวหาได้มอบเงินให้ผู้ถูกกล่าวหาไป 40,000 บาท เงินจำนวนนี้ผู้กล่าวหาได้ให้นางสาวสง่าไปขอยืมมาจากนายทรง เข้มอาจ ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านและพยานตอบคำถามค้านว่า นายทรงเป็นผู้นำเงินมาให้ผู้ถูกกล่าวหาที่บ้านพยาน เงินที่ผู้ถูกกล่าวหาเรียกนั้นผู้ถูกกล่าวหาใช้คำพูดว่าผมต้องเอาไปแบ่งให้เบื้องบน มีอัยการผู้พิพากษา ไม่ได้กินคนเดียว ถ้ากินคนเดียวก็รวยและนายทรงเบิกความว่า เมื่อนางสาวสง่าไปพูดขอยืมเงิน พยานยังไม่ให้ทันทีเมื่อมาที่บ้านนายสนั่นแล้วทราบว่าผู้กล่าวหาขอยืม พยานก็มอบเงินให้ผู้กล่าวหากับผู้ถูกกล่าวหาตกลงค่าจ้างกันต่อหน้าพยานจำนวน140,000 บาท ดังนั้น คำเบิกความในสาระสำคัญจึงตรงกัน โดยเฉพาะคำเบิกความของพยานดังกล่าวทุกปากไม่มีทนายความช่วยเหลือซักถามเป็นการเบิกความเล่าเรื่องต่อศาลเอง แต่ยังคงได้ความในสาระสำคัญตรงกันเช่นนี้ย่อมมีน้ำหนักน่าเชื่อถือว่ามีการอ้างว่าจะเอาไปให้พนักงานอัยการและผู้พิพากษาจริง ส่วนอื่นจึงเป็นการแตกต่างในข้อปลีกย่อยพลความ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 จึงไม่ขัดต่อเหตุผลที่ผู้ถูกกล่าวหาฎีกาว่า ในส่วนที่เรียกเงินที่ศาลผู้ถูกกล่าวหามีพยานเอกสาร คือรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นเอกสารหมาย ล.5และคำเบิกความของนายสง่า มั่งมี เอกสารหมาย ล.6 ซึ่งทำขึ้นโดยศาลชั้นต้นย่อมเป็นที่น่าเชื่อถือและรับฟังได้ว่าในเวลา11.30 นาฬิกา ผู้ถูกกล่าวหายังอยู่ในห้องพิจารณาไม่ได้ออกไปไหนนั้นเห็นว่า ที่จำเลยอ้างเอกสารดังกล่าวมาโดยมุ่งหมายจะให้เข้าใจว่าผู้ถูกกล่าวหาว่าความอยู่ในห้องพิจารณาตลอดเวลา ไม่ได้มีการมาทวงถามเงินอีก 100,000 บาท ที่ค้างอยู่ แต่แท้จริงแล้วในระหว่างที่พนักงานอัยการโจทก์ซักถามพยานอย่างยืดยาวดังที่ปรากฏในเอกสารหมาย ล.6 นั้น ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นทนายจำเลยย่อมมีโอกาสออกไปนอกห้องพิจารณาได้และเวลาที่ใช้ทวงเงินตามคำเบิกความของผู้กล่าวหาและนางสาวสง่าที่ว่าขณะที่มาศาลเพื่อไต่สวนคำร้องคัดค้านที่ขอให้ถอนนางสาววิรัตน์ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกขณะที่ศาลยังไม่ได้ออกพิจารณาคดี ผู้กล่าวหาและนางสาวสง่ารออยู่ที่ระเบียงภายในอาคารศาล ผู้ถูกกล่าวหาหายไปไหนไม่ทราบพักหนึ่งก็กลับมาทวงเงินจำนวน 100,000 บาท จากผู้กล่าวหาบอกว่าจะต้องเอาไปให้พนักงานอัยการและผู้พิพากษาแล้ว ผู้กล่าวหาว่ายังไม่มี ผู้ถูกกล่าวหาบอกว่าวันนี้ไม่ได้ไต่สวนหรอก ไม่มีเงินให้เขา ให้กลับเถอะแล้วก็เดินออกไปนั้น เป็นเพียงระยะเวลาสั้น ๆย่อมมีความเป็นไปได้และสมเหตุผลจึงน่าเชื่อถือ ดังนั้น การที่ผู้ถูกกล่าวหาเรียกเงินจากผู้กล่าวหาที่อื่น แล้วได้ทวงถามอีกในบริเวณศาล การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการต่อเนื่องและเป็นส่วนหนึ่งของการเรียกเงินจากผู้กล่าวหา อันเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมายถือได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาได้ประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลอันเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลผู้ถูกกล่าวหาจึงไม่อาจอ้างรายงานกระบวนพิจารณาเอกสารหมาย ล.5 และคำเบิกความของนายสง่า มั่งมี เอกสารหมาย ล.6 มากลบเกลื่อนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นได้ ที่ผู้ถูกกล่าวหาฎีกาต่อไปว่า ส่วนที่ผู้ถูกกล่าวหาและนางสาวสง่าอ้างว่า เมื่อผู้ถูกกล่าวหาทวงเงินที่ระเบียงศาลแล้วผู้กล่าวหาบอกว่าไม่มี ผู้ถูกกล่าวหาจึงบอกว่าวันนี้ไม่มีการไต่สวนเพราะไม่มีเงินให้เขา และก็ให้ผู้กล่าวหากลับไปเถอะผู้กล่าวหาก็กลับไปในวันนั้นจึงไม่มีการไต่สวนอะไรเลย ไม่เป็นความจริง เพราะตามรายงานกระบวนพิจารณาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่470/2535 ของศาลชั้นต้น ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2536 ผู้กล่าวหาอยู่ในห้องพิจารณาตั้งแต่เวลา 14 นาฬิกา จนเสร็จการพิจารณาและพิมพ์ลายนิ้วมือไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาด้วย ที่ผู้กล่าวหาและนางสาวสง่าอ้างว่า กลับไปโดยวันนั้นไม่มีการพิจารณาคดีจึงไม่เป็นความจริงนั้น เห็นว่า เมื่อได้พิเคราะห์รายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นดังกล่าวแล้วปรากฏว่ามีการเลื่อนการไต่สวนคำร้องไปจริง ที่ผู้กล่าวหาและนางสาวสง่าว่าวันนั้นไม่มีการไต่สวนอะไรเลยจึงย่อมถูกต้องตรงตามความเข้าใจของผู้กล่าวหาและนางสาวสง่าแล้วเพราะการที่ศาลอนุญาตให้เลื่อนคดีก็เท่ากับไม่มีการไต่สวนนั่นเอง ที่ผู้ถูกกล่าวหาฎีกาว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(1) คำว่า ประพฤติตนไม่เรียบร้อยภายในบริเวณศาลต้องตีความโดยเคร่งครัดจะขยายกว้างออกไปถึงการกระทำนอกศาลไม่ได้นั้นเห็นว่า แม้การอ้างว่าจะเอาเงินไปให้ผู้พิพากษาจะกระทำนอกบริเวณศาล แต่การอ้างเช่นว่านั้นก็เพื่อเป็นอามิสสินจ้างในการดำเนินคดีในศาลผลที่เกิดขึ้นจึงมุ่งหมายให้มีผลในการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาล ย่อมถือได้ว่าเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล โดยเฉพาะคดีนี้ยังมีการทวงถามเงินดังกล่าวในบริเวณศาลอันเป็นการกระทำต่อเนื่องและเป็นส่วนหนึ่งของการเรียกเงินจากผู้กล่าวหาด้วย จึงเป็นการละเมิดอำนาจศาลโดยแจ้งชัด ที่ผู้ถูกกล่าวหาฎีกานอกจากนี้ไม่มีสาระที่จะต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคำวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share