คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5461/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ศาลจะมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาคดีของโจทก์ที่ 1 ที่ 2เข้ากับคดีที่โจทก์ที่ 3 เป็นโจทก์ฟ้องก็ตาม ก็เป็นเพียงการรวมพิจารณาพิพากษาคดีเข้าด้วยกัน เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการพิจารณาพิพากษาเท่านั้น การที่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ซึ่งมีหน้าที่ต้องมาศาลตามกำหนดนัดไม่มาศาลและไม่แจ้งเหตุขัดข้องให้ศาลทราบศาลจึงชอบที่จะยกฟ้องโจทก์ที่ 1, ที่ 2 เสียได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 166 ประกอบมาตรา 181

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองในสำนวนนี้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341, 343, 83
ศาลไต่สวนมูลฟ้องแล้ว ประทับฟ้องไว้พิจารณา
ชั้นพิจารณาศาลชั้นต้นสั่งรวมพิจารณาคดีนี้เข้ากับคดีหมายเลขแดงที่ 4011/2530 ของศาลชั้นต้น โดยให้เรียกโจทก์ในสำนวนคดีนี้ว่าโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ตามลำดับ และเรียกโจทก์สำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 4011/2530 ว่าโจทก์ที่ 3 เมื่อสืบพยานโจทก์ทั้งสองสำนวนไปบ้างแล้ว ศาลนัดสืบพยานโจทก์ทั้งสองสำนวนต่อไปในวันที่ 23 สิงหาคม2531 ถึงวันนัดโจทก์ที่ 3 มาศาล ส่วนโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ไม่มาโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้ยกฟ้องคดีเฉพาะโจทก์ที่ 1, ที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 166
โจทก์ที่ 1, ที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ที่ 1, ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ฎีกาว่า เมื่อศาลรวมการพิจารณาเข้าเป็นคดีเดียวกัน การฟังพยานหลักฐานตลอดจนการพิพากษาคดีก็ต้องถือเป็นคดีเดียวกัน แม้ถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ร่วมทั้งสามจะมีแต่เพียงโจทก์ที่ 3 มาศาลตามลำพังก็ตาม ก็ต้องถือว่าโจทก์ที่ 1ที่ 2 มาศาลด้วย ดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า โจทก์ที่ 1ที่ 2 ไม่มาตามกำหนดนัดและไม่แจ้งเหตุขัดข้อง และมีคำสั่งให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 ที่ 2 จึงเป็นคำสั่งที่มิชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 33 และมาตรา 166 นั้นเห็นว่าแม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาคดีของโจทก์ที่ 1ที่ 2 เข้ากับคดีที่โจทก์ที่ 3 เป็นโจทก์ฟ้องก็ตาม ก็เป็นเพียงการรวมพิจารณาพิพากษาคดีเข้าด้วยกันเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการพิจารณาพิพากษา หาทำให้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 หลุดพ้นจากหน้าที่ตามบทบัญญัติของมาตรา 166 ดังกล่าวข้างต้นไม่เมื่อโจทก์ที่ 1 ที่ 2ไม่มาตามกำหนดนัดและไม่แจ้งเหตุขัดข้องให้ศาลทราบ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 ที่ 2 เสียนั้นจึงเป็นการชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share