คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 546/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ห้างหุ้นส่วนจำกัดได้รับอนุญาตให้ค้าของเก่าที่หลุดจากโรงรับจำนำ ย่อมขายของที่หลุดจากโรงรับจำนำได้ทุกอย่าง ไม่จำต้องขายของอย่างเดียวเมื่อเครื่องถ่ายเอกสารเป็นของที่หลุดจากโรงรับจำนำและเป็นสินค้าอย่างหนึ่งที่ห้างทำการค้าอยู่เป็นปกติ ห้างจึงเป็นพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้นตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1332 แล้ว
เครื่องถ่ายเอกสารของจำเลยหายไป ผู้จัดการห้างค้าของเก่าประมูลมาได้จากโรงรับจำนำ ลงบัญชีสำหรับผู้ค้าของเก่าไว้ตามระเบียบของกองทะเบียน กรมตำรวจ แล้วนำเครื่องถ่ายเอกสารนั้นไปเสนอขายให้โจทก์ โจทก์ทดลองใช้อยู่ 2 สัปดาห์ จึงตกลงซื้อ เมื่อขายได้แล้วก็ลงบัญชีไว้เป็นหลักฐานว่าขายให้แก่ผู้ใด การเสนอขายมิได้มีพฤติการณ์ส่อไปในทางปกปิดซื้อขายกัน แม้เครื่องถ่ายเอกสารจะมีป้ายติดอยู่ข้อความว่าเป็นของบริษัทจำเลย ก็ยังไม่พอฟังว่าโจทก์รับซื้อไว้โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์ของจำเลย ทรัพย์หลุดจากโรงรับจำนำผู้ซื้ออาจเข้าใจว่าเป็นทรัพย์ที่ซื้อขายกันต่อๆ ไปได้ ถือว่าโจทก์รับซื้อทรัพย์ไว้โดยสุจริต เมื่อมีผู้นำเครื่องถ่ายเอกสารนี้ไปมอบให้จำเลย จำเลยจึงจะยึดไว้ไม่ได้ต้องส่งคืนให้โจทก์
โจทก์ไม่ได้จ้างจำเลยซ่อมเครื่องถ่ายเอกสาร แต่จำเลยยึดเอาไป ซ่อมโดยพลการ จำเลยจึงหามีสิทธิยึดหน่วงเครื่องถ่ายเอกสารเพราะโจทก์ ไม่ชำระค่าซ่อมไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องว่า โจทก์ซื้อเครื่องถ่ายเอกสารใช้แล้วยี่ห้อฟูจิโดยสุจริต จากห้างหุ้นส่วนจำกัดร้านค้าของเก่าผู้ได้รับอนุญาตตามกฎหมายและทำการค้าโดยเปิดเผย ในราคา 21,000 บาท ต่อมาเครื่องถ่ายเอกสารเกิดขัดข้อง นำไปให้แผนกซ่อมของจำเลยซ่อม จำเลยกลับยึดเอาเสีย ขอให้บังคับจำเลยส่งคืนเครื่องถ่ายเอกสารดังกล่าว หากไม่ส่งคืนให้ชดใช้ราคาและดอกเบี้ย

จำเลยให้การว่า เครื่องถ่ายเอกสารยี่ห้อดังกล่าวเป็นของจำเลย จำเลยสั่งจากสำนักงานใหญ่ในประเทศญี่ปุ่นเข้ามาเพื่อให้เช่าเท่านั้น ไม่มีขายในประเทศไทย เครื่องถ่ายเอกสารที่โจทก์ฟ้อง ผู้มีชื่อเช่าและยักยอกเอาเสีย ห้างหุ้นส่วนจำกัดผู้ขายไม่ใช่พ่อค้าผู้ขายของชนิดนั้น ไม่ซื้อขายกันในท้องตลาดและไม่สุจริต เครื่องถ่ายเอกสารมีแผ่นป้ายแสดงกรรมสิทธิ์ของจำเลยติดไว้เห็นได้ง่าย จำเลยเจ้าของทรัพย์ย่อมใช้สิทธิติดตามเอาคืนได้ และจำเลยมีสิทธิยึดหน่วงเพราะโจทก์ยังไม่ได้ชำระค่าซ่อมให้จำเลย

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คดีฟังไม่ได้ว่าโจทก์ซื้อเครื่องถ่ายเอกสารในท้องตลาด ห้างหุ้นส่วนจำกัดผู้ขายไม่ใช่พ่อค้าขายของชนิดนั้น อ้างสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1332 ไม่ได้ พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ฟังว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดผู้ขายเป็นพ่อค้าขายของชนิดนั้นโจทก์ซื้อไว้โดยสุจริต ได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1332 พิพากษาให้จำเลยคืนเครื่องถ่ายเอกสารให้โจทก์ ไม่สามารถคืนได้ให้ใช้ราคา 21,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาฟังว่า เครื่องถ่ายเอกสารเป็นของจำเลย สำนักงานใหญ่ของจำเลยในประเทศญี่ปุ่นส่งมาให้เช่า ไม่ขาย จำเลยให้ห้างสยามยนต์วิศวกรรมเช่าไป เมื่อไปเก็บค่าเช่าพบว่าห้างปิด เครื่องถ่ายเอกสารหายไป จำเลยแจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ มีผู้นำเครื่องถ่ายเอกสารนั้นไปจำนำที่โรงรับจำนำจีนง้วนแล้วไม่ไถ่ โรงรับจำนำขายทอดตลาด นายวิเชียรผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด ต.ย่งเชียงหลีผู้ได้รับอนุญาตให้ค้าของเก่าที่หลุดจากโรงรับจำนำประมูลซื้อไว้ในราคา 12,000 บาท โจทก์ต้องการซื้อเครื่องถ่ายเอกสารอีก 1 เครื่อง นายวิเชียรเสนอขายเครื่องถ่ายเอกสารนั้นให้โจทก์ โจทก์ทดลองใช้ 2 สัปดาห์ จึงรับซื้อไว้ในราคา 20,000 บาท ต่อมา2 เดือนเครื่องเกิดขัดข้อง นายวิเชียรนำนายพีระพลช่างของจำเลยมาซ่อมเป็นการส่วนตัว นายพีระพลรับเครื่องไปซ่อมแล้วกลับนำไปมอบให้จำเลยจำเลยยึดไว้ไม่คืนให้โจทก์

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด ต.ย่งเชียงหลีเป็นร้านค้าของเก่าที่หลุดจากโรงรับจำนำ ย่อมขายของที่หลุดจากโรงรับจำนำได้ทุกอย่าง ไม่จำต้องขายของอย่างเดียว เมื่อเครื่องถ่ายเอกสารพิพาทเป็นของที่หลุดจากโรงรับจำนำและเป็นสินค้าอย่างหนึ่งที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดแห่งนี้ทำการค้าอยู่เป็นปกติห้างหุ้นส่วนจำกัด ต.ย่งเชียงหลีจึงเป็นพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้นตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1332 แล้ว ส่วนปัญหาที่ว่าโจทก์ซื้อเครื่องถ่ายเอกสารพิพาทไว้โดยสุจริตหรือไม่นั้น ก็ได้ความตามที่โจทก์นำสืบว่า เมื่อนายวิเชียรผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด ต.ย่งเชียงหลีประมูลเครื่องถ่ายเอกสารนี้มาแล้ว ก็ลงบัญชีสำหรับผู้ค้าของเก่าไว้ตามระเบียบของกองทะเบียน กรมตำรวจ แล้วจึงนำมาขายให้กับโจทก์ และเมื่อขายให้โจทก์แล้วก็ลงบัญชีไว้เป็นหลักฐานว่าได้ขายทรัพย์สินสิ่งนี้ให้ผู้ใด การที่นายวิเชียรมาเสนอขายเครื่องถ่ายเอกสารที่บริษัทโจทก์นั้น มิได้มีพฤติการณ์อันส่อไปในทางปกปิดซื้อขายกันแต่อย่างใด กลับปรากฏว่าบริษัทโจทก์ได้เอาเครื่องไปตั้งทดลองใช้อยู่ถึง 2 สัปดาห์จึงตกลงซื้อ จริงอยู่เครื่องถ่ายเอกสารพิพาทป้ายติดอยู่มีข้อความว่าเป็นเครื่องของบริษัทจำเลยนี้ก็ตาม ก็ยังไม่พอฟังว่าบริษัทโจทก์รับซื้อไว้ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์ของจำเลย เพราะดังที่ได้กล่าวมาแล้ว เครื่องถ่ายเอกสารพิพาทเป็นทรัพย์ที่หลุดจากโรงรับจำนำ ผู้ซื้ออาจเข้าใจว่าเป็นทรัพย์ที่ซื้อขายกันต่อ ๆ ไปได้ คดีฟังได้ว่าโจทก์รับซื้อทรัพย์สิ่งนี้ไว้โดยสุจริต

ที่จำเลยฎีกาจำเลยมีสิทธิยึดหน่วงเครื่องถ่ายเอกสารพิพาทเพราะโจทก์ยังไม่ชำระค่าซ่อมให้จำเลยนั้น จำเลยก็ยอมรับว่าโจทก์ไม่ได้จ้างจำเลยซ่อม จำเลยยึดเอาเครื่องไปซ่อมโดยพลการ จึงไม่มีสิทธิยึดหน่วงเครื่องถ่ายเอกสารพิพาท เพราะโจทก์ไม่ชำระค่าซ่อมแต่อย่างใด

แต่ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ซื้อเครื่องถ่ายเอกสารไว้ในราคา20,000 บาท

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เป็นว่า ถ้าจำเลยไม่สามารถส่งคืนเครื่องถ่ายเอกสารพิพาทได้ ให้จำเลยใช้ราคา 20,000 บาทแก่โจทก์นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share