แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินและจำเลยที่ 2 รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกัน จำเลยทั้งสองต่างให้การรับว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินกับโจทก์และยกข้อต่อสู้ว่า สัญญากู้ยืมเงินเป็นนิติกรรมอำพรางการซื้อขายกิจการจำเลยที่ 1 เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้จำเลยที่ 1 ถูกจำกัดสิทธิบางประการตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 และเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า สัญญากู้ยืมเงินเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาซื้อขายกิจการจำเลยที่ 1 ดังนี้ คดีย่อมมีประเด็นข้อพิพาทที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า สัญญาซื้อขายกิจการจำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามตามกฎหมายหรือไม่ ดังที่จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ไว้ และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าสัญญาซื้อขายกิจการจำเลยที่ 1 ที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายที่ควบคุมการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวด้วยการให้ผู้มีสัญชาติไทยมีชื่อถือหุ้นแต่เพียงในนาม สัญญาดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 กรณีเป็นเรื่องโจทก์รู้อยู่ว่า การที่โจทก์ซื้อกิจการจำเลยที่ 1 ทั้งหมดและให้ผู้มีสัญชาติไทยถือหุ้นแต่เพียงในนามแทนโจทก์ที่เป็นคนต่างด้าว อันเป็นการจงใจกระทำการฝ่าฝืนและต้องห้ามตามกฎหมายมาแต่ต้น เมื่อได้ความดังนี้ เงินที่โจทก์อ้างว่าให้กู้ยืมแต่แท้ที่จริงเป็นเงินที่โจทก์ชำระหนี้ตามสัญญาซื้อกิจการจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นการชำระหนี้ที่ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายและไม่อาจเรียกคืนได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 411
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 19,500,000 บาท และดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง 1,041,859.80 บาท แก่โจทก์ กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 19,500,000 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การทำนองเดียวกันขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง กับให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนด ค่าทนายความ 50,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 19,500,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 มกราคม 2556 ไปจนกว่าชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความรวม 80,000 บาท
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามที่คู่ความไม่โต้แย้งกันว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 และนางศุภวรรณ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนตามหนังสือรับรอง นายมาซายูกิ เป็นบุตรโจทก์ เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2556 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์ 19,500,000 บาท มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ทำสัญญาค้ำประกันตามสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ได้รับเงินแล้วเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2556
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสองว่า สัญญาซื้อขายกิจการจำเลยที่ 1 เป็นโมฆะเพราะมีวัตถุประสงค์ต้องห้ามตามกฎหมายหรือไม่ ปัญหานี้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังว่า คดีต้องบังคับตามสัญญาซื้อขายกิจการจำเลยที่ 1 ที่ถูกอำพรางไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคสอง พยานหลักฐานในคดีไม่เพียงพอวินิจฉัยประเด็นว่าสัญญาซื้อขายกิจการจำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามตามกฎหมายหรือไม่ และศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาซื้อขาย โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดคืนเงินค่าซื้อขายกิจการแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย จำเลยทั้งสองฎีกาโต้แย้งว่า คดีมีพยานหลักฐานเพียงพอให้วินิจฉัยว่าสัญญาซื้อขายกิจการจำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามตามกฎหมายแล้วนั้น พิเคราะห์แล้ว จำเลยทั้งสองต่างให้การรับว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินกับโจทก์และยกข้อต่อสู้ว่าสัญญากู้ยืมเงินเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาซื้อขายกิจการของจำเลยที่ 1 เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้จำเลยที่ 1 ถูกจำกัดสิทธิบางประการตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังว่าสัญญากู้ยืมเงินเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาซื้อขายกิจการของจำเลยที่ 1 คดีย่อมมีประเด็นข้อพิพาทที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า สัญญาซื้อขายกิจการจำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามตามกฎหมายหรือไม่ดังที่จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ไว้ และเมื่อจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายกล่าวอ้างยกข้อต่อสู้ในปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงที่นำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย จำเลยทั้งสองจึงมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงดังกล่าว หากนำสืบพิสูจน์ไม่ได้หรือนำสืบพยานหลักฐานไม่เพียงพอให้วินิจฉัยก็ต้องเป็นฝ่ายแพ้คดี ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่วินิจฉัยปัญหานี้โดยตำหนิว่าคดียังไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะวินิจฉัยจึงไม่ชอบ ฎีกาจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังขึ้น
เมื่อวินิจฉัยดังกล่าวแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาตามที่จำเลยทั้งสองฎีกาข้อนี้ไปเสียทีเดียว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำเบิกความของนายโยชิกิ พยานจำเลยที่ 1 ดังวินิจฉัยแล้วว่า ความตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เป็นเรื่องการซื้อขายกิจการของจำเลยที่ 1 โดยโจทก์ได้รับทราบความเรื่องการซื้อหุ้นบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทยที่คนญี่ปุ่นไม่สามารถซื้อหุ้นได้ 100 เปอร์เซ็นต์ จึงต้องทำสัญญาในรูปการกู้ยืมเงิน แม้ได้ความตามคำเบิกความของนายรุ่งวิกรัย พยานจำเลยทั้งสองซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้จัดการฝ่ายบุคคลของจำเลยที่ 1 ว่า เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2556 โจทก์ส่งมอบรายชื่อผู้จะเข้าเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ไปให้จำเลยที่ 2 ทราบ จำเลยที่ 2 จึงแจ้งให้พยานดำเนินการเพื่อแก้ไขบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นและเตรียมการเพื่อเปลี่ยนแปลงอำนาจกรรมการของจำเลยที่ 1 ตามที่โจทก์แจ้ง โดยโจทก์ถือหุ้น 10,600 หุ้น นายมาซายูกิ ถือหุ้น 9,000 หุ้น นอกจากโจทก์กับบุตรโจทก์แล้ว ยังมีผู้มีสัญชาติไทยถือหุ้นอีก 6 ราย ถือหุ้นรวมกัน 20,400 หุ้น รวมหุ้นทั้งหมด 40,000 หุ้น ซึ่งคำนวณได้เท่ากับโจทก์กับบุตรถือหุ้นรวมกันเป็นร้อยละ 49 ส่วนผู้มีสัญชาติไทยอีก 6 ราย ถือหุ้นรวมกันเป็นร้อยละ 51 ของหุ้นทั้งหมดของจำเลยที่ 1 แต่ปรากฏตามจดหมายอิเล็กทรอนิกส์พร้อมคำแปล ที่โจทก์เบิกความตอบคำถามติงรับว่าเป็นจดหมายติดต่อกับจำเลยที่ 2 ฉบับลงวันที่ 17 ธันวาคม 2555 ที่นายมาซายูกิ บุตรโจทก์มีถึงจำเลยที่ 2 ระบุว่า “…ในเรื่องของตัวบทกฎหมายของประเทศไทยนั้น เท่าที่ได้ยินมาว่ามีการหลบหลีกให้สามารถบรรลุเป้าหมายได้ ในเรื่องของการซื้อขายหุ้นนั้น ถ้าเป็นไปได้ อยากจะให้ท่านประธานคุมาซาว่าทำการซื้อหุ้นทั้งหมดมาไว้กับตัว หลังจากนั้นจึงทำการซื้อขายหุ้นทั้งหมดจากท่านประธานคุมาซาว่าได้หรือไม่…” ข้อความตามจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ฉบับนี้ประกอบกับข้อเท็จจริงที่ได้ความว่า กรณีเป็นการซื้อขายกิจการของจำเลยที่ 1 ทั้งหมดโดยโจทก์ดังวินิจฉัยแล้ว ตามพฤติการณ์เห็นได้ว่า โจทก์เป็นผู้ซื้อกิจการของจำเลยที่ 1 และเป็นผู้รับโอนหุ้นทั้งหมดตามความเป็นจริง ส่วนผู้มีสัญชาติไทยอีก 6 ราย เป็นเพียงผู้มีชื่อถือสิทธิในหุ้นแทนโจทก์เท่านั้น มีลักษณะเป็นการให้ผู้มีสัญชาติไทยถือสิทธิในหุ้นแต่เพียงในนาม เมื่อโจทก์กับบุตรเป็นเจ้าของกิจการและเป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ที่แท้จริงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของหุ้นจำเลยที่ 1 มีผลให้จำเลยที่ 1 อยู่ในฐานะเป็นคนต่างด้าวตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 มาตรา 4 (3) (ก) (4) และถูกจำกัดสิทธิในการประกอบธุรกิจบางประเภทดังบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติดังกล่าวและตามที่กำหนดไว้ในบัญชีหนึ่ง บัญชีสองและบัญชีสามท้ายพระราชบัญญัติ หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุก ดังนี้ สัญญาซื้อขายกิจการจำเลยที่ 1 ที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายที่ควบคุมการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวด้วยการให้ผู้มีสัญชาติไทยมีชื่อถือหุ้นแทนแต่เพียงในนาม สัญญาดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 กรณีเป็นเรื่องโจทก์รู้อยู่ว่าการที่โจทก์ซื้อกิจการจำเลยที่ 1 ทั้งหมดและให้มีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยถือหุ้นแต่เพียงในนามแทนโจทก์ที่เป็นคนต่างด้าวอันเป็นการจงใจกระทำการฝ่าฝืนและต้องห้ามตามกฎหมายมาแต่ต้น หาใช่เป็นกรณีนิติบุคคลต่างด้าวอาจขออนุญาตประกอบกิจการที่กฎหมายห้ามได้ดังที่โจทก์แก้ฎีกาไม่ เพราะกรณีเช่นนั้นต้องเป็นนิติบุคคลต่างด้าวที่สุจริตเท่านั้น ได้ความดังนี้ เงินที่โจทก์อ้างว่าให้กู้ยืมแต่แท้ที่จริงเป็นเงินที่โจทก์ชำระหนี้ตามสัญญาซื้อกิจการจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นการชำระหนี้ที่ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย และไม่อาจเรียกคืนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 411 เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว ปัญหาตามฎีกาจำเลยทั้งสองว่าโจทก์หรือจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญาซื้อขายจึงไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ