คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 545/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยทำสัญญาโอนสิทธิการเช่าที่ดินจากวัดให้โจทก์ และโจทก์ได้ชำระเงินค่าโอนสิทธิการเช่าให้จำเลยบางส่วนแล้ว ข้อสัญญามีว่าหากจำเลยโอนสิทธิการเช่าดังกล่าวให้โจทก์ไม่ได้จำเลยต้องใช้ค่าปรับเมื่อปรากฏว่าจำเลยโอนสิทธิการเช่าที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ไม่ได้เนื่องจากทางวัดไม่ยินยอมให้โอน ดังนี้ ถือได้ว่า การชำระหนี้ระหว่างโจทก์และจำเลยตกเป็นพ้นวิสัย เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมิได้ โจทก์และจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ตอบแทนกัน ย่อมไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ซึ่งกันและกันเมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว จำเลยต้องคืนเงินที่ได้รับไว้แก่โจทก์และโจทก์ก็ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าปรับจากจำเลย เงินที่ต้องคืนเนื่องจากการเลิกสัญญามิใช่ลาภมิควรได้ จะนำอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419 มาใช้บังคับมิได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้โอนสิทธิการเช่าที่ดินที่จำเลยที่ 1 เช่าจากวัดให้โจทก์ โจทก์ได้ชำระค่าตอบแทนให้จำเลยที่ 1บางส่วนแล้ว มีข้อสัญญาว่าหากจำเลยที่ 1 โอนสิทธิการเช่าดังกล่าวให้โจทก์ไม่ได้ต้องเสียค่าปรับเท่าจำนวนเงินที่ได้รับไป จำเลยที่ 2ค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาของจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถโอนสิทธิการเช่าที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ได้เนื่องจากวัดไม่ยินยอมโจทก์จึงบอกเลิกสัญญา ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินที่ได้รับไปพร้อมดอกเบี้ยและชำระค่าปรับพร้อมดอกเบี้ย จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 มิได้ผิดสัญญา โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและปล่อยให้เวลาล่วงเลยมาหลายปีจนวัดเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการเช่าทำให้จำเลยขาดประโยชน์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินมัดจำและค่าปรับขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์ชำระเงินค่าขาดประโยชน์พร้อมดอกเบี้ยโจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญา ความเสียหายของจำเลยที่ 1 ไม่เกี่ยวกับโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินที่จำเลยที่ 1 ได้รับไว้จากโจทก์พร้อมดอกเบี้ย โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์และจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์หรือจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญา พิเคราะห์หนังสือสัญญาโอนสิทธิการเช่าที่ดิน ตามเอกสารหมาย จ.2 ที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำขึ้นได้ระบุไว้ว่า ฯลฯ ข้อ 1 ผู้โอน (จำเลยที่ 1)เป็นผู้เช่าที่ดินของวัดท่าถนน ปลูกสร้างห้องแถว 1 ห้อง เลขที่ 16ตั้งอยู่ที่ถนนสำราญรื่น ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ เฉพาะด้านหน้าติดถนนสำราญรื่น กว้าง 4 เมตร ลึกประมาณ20 เมตร รวมเนื้อที่ประมาณ 20 ตารางวา ได้ตกลงโอนสิทธิการเช่าที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้รับโอน (โจทก์) โดยผู้รับโอนยินยอมเสียค่าตอบแทนให้แก่ผู้โอนเป็นเงินทั้งสิ้น 540,000 บาท (ห้าแสนสี่หมื่นบาทถ้วน)ข้อ 2 ในวันทำสัญญานี้ ผู้รับโอนจะได้ชำระเงินค่าตอบแทนให้แก่ผู้โอนแล้วส่วนหนึ่งเป็นเงิน 140,000 บาท (หนึ่งแสนสี่หมื่นบาทถ้วน)ซึ่งผู้โอนได้รับไว้ครบถ้วนถูกต้องแล้ว ส่วนที่เหลืออีก 400,000 บาท(สี่แสนบาทถ้วน) ผู้รับโอนจะชำระให้เมื่อผู้โอนได้จัดการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกหมดแล้ว พร้อมทั้งจัดการโอนสิทธิการเช่าที่ดินให้กับผู้รับโอนเสร็จเรียบร้อยด้วย ข้อ 3 ผู้โอนสัญญาว่าจะจัดการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวและส่งมอบที่ดินให้กับผู้รับโอนได้ภายในกำหนด 120 วัน นับแต่วันทำสัญญานี้ หากครบกำหนดแล้วผู้โอนยังไม่จัดการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและส่งมอบที่ดินให้กับผู้รับโอนได้ผู้โอนจะต้องเสียค่าปรับให้แก่ผู้รับโอนเท่ากับจำนวนเงินที่ผู้โอนได้รับเป็นค่าตอบแทนไป ส่วนหนึ่งในวันทำสัญญานี้ ในทำนองเดียวกันถ้าผู้รับโอนไม่ยอมรับโอน ผู้รับโอนยินยอมให้ผู้โอนริบเงินที่ได้ชำระไว้แล้วทั้งหมดเช่นกัน แต่ตามฟ้องโจทก์ โจทก์ได้บรรยายว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะจัดการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและส่งมอบที่ดินให้แก่โจทก์ภายในกำหนด 120 วัน นับแต่วันทำสัญญา หากครบกำหนดแล้วจำเลยที่ 1 ยังไม่จัดการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและส่งมอบที่ดินให้แก่โจทก์ได้ จำเลยที่ 1 ต้องเสียเงินค่าปรับให้แก่โจทก์เท่ากับจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ได้รับเป็นค่าตอบแทนไปส่วนหนึ่งในวันทำสัญญา เมื่อครบกำหนด 120 วัน จำเลยที่ 1 ไม่สามารถโอนสิทธิการเช่าที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ได้ เนื่องจากวัดท่าถนนไม่ยินยอมด้วย จากคำบรรยายฟ้องของโจทก์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า เหตุที่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถโอนสิทธิการเช่าที่ดินให้แก่โจทก์ได้ตามสัญญาเป็นเพราะวัดท่าถนน ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินไม่ยินยอมให้โอนสิทธิการเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ต่างหาก ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 หลีกเลี่ยงไม่ยอมปฏิบัติตามสัญญาที่ทำไว้กับโจทก์แต่อย่างใด และตามคำเบิกความของนายเสถียร สิทธาธิการเวชช์พยานโจทก์ก็ได้ความว่า ทางโจทก์ได้ทราบเรื่องขัดข้องการโอนก่อนระยะเวลา 120 วัน ดังกล่าวด้วย ดังนั้นโจทก์จะอาศัยสิทธิตามสัญญาข้อ 2 มาเป็นข้ออ้างให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าปรับจำนวน 140,000 บาท ให้แก่โจทก์หาได้ไม่ ส่วนจำเลยที่ 1 ก็จะอ้างว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าการชำระหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกเป็นพ้นวิสัยเนื่องจากเหตุอย่างอื่นอันจะโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมิได้ ทั้งโจทก์และจำเลยที่ 1 ก็ทราบเหตุดังกล่าวดีอยู่แล้ว ดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 ดังนั้น โจทก์และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ตอบแทนกัน ย่อมไม่มีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ซึ่งกันและกัน อีกทั้งโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาโอนสิทธิการเช่าที่ดินระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงิน 140,000 บาทที่โจทก์ชำระไปแล้วให้แก่โจทก์ และโจทก์ก็ไม่มีสิทธิเรียกเงินค่าปรับจำนวน 140,000 บาท ตามสัญญาข้อ 3 จากจำเลยที่ 1 ด้วย
ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า การเรียกร้องเงินคืนของโจทก์เป็นเรื่องลาภมิควรได้ ซึ่งโจทก์จะต้องเรียกเสียภายในกำหนดอายุความนั้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามฟ้องโจทก์เป็นกรณีที่โจทก์เรียกเงินคืนจากการเลิกสัญญา ไม่ใช่ฐานลาภมิควรได้ จะนำอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419 มาใช้บังคับไม่ได้
พิพากษายืน

Share