คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5449/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้คำร้องที่ผู้ร้องขอให้ยกเลิกการล้มละลายของจำเลยอ้างว่าจำเลยมีทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านที่1ได้อายัดไว้มากกว่าหนี้ของเจ้าหนี้ที่เหลือหลายเท่าตัวผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ที่จะต้องถูกเพิกถอนการขายฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งทำให้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโอนกลับคืนเข้าไปเป็นกองทรัพย์สินของจำเลยผู้ร้องจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอให้ยกเลิกการล้มละลายของจำเลยได้ก็ตามแต่เมื่อปรากฏว่าระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นผู้ร้องได้ขอวางเงินในจำนวนที่เพียงพอแก่การชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้รวมทั้งค่าธรรมเนียมในการรวบรวมทรัพย์สินและศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งอนุญาตแล้วการที่ผู้ร้องซึ่งต้องเสียสิทธิในที่ดินที่ได้รับซื้อฝากเพราะศาลฎีกาได้พิพากษาให้เพิกถอนตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483มาตรา116ให้กลับคืนสู่ฐานะเดิมก็เพื่อให้ที่ดินเข้ากองทรัพย์สินของจำเลยเพื่อจัดการแบ่งในระหว่าง>เจ้าหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483มาตรา124หากเจ้าหนี้ทั้งหลายได้รับชำระหนี้โดยครบถ้วนแล้วผู้คัดค้านที่1ก็ไม่มีความจำเป็นต้องรวบรวมทรัพย์สินของจำเลยต่อไปตลอดจนไม่ต้องเก็บรวบรวมที่ดินของผู้ร้องที่ถูกเพิกถอนนั้นถือได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียด้วยในการชำระหนี้จึงชอบที่จะเข้าชำระหนี้นั้นได้แม้จะเป็นการเข้าชำระหนี้โดยขืนใจจำเลยก็ตามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา314วรรคสองเมื่อผู้ร้องเป็นผู้เข้าชำระหนี้ของจำเลยแก่เจ้าหนี้ทั้งหลายรวมทั้งค่าธรรมเนียมในการรวบรวมทรัพย์สินย่อมถือได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในอันที่จะขอให้ศาลยกเลิกการล้มละลายของจำเลยเพราะเหตุที่หนี้สินของบุคคลล้มละลายได้ชำระเต็มจำนวนแล้วตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483มาตรา135(3)ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2522 และพิพากษาให้ล้มละลายเมื่อวันที่12 กันยายน 2523 ในชั้นจัดการทรัพย์สินของจำเลยศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2531 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้เพิกถอนการให้โดยเสน่หาที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 17016 แขวงสามเสนไใน เขตดุสิต กรุงเทพมหานครพร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 49/819 ระหว่างจำเลยกับนายเพิ่มยศ เก่งมานะและเพิกถอนสัญญาขายฝากระหว่างนายเพิ่มยศกับผู้ร้อง
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า คดีนี้มีเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้6 ราย สำหรับเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ขอถอนคำรับชำระหนี้ไปแล้วคงเหลือเจ้าหนี้อีก 5 รายรวมเป็นเงิน 2,636,166 บาท ผู้คัดค้านที่ 1อายัดทรัพย์สินของจำเลยไว้มากกว่าจำนวนเงินที่เจ้าหนี้ทั้ง 5 รายขอรับชำระหนี้หลายเท่า หากขายทอดตลาดก็จะเพียงพอชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ครบถ้วนและผู้คัดค้านที่ 1 ชอบที่จะขอให้ยกเลิกการล้มละลายของจำเลยได้ซึ่งจะมีผลทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องเพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทให้กลับไปเป็นของจำเลย ผู้ร้องจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะต้องถูกเพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดพิพาท ขอให้มีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายของจำเลยและให้ที่ดินพิพาทตกได้แก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ต่อไป
ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำคัดค้านว่า ศาลฎีกาได้พิพากษาให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 17016 มาเป็นเวลากว่า 4 ปีแล้วผู้ร้องไม่ยอมปฏิบัติตามคำพิพากษาและยื่นคำร้องมาเพื่อประวิงคดีหากจำเลยมีทรัพย์สินมากตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง ก็ไม่น่าจะถูกฟ้องให้ล้มละลาย ขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำคัดค้านว่า เมื่อที่ดินพิพาทตกเป็นของจำเลยแล้ว ไม่มีเหตุใด ๆ ที่ผู้ร้องจะประวิงการส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทแก่ผู้คัดค้านที่ 1 เพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ต่อไปขอให้ยกคำร้อง
ระหว่างพิจารณา ผู้ร้องขอวางเงินในจำนวนที่เพียงพอแก่การชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ทั้งปวงรวมทั้งค่าธรรมเนียมในการรวบรวมทรัพย์สินจำนวน 2,134,142.64 บาท ต่อศาลเพื่อไม่ต้องนำที่ดินของผู้ร้องออกขายทอดตลาดชำระหนี้ให้แก่บรรดาเจ้าหนี้
จำเลยยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะต้องชำระหนี้แทนจำเลย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องวางเงินจำนวน 2,134,142.64 บาทต่อศาลชั้นต้นและวินิจฉัยว่า ผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียและจำเลยไม่สมควรถูกพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย ทั้งหนี้สินของจำเลยผู้ร้องได้วางเงินชำระหนี้เต็มจำนวนแล้วมีคำสั่งให้ยกเลิกการล้มละลายของจำเลยตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483มาตรา 135(2)(3)
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า ผู้ร้องจะต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่เพิกถอนการขายฝากระหว่างนายเพิ่มยศกับผู้ร้องจะมายื่นคำร้องขอให้ผู้คัดค้านที่ 1 นำทรัพย์สินอื่น ๆ ของจำเลยชำระหนี้ก่อนไม่ได้ พิพากษากลับให้ยกคำร้อง
ผู้ร้อง ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ผู้ร้องฎีกาสรุปความว่า การที่ผู้ร้องวางเงินส่วนตัวของผู้ร้องเพื่อชำระหนี้แก่บรรดาเจ้าหนี้ของจำเลยรวมทั้งค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายชั้นบังคับคดีทั้งหมด เป็นการคุ้มครองสิทธิของเจ้าหนี้ทั้งปวงและทำให้จำเลยหมดภาระหนี้สินไปด้วย สมควรที่ศาลจะสั่งยกเลิกการล้มละลาย ผู้ร้องในฐานะที่จะต้องถูกเพิกถอนการรับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 17016 พร้อมสิ่งปลูกสร้างตามคำพิพากษาศาลฎีกา เป็นผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิขอให้ยกเลิกการล้มละลายของจำเลยได้ พิเคราะห์แล้วพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 135 บัญญัติว่า”เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอศาลมีอำนาจสั่งยกเลิกการล้มละลายได้ ถ้าปรากฏเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้” คดีนี้แม้ตามคำร้องที่ผู้ร้องขอให้ยกเลิกการล้มละลายของจำเลยอ้างว่าจำเลยมีทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านที่ 1ได้อายัดไว้มากกว่าหนี้ของเจ้าหนี้ที่เหลือหลายเท่าตัว ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ที่จะต้องถูกเพิกถอนการขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 17016พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งทำให้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโอนกลับคืนเข้าไปเป็นกองทรัพย์สินของจำเลย ผู้ร้องจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอให้ยกเลิกการล้มละลายของจำเลยได้ก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ผู้ร้องได้ขอวางเงินในจำนวนที่เพียงพอแก่การชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้รวมทั้งค่าธรรมเนียมในการรวบรวมทรัพย์สิน และศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งอนุญาตแล้วการที่ผู้ร้องซึ่งต้องเสียสิทธิในที่ดินที่ได้รับซื้อฝากเพราะศาลฎีกาได้พิพากษาให้เพิกถอนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 116 ให้กลับคืนสู่ฐานะเดิม ก็เพื่อให้ที่ดินดังกล่าวเข้ากองทรัพย์สินของจำเลยเพื่อจัดการแบ่งในระหว่างเจ้าหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 124 หากเจ้าหนี้ทั้งหลายได้รับชำระหนี้โดยครบถ้วนแล้ว ผู้คัดค้านที่ 1 ก็ไม่มีความจำเป็นต้องรวบรวมทรัพย์สินของจำเลยต่อไป ตลอดจนไม่ต้องเก็บรวบรวมที่ดินของผู้ร้องที่ถูกเพิกถอนนั้นกรณีถือได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียด้วยในการชำระหนี้จึงชอบที่จะเข้าชำระหนี้นั้นได้ แม้จะเป็นการเข้าชำระหนี้โดยขืนใจจำเลยก็ตามทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 314 วรรคสองเมื่อผู้ร้องเป็นผู้เข้าชำระหนี้ของจำเลยแก่เจ้าหนี้ทั้งหลายรวมทั้งค่าธรรมเนียมในการรวบรวมทรัพย์สิน ย่อมถือได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในอันที่จะขอให้ศาลยกเลิกการล้มละลายของจำเลย เพราะเหตุที่หนี้สินของบุคคลล้มละลายได้ชำระเต็มจำนวนแล้ว ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 135(3) ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาผู้ร้องฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกเลิกการล้มละลายของจำเลย ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 135(3)

Share