คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5449/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้ร้องยื่นคำขอเฉลี่ยทรัพย์ครั้งแรกในคดีที่ผู้ร้องเป็นโจทก์แทนที่จะยื่นในคดีที่มีการออกหมายบังคับคดีอันเป็นการยื่นผิดสำนวน แต่ศาลในคดีที่ออกหมายบังคับคดีกับศาลในคดีที่ผู้ร้องเป็นโจทก์เป็นศาลเดียวกัน คือศาลแพ่ง ทั้งตามคำร้อง ของ ผู้ร้องดังกล่าวก็ได้ระบุไว้ชัดแจ้งว่าขอเฉลี่ยจากทรัพย์ของจำเลยที่ 2ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้อายัดไว้ในคดีนี้ จึงถือได้ว่าผู้ร้องได้ยื่นคำขอเฉลี่ยทรัพย์ครั้งแรกโดยทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลที่ออกหมายบังคับให้อายัดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 วรรคแรก ประกอบมาตรา 1(1) แล้ว ผู้ร้องยื่นคำขอเฉลี่ยทรัพย์ไว้ในคดีที่ผู้ร้องเป็นโจทก์แม้ต่อมาศาลในคดีดังกล่าวได้มีคำสั่งยกคำขอเฉลี่ยทรัพย์ แต่ก็เพื่อที่จะให้ผู้ร้องมายื่นคำขอเฉลี่ยทรัพย์ในคดีนี้เสียให้ถูกต้อง ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการไต่สวนคำร้อง ของ ผู้ร้องเท่านั้นหาทำให้สิทธิของผู้ร้องซึ่งได้ยื่นคำขอเฉลี่ยทรัพย์ต่อศาลโดยชอบแล้วข้างต้นต้องเสียไปไม่ เมื่อคำขอเฉลี่ยทรัพย์ของผู้ร้องที่ได้ยื่นไว้ครั้งแรกยังไม่พ้นระยะเวลาตามกฎหมาย แม้ผู้ร้องจะยื่นคำขอเฉลี่ยทรัพย์ในคดีนี้พ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ก็ตาม ก็ต้องถือว่าผู้ร้องได้ยื่นคำขอเฉลี่ยทรัพย์ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดแล้ว

ย่อยาว

เนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินพร้อมดอกเบี้ย จำเลยไม่ชำระ โจทก์จึงขอให้บังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีได้อายัดเงินที่จำเลยที่ 2 มีสิทธิจะได้รับจากการรถไฟแห่งประเทศไทย
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าเป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 2 ตามคำพิพากษาจำเลยไม่มีทรัพย์อื่นอีก ขอให้ผู้ร้องมีสิทธิเฉลี่ยหนี้ โจทก์ค้านว่า ผู้ร้องมิได้ยื่นคำขอเฉลี่ยหนี้ในเวลาที่กฎหมายกำหนดและสามารถเอาชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 2 ได้ศาลชั้นต้น มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยหนี้ได้ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงซึ่งโจทก์และผู้ร้องมิได้โต้แย้งกันฟังเป็นยุติได้ว่า เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้อายัดเงินชดเชย เงินสะสมและเงินบำเหน็จบำนาญของจำเลยที่ 2 ซึ่งจะได้รับจากการรถไฟแห่งประเทศไทยตามคำขอของโจทก์ในคดีนี้แล้ว ต่อมาวันที่ 21 พฤศจิกายน 2527 การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ส่งเงินสะสมของจำเลยที่ 2 มายังกรมบังคับคดีจำนวน 82,000 บาทเศษ ส่วนผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 2 ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 7866/2526ของศาลชั้นต้น ซึ่งได้พิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินแก่ผู้ร้องเดือนละ 5,000 บาท จนกว่าจะครบจำนวน 516,000 บาท แต่จำเลยที่ 2 ผิดนัดไม่ชำระตามกำหนด ผู้ร้องจึงได้ยื่นคำร้องลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2526 (ที่ถูกน่าจะเป็นวันที่ 16 พฤศจิกายน 2527) โดยยื่นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่7866/2526 ว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีได้อายัดเงินสะสม เงินชดเชยเงินบำนาญ ของจำเลยที่ 2 ซึ่งจะได้รับจากการรถไฟแห่งประเทศไทยตามคำขอของโจทก์ในคดีนี้แล้ว จึงขอให้ผู้ร้องมีสิทธิเข้าเฉลี่ยทรัพย์รายนี้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นัดไต่สวนคำร้อง ของ ผู้ร้องครั้นถึงวันนัดคือวันที่ 18 ธันวาคม 2527 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ผิดสำนวน ชอบที่จะยื่นคำร้องขอเฉลี่ยหนี้ใหม่ให้ถูกต้อง จึงยกคำร้อง ผู้ร้องจึงได้มายื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ในคดีนี้ในวันเดียวกันนั้นเอง คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในประการแรกว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์พ้นกำหนดระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่เห็นว่า เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินอย่างใดของลูกหนี้ตามคำพิพากษาแล้วประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 วรรคแรก ได้บัญญัติให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่นที่ประสงค์จะเข้าเฉลี่ยในทรัพย์สินดังกล่าว ให้ยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลที่ออกหมายบังคับให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้น ดังนั้น แม้ผู้ร้องจะยื่นคำขอเฉลี่ยทรัพย์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2527 ไว้ในคดีหมายเลขแดงที่ 7866/2526 ของศาลชั้นต้นแทนที่จะยื่นในคดีนี้อันเป็นการยื่นผิดสำนวนไปก็ตาม แต่ศาลชั้นต้นในคดีนี้ซึ่งเป็นผู้ออกหมายบังคับคดีกับศาลชั้นต้นในคดีหมายเลขแดงที่ 7866/2526 เป็นศาลเดียวกันคือศาลแพ่ง ทั้งตามคำร้องของผู้ร้องดังกล่าวก็ได้ระบุไว้ชัดแจ้งว่าขอเฉลี่ยจากทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้อายัดไว้ในคดีนี้ จึงถือได้ว่าผู้ร้องได้ยื่นคำขอเฉลี่ยทรัพย์ครั้งแรก โดยทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลที่ออกหมายบังคับให้อายัดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้นแล้ว ที่โจทก์ฎีกาว่า ศาลที่ออกหมายบังคับคดีย่อมหมายถึงผู้พิพากษาที่ได้พิจารณาพิพากษาคดีในศาลชั้นต้น ซึ่งเป็นผู้ออกหมายบังคับคดีเมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ครั้งแรกไว้ในคดีอื่นจึงถือไม่ได้ว่าเป็นคำร้องที่ยื่นต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีนั้นเห็นว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(1) ได้บัญญัติว่าศาลหมายความว่า ศาลยุติธรรมหรือผู้พิพากษาที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ดังนั้น คำว่าศาลที่ออกหมายบังคับให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 290 วรรคแรก สำหรับคดีนี้นอกจากจะหมายถึงผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาพิพากษาคดีนี้แล้วยังหมายถึงศาลแพ่งด้วย ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ไว้ในคดีหมายเลขแดงที่ 7866/2526 ของศาลชั้นต้นต่อมาศาลในคดีดังกล่าวได้ยกคำร้องของผู้ร้องเสีย ย่อมถือได้ว่าคำร้องนั้น ได้ถูกเพิกถอนไปแล้วการที่ผู้ร้องมายื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ในคดีนี้อีก จึงพ้นกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้นั้น เห็นว่า เหตุที่ศาลชั้นต้นในคดีหมายเลขแดงที่ 7866/2526 มีคำสั่งยกคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ของผู้ร้องในคดีดังกล่าวก็เพื่อที่จะให้ผู้ร้องไปยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ในคดีนี้เสียให้ถูกต้อง ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการไต่สวนคำร้องดังกล่าวของผู้ร้องเท่านั้น หาทำให้สิทธิของผู้ร้องซึ่งได้ยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ต่อศาลชั้นต้นโดยชอบดังได้กล่าวแล้วข้างต้นต้องเสียไปไม่ เมื่อคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ของผู้ร้องที่ได้ยื่นไว้ครั้งแรกยังไม่พ้นระยะเวลา 14 วัน นับแต่วันที่การรถไฟแห่งประเทศไทยส่งเงินของจำเลยที่ 2 มายังเจ้าพนักงานบังคับคดีเช่นนี้ จึงต้องถือว่าผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดแล้ว คงเหลือข้อที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายว่า ผู้ร้องสามารถเอาชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 2 ได้หรือไม่ ผู้ร้องนำสืบว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีทรัพย์สินอื่น นอกจากเงินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้อายัดไว้ในคดีนี้แล้ว โจทก์นำสืบว่า โจทก์ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ได้ทรัพย์สินราคาประมาณ 700บาทเศษไม่พอชำระหนี้ จึงได้ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินสะสมเงินบำเหน็จบำนาญและเงินชดเชยที่จำเลยที่ 2 จะได้รับจากการรถไฟแห่งประเทศไทย ผู้ร้องเคยขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินดังกล่าวของจำเลยที่ 2 เช่นกัน แต่การรถไฟแห่งประเทศไทยไม่ได้ส่งเงินมาในคดีของผู้ร้องเนื่องจากได้ส่งมาในคดีนี้แล้ว
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พยานหลักฐานที่ผู้ร้องและโจทก์นำสืบมาข้อเท็จจริงไม่ได้ความว่า จำเลยที่ 2 มีทรัพย์สินอื่นอีก นอกจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีได้อายัดไว้ในคดีนี้ ที่ศาลล่างทั้งสองอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยหนี้รายนี้ได้ตามคำร้องของผู้ร้องจึงชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share