แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ผู้เสียหายหลบหนีออกจากบ้านมาอยู่กับจำเลยโดยไม่ได้รับอนุญาตจากบิดา แต่ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายมีอายุเพียง 13 ปีเศษ อยู่ในอำนาจปกครองของบิดา จำเลยได้พาผู้เสียหายไปตามห้องอาหารต่าง ๆ โดยบิดาผู้เสียหายมิได้ยินยอมด้วยเป็นการล่วงอำนาจปกครองของบิดาผู้เสียหาย แม้ผู้เสียหายจะสมัครใจยินยอมไปกับจำเลยก็ถือไม่ได้ว่าได้รับความยินยอมเห็นชอบจากบิดาการกระทำของจำเลยจึงเป็นการพรากผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดาแล้ว ทั้งการเดินโชว์ชุดว่ายน้ำของเด็กหรือการต้องยอมให้แขกผู้ชายที่มาเที่ยวจับหน้าอกในห้องอาหารต่าง ๆ ถือได้ว่าเป็นการพรากเด็กไปโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจาร
คำฟ้องโจทก์มีคำขอให้ริบกาวสังเคราะห์ของกลาง แต่ศาลล่างทั้งสองยังมิได้มีคำวินิจฉัยในเรื่องของกลาง จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186(9) แม้โจทก์จะไม่อุทธรณ์ฎีกา แต่ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบ มาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 33, 317 พระราชกำหนดป้องกันการใช้สารระเหย พ.ศ. 2533 มาตรา 3, 4, 18, 24, 31 และสั่งริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชกำหนดป้องกันการใช้สารระเหย พ.ศ. 2533 มาตรา 18, 24 จำคุกคนละ 30 วัน จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 317 วรรคสาม อีกกระทงหนึ่งจำคุก 5 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 5 ปี 30 วัน คำเบิกความของจำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 ปี 4 เดือน 20 วัน ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ฐานพรากเด็ก
โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ข้อหาพรากผู้เยาว์ด้วยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกระทำความผิดฐานพรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจารหรือไม่ โจทก์มีเด็กหญิงสราญรัตน์ ผู้เสียหายมาเป็นพยานเบิกความว่า ในวันเกิดเหตุเด็กหญิงพจนีย์ และเด็กหญิงมาลี ซึ่งเป็นเพื่อนของผู้เสียหายได้ไปชวนผู้เสียหายออกจากบ้านและหลอกผู้เสียหายว่าจะพาไปสมัครงานที่ร้านอาหาร แต่กลับพาไปที่บ้านจำเลยทั้งสอง เมื่อไปถึงพบจำเลยทั้งสองอยู่ที่บ้าน ผู้เสียหายบอกจำเลยที่ 2 ว่า บิดาไม่รักและไล่ออกจากบ้าน จำเลยทั้งสองจึงให้ผู้เสียหายพักอยู่ที่บ้าน คืนแรกจำเลยที่ 2 พาผู้เสียหาย เด็กหญิงพจนีย์ เด็กหญิงมาลีและเพื่อนประมาณ 8 คน กะเทย 2 คน และชายร่างอ้วน 1 คน โดยจำเลยที่ 2 ควบคุมขึ้นรถกระบะไปตามห้องอาหารต่าง ๆ ซึ่งเพื่อนที่ไปด้วยได้ถอดเสื้อผ้าและใส่ชุดว่ายน้ำออกไปเดินโชว์หน้าเวที ผู้เสียหายก็ใส่ชุดว่ายน้ำด้วย แต่ผู้เสียหายไม่ยอมเดินโชว์เพียงแต่นั่งกับแขกผู้ชายโดยมีผ้าคลุมตัวและจำเลยที่ 2 บอกให้ผู้เสียหายยอมให้แขกผู้ชายที่มาเที่ยวจับหน้าอก คืนที่สองจำเลยที่ 1 และที่ 2 พาผู้เสียหายไปตามห้องอาหารต่าง ๆ อีก ซึ่งจำเลยทั้งสองก็นำสืบรับว่า รับตัวผู้เสียหายไว้เพราะเห็นว่าตามเด็กหญิงพจนีย์มาที่บ้านและบอกว่าถูกบิดากับแม่เลี้ยงทุบตี จำเลยทั้งสองสงสารจึงให้พักอยู่ที่บ้าน และต่อมาได้พาผู้เสียหายร่วมไปในคณะแสดงโชว์ ซึ่งมีทั้งคาบาเร่ต์การแสดงตลกและเด็กหญิงโชว์ชุดว่ายน้ำ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองได้พาผู้เสียหายไปใส่ชุดว่ายน้ำเพื่อออกไปเดินโชว์ตามที่ผู้เสียหายเบิกความจริง เห็นว่า แม้ผู้เสียหายจะหลบหนีออกจากบ้านมาอยู่กับจำเลยทั้งสองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายสุชิต บิดาผู้เสียหาย แต่ในขณะเกิดเหตุผู้เสียหายมีอายุเพียง 13 ปีเศษ อยู่ในอำนาจปกครองของบิดา การที่จำเลยทั้งสองได้พาผู้เสียหายไปตามห้องอาหารต่าง ๆ โดยบิดาผู้เสียหายมิได้ยินยอมด้วยนั้น ย่อมเป็นการล่วงอำนาจปกครองของบิดาผู้เสียหาย แม้ผู้เสียหายจะสมัครใจยินยอมไปกับจำเลยทั้งสองก็ถือไม่ได้ว่าได้รับความยินยอมเห็นชอบจากบิดาผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวจึงเป็นการพรากผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดาแล้ว ทั้งการเดินโชว์ชุดว่ายน้ำของเด็กหรือการต้องยอมให้แขกผู้ชายที่มาเที่ยวจับหน้าอกในห้องอาหารต่าง ๆ ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการพรากเด็กไปโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจาร พยานหลักฐานของจำเลยไม่อาจหักล้างพยานโจทก์ได้ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสองนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง ตามคำฟ้องโจทก์มีคำขอให้ริบกาวสังเคราะห์ของกลางด้วย แต่ศาลล่างทั้งสองยังมิได้มีคำวินิจฉัยในเรื่องของกลาง จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186(9) แม้โจทก์จะไม่อุทธรณ์ฎีกา แต่ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบ มาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 317 วรรคสาม ประกอบด้วยมาตรา 83 จำคุกคนละ 5 ปี คำเบิกความของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 3 ปี 4 เดือน และลดโทษให้จำเลยที่ 1 ข้อหาตามพระราชกำหนดป้องกันการใช้สารระเหย พ.ศ. 2533 จากที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดไว้จำคุก 30 วัน หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 รวมแล้วคงจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 3 ปี 4 เดือน 20 วัน ริบของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์