คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5432/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องกล่าวอ้างว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีลักษณะบ่งเฉพาะโดยรูปลักษณะและมีการใช้จนเป็นที่แพร่หลายทั่วไปแล้ว จึงมีลักษณะบ่งเฉพาะโดยการใช้ด้วย แต่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยโดยแยกพิจารณาตัวอักษรโรมันกับรูปทรงกลมทึบออกจากกัน และวินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ทั้งไม่วินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีลักษณะบ่งเฉพาะโดยการใช้หรือไม่ เท่ากับว่าโจทก์ได้โต้แย้งแล้วว่าคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่ถูกต้องตามกฎหมายและไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำวินิจฉัยดังกล่าวจึงยังไม่เป็นที่สุด และโจทก์มีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลได้
โดยหลักทั่วไปเครื่องหมายการค้าจะต้องมีหน้าที่สำคัญ เช่น บอกแหล่งที่มาของสินค้า บอกความแตกต่างของสินค้า และประกันคุณภาพสินค้า เป็นต้น หลักสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การพิจารณาให้สิทธิแต่เพียงผู้เดียวแก่บุคคลใดในลักษณะของเครื่องหมายการค้าเช่นนี้จะต้องไม่เป็นอุปสรรคหรือขัดขวางบุคคลอื่นในการใช้อักษร ภาพ หรือสิ่งสามัญใดๆ เพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่สังคมสามารถใช้ประโยชน์เป็นเครื่องหมายการค้าได้เช่นกัน หลักการดังกล่าวจึงเป็นเหตุผลในการไม่ยอมรับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ อันเป็นข้อจำกัดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 6 และมาตรา 7

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ กับให้จำเลยทั้งสิบเอ็ดและนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าร่วมกันดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามคำขอเลขที่ 464976, 464977 และ 465822 ต่อไป
จำเลยทั้งสิบเอ็ดให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง พิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 1308/2545, ที่ 1309/2545 และที่ 1310/2545 และให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 464976, 464977 และ 465822 ต่อไป ให้จำเลยทั้งสิบเอ็ดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความเป็นเงิน 3,000 บาท
จำเลยทั้งสิบเอ็ดอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว คดีมีข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นตามที่คู่ความไม่โต้แย้งกันว่า โจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตัวอักษรและรูป จำนวน 3 คำขอ ต่อมานายทะเบียนเครื่องหมายการค้าปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนโดยอ้างว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวนั้นไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 โจทก์อุทธรณ์ คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยยืนตามคำสั่งปฏิเสธของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า โดยให้เหตุผลทำนองเดียวกัน คำว่า “BDF” เป็นอักษรย่อมาจากชื่อของบริษัทโจทก์ว่า “Beiersdorf AG”
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิบเอ็ดประการแรกมีว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าในคดีนี้เป็นที่สุดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 18 หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องกล่าวอ้างว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์ มีลักษณะบ่งเฉพาะโดยรูปลักษณะและมีการใช้จนเป็นที่แพร่หลายทั่วไปแล้ว จึงมีลักษณะบ่งเฉพาะโดยการใช้ด้วย แต่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยโดยแยกพิจารณาตัวอักษรโรมันกับรูปทรงกลมทึบออกจากกัน และวินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ทั้งไม่ได้วินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีลักษณะบ่งเฉพาะโดยการใช้หรือไม่ เท่ากับว่าโจทก์ไม่โต้แย้งแล้วว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่ถูกต้องตามกฎหมายและไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำวินิจฉัยดังกล่าวจึงยังไม่เป็นที่สุด และโจทก์มีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลได้ สำหรับข้ออ้างของจำเลยทั้งสิบเอ็ดเรื่องการพิจารณาลักษณะบ่งเฉพาะโดยการใช้สำหรับเครื่องหมายการค้าของโจทก์แล้วนั้น ข้อความที่ปรากฏในคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า ไม่อาจตีความเป็นไปตามที่จำเลยทั้งสิบเอ็ดอุทธรณ์ว่าได้มีการวินิจฉัยโดยคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าในประเด็นที่โจทก์โต้แย้งแล้ว ดังนั้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามาจึงชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิบเอ็ด ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิบเอ็ดประการต่อไปว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์ มีลักษณะบ่งเฉพาะหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสิบเอ็ดอุทธรณ์ในลักษณะยืนยันตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าว่า อักษรโรมัน “BDF” เป็นอักษรโรมันธรรมดาที่มิได้ประดิษฐ์ให้มีลักษณะพิเศษ นับว่าไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 วรรคสอง (3) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ส่วนรูปทรงกลมทึบ 4 วง ยังไม่นับว่าเป็นเครื่องหมายอันมีลักษณะทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้านั้นทราบและเข้าใจได้ว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายนั้นแตกต่างไปจากสินค้าอื่น นับว่าไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 วรรคหนึ่ง เห็นว่า โดยหลักทั่วไปเครื่องหมายการค้าจะต้องมีหน้าที่สำคัญๆ เช่น บอกแหล่งที่มาของสินค้า บอกความแตกต่างของสินค้า และประกันคุณภาพของสินค้า เป็นต้น หลักสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การพิจารณาให้สิทธิแต่เพียงผู้เดียวแก่บุคคลดในลักษณะของเครื่องหมายการค้าเช่นนี้ จะต้องไม่เป็นอุปสรรคหรือขัดขวางบุคคลอื่นในการใช้อักษร ภาพ หรือสิ่งสามัญใดๆ เพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่สังคมสามารถใช้ประโยชน์เป็นเครื่องหมายการค้าได้เช่นกัน หลักการดังกล่าวจึงเป็นเหตุผลในการไม่ยอมรับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะอันเป็นข้อจำกัดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 และมาตรา 7 สำหรับคดีนี้เครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนของโจทก์ คือ ตัวอักษรและรูป โดยตัวอักษร “BDF” เป็นอักษรย่อมาจากชื่อของโจทก์ว่า “Beiersdorf AG” ซึ่งอักษรโรมัน 3 ตัว คือ “B” “D” และ “F” นี้ แม้จะเป็นอักษรโรมันลักษณะตัวพิมพ์ใหญ่ทั่วไป ไม่ใช่ตัวอักษรโรมันที่มีลักษณะประดิษฐ์เป็นพิเศษก็ตาม แต่การเรียงอักษรโรมันดังกล่าวมีที่มาจากชื่อของโจทก์ จึงสามารถสื่อถึงโจทก์ได้ ทั้งไม่น่าจะมีการเรียงตัวอักษรโรมันในลักษณะเช่นนี้เป็นการทั่วไปในสังคม เมื่อพิจารณาต่อไปถึงรูปทรงกลมทึบ 4 วง แม้รูปทรงกลมนี้จะไม่มีลักษณะประดิษฐ์พิเศษในตัวเอง แต่เมื่อพิจารณาโดยรวมตามลักษณะที่นำมาเรียงต่อกันหลังจากอักษรโรมันที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าเครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนของโจทก์มีลักษณะพิเศษแตกต่างไป ถือว่าไม่เหมือนกับสิ่งสามัญที่มีอยู่มาก่อนอีกต่อไปและไม่ใช่กรณีที่เป็นอุปสรรคหรือขัดขวางบุคคลอื่นในการที่จะใช้อักษร ภาพ หรือสิ่งสามัญใดๆ ซึ่งควรจะเป็นสิ่งที่สังคมสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้แต่อย่างใด เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงมีลักษณะบ่งเฉพาะตามกฎหมาย ทั้งการพิจารณาเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่สมควรแยกพิจารณาตัวอักษร กับรูปทรงกลมทึบออกจากกันตามที่จำเลยทั้งสิบเอ็ดอุทธรณ์ด้วย ดังนั้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามานั้นจึงชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิบเอ็ดในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยทั้งสิบเอ็ดอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share