แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง กำหนดให้จำเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการปฏิเสธนั้นด้วย ดังนี้ นอกจากจำเลยจะต้องให้การโดยชัดแจ้งว่า คดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว จำเลยต้องให้การโดยแสดงเหตุแห่งการขาดอายุความให้ปรากฏด้วย การที่โจทก์ฟ้องจำเลยเรื่องผิดสัญญากู้และสัญญาจำนอง และจำเลยให้การว่า คดีโจทก์ขาดอายุความเนื่องจากโจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยเกินกว่า 10 ปี โดยมิได้แสดงให้ชัดแจ้งว่าคดีขาดอายุความเรื่องอะไร เพราะเหตุใด และโจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ตั้งแต่เมื่อใด นับแต่วันใดถึงวันฟ้องคดีขาดอายุความไปแล้ว คำให้การของจำเลยดังกล่าวจึงไม่ได้แสดงเหตุแห่งการขาดอายุความ คดีจึงไม่มีประเด็นเรื่องอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงิน 2,248,743.02 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปีของต้นเงิน 760,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองชำระเบี้ยประกันภัยจำนวน 828.18 บาท ทุก 3 ปี เริ่มชำระตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2548 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จหรือวันที่ขายทอดตลาดทรัพย์จำนองได้ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ครบถ้วน ให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองบังคับชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า คดีโจทก์ขาดอายุความเนื่องจากโจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยทั้งสองเกินกว่า 10 ปี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 762,692.18 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี ของเงินต้น 760,000 บาท โดยให้ชำระดอกเบี้ยเป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันฟ้องย้อนหลังขึ้นไป หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดทรัพย์จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 80038 ตำบลบางปู อำเภอเมืองสมุทรปรากร (เมือง) จังหวัดสมุทรปราการ พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากไม่พอชำระ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยทั้งสองใช้แทนตามทุนทรัพย์เท่าที่โจทก์ชนะคดี แต่ทั้งนี้จำเลยที่ 2 ไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกของนายเผือดผู้ตายที่ตกทอดแก่คน คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 2 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเผือด ผู้ตาย เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 3637 จำเลยที่ 1 และนายเผือดกู้เงินโจทก์จำนวน 760,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี โดยจำเลยที่ 1 และนายเผือดจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 80038 พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้เป็นประกันในวงเงิน 760,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี มีข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองว่า หากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยที่ 1 และนายเผือดยินยอมชำระหนี้ส่วนที่ขาดอยู่จนครบถ้วน นับแต่จำเลยที่ 1 และนายเผือดทำสัญญากู้เงิน จำเลยที่ 1 และนายเผืดดไม่เคยผ่อนชำระหนี้ให้แก่โจทก์ คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์เฉพาะประเด็นในเรื่องอายุความ โดยโจทก์อุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นในเรื่องนี้ว่า จำเลยที่ 2 ให้การเพียงว่าคดีโจทก์ขาดอายุความแล้วเนื่องจากโจทก์นำคดีมาฟ้องเกินกว่า 10 ปี โดยมิได้แสดงเหตุแห่งการปฏิเสธว่าเป็นการขาดอายุความด้วยเรื่องใด เป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้งไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 จึงไม่มีประเด็นเรื่องอายุความนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง กำหนดให้จำเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วนรวมทั้งเหตุแห่งการปฏิเสธนั้นด้วย ดังนั้น นอกจากจำเลยที่ 2 จะต้องให้การโดยชัดแจ้งว่า คดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว จำเลยที่ 2 ต้องให้การโดยแสดงเหตุแห่งการขาดอายุความให้ปรากฏด้วย คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเรื่องผิดสัญญากู้และสัญญาจำนอง จำเลยที่ 2 ให้การว่า คดีโจทก์ขาดอายุความเนื่องจากโจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยทั้งสองเกินกว่า 10 ปี โดยมิได้แสดงให้ชัดแจ้งว่าคดีขาดอายุความเรื่องอะไร เพราะเหตุใด และโจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ตั้งแต่เมื่อใด นับแต่วันใดถึงวันฟ้องคดีขาดอายุความไปแล้ว คำให้การของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวจึงไม่ได้แสดงเหตุแห่งการขาดอายุความ คดีจึงไม่มีประเด็นเรื่องอายุความ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์ในหนี้ตามสัญญากู้ขาดอายุความนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์เป็นเงิน 760,000 บาท กับดอกเบี้ยถึงวันฟ้องจำนวน 1,486,050.84 บาท และค่าเบี้ยประกันภัย 2,692.18 บาท รวมเป็นเงิน 2,248,743.02 บาท ดังนี้ จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมรับผิดชำระเงินจำนวนวนดังกล่าวแก่โจทก์”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 2,248,743.02 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี ของต้นเงิน 760,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่ให้แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ