คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5430/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เกี่ยวกับมูลเหตุคดีนี้จำเลยถูกโจทก์ที่ 1 ดำเนินคดีอาญาข้อหาหลีกเลี่ยงภาษีอากรและสำแดงราคาสินค้าอันเป็นเท็จ แต่พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องจำเลย แต่คดีนี้มิใช่คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา เฉพาะอย่างยิ่งคดีส่วนอาญาก็มิได้มีการฟ้องคดีต่อศาล จึงไม่จำต้องฟังข้อเท็จจริงตามความเห็นของพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ การวินิจฉัยพยานหลักฐานคดีนี้ย่อมเป็นไปตามที่คู่ความนำสืบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินภาษีอากร จำนวน 2,793,024.91บาท แก่โจทก์ทั้งสอง และให้จำเลยชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนจากต้นเงินอากรขาเข้า 617,717.42บาท เป็นรายเดือนนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การว่า จำเลยได้นำสินค้าเข้ามาตามฟ้องของโจทก์แต่เมื่อจำเลยได้นำสินค้าเข้ามาในประเทศไทย ก็ได้สำแดงราคาสินค้าตาม “ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระค่าภาษีอากร 2,793,024.91บาท และเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนจากต้นเงินอากรขาเข้า 617,717.42 บาท เป็นรายเดือนนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์ทั้งสอง
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า เมื่อระหว่างวันที่ 24 เมษายน 2524 ถึงวันที่ 17กันยายน 2524 จำเลยได้สั่งซื้อและนำสินค้านาฬิกาข้อมือยี่ห้อมิโด้ เข้ามาในราชอาณาจักรหลายครั้งซึ่งสินค้าดังกล่าวมีแหล่งกำเนิดในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แต่จำเลยนำเข้าจากเมืองฮ่องกงจำเลยได้ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้า รวม 5 ใบขนสำแดงราคาสินค้า 5,287,997.65 บาท อากรขาเข้า 528,799.80 บาทภาษีการค้า 513,041.54 บาท ภาษีบำรุงเทศบาล 51,304.16 บาท พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 รับราคาที่จำเลยสำแดงแล้ว ให้จำเลยชำระค่าภาษีอากรตามที่สำแดงและตรวจปล่อยสินค้าให้จำเลยรับไป ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 พบว่าราคาสินค้าที่จำเลยสำแดงไว้ในใบขนสินค้านั้นต่ำกว่าราคาที่แท้จริง เมื่อประมาณเดือนพฤศจิกายน 2524 จึงได้ส่งเอกสารใบกำกับสินค้าและบัญชีรายการบรรจุหีบห่อสินค้ารายพิพาทไปให้นายวรชัย ศิริสุทธิกุล รองกงสุลใหญ่ฝ่ายศุลกากรประจำเมืองฮ่องกง ขอให้ตรวจสอบราคาสินค้าตามเอกสารดังกล่าว ซึ่งนายวรชัยได้ติดต่อขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ศุลกากรเมืองฮ่องกงได้รับข้อมูลจากใบขนสินค้าขาออกที่บริษัทมิโด้ฟาร์อีสท์เซ็นเตอร์ จำกัด ยื่นต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรเมืองฮ่องกง ซึ่งราคาสินค้าจะแตกต่างกันมากโดยราคาที่บริษัทมิโด้ฟาร์อีสท์เซ็นเตอร์ จำกัด แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรเมืองฮ่องกงจะสูงกว่าราคาที่จำเลยสำแดงในใบขนสินค้าประมาณ55 เปอร์เซ็นต์ พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 จึงได้ประเมินราคาและภาษีอากรสำหรับสินค้ารายพิพาททั้ง 5 ใบขน โดยถือตามราคาที่ปรากฏในข้อมูลที่ได้จากศุลกากรเมืองฮ่องกง จากนั้นจึงนำเอาเงินค่าภาษีอากรที่จำเลยชำระไว้แล้วขณะนำเข้ามาหักออก แล้วแจ้งการประเมินให้จำเลยทราบ จำเลยได้รับแจ้งการประเมินแล้วได้ยื่นอุทธรณ์การประเมิน แต่โจทก์ที่ 1 ไม่พิจารณา คดีมีปัญหาที่ศาลฎีกาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยคือ (1) การประเมินภาษีอากรของโจทก์ชอบหรือไม่ (2) โจทก์ไม่มีอำนาจประเมินเพิ่มค่าภาษีอากรแก่จำเลย เพราะล่วงเลยเวลา 5 ปี ตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ และ(3) จำเลยได้รับอภัยโทษทางภาษีแล้วหรือไม่ ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าเกี่ยวกับมูลเหตุคดีนี้จำเลยถูกโจทก์ที่ 1 ดำเนินคดีอาญาข้อหาหลีกเลี่ยงภาษีอากรและสำแดงราคาสินค้าอันเป็นเท็จ แต่พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องจำเลย จึงต้องฟังยุติว่าการที่โจทก์ที่ 1 นำราคาส่งออกของผู้ขายในเมืองฮ่องกงมาเป็นเกณฑ์ประเมินราคาเป็นการไม่ถูกต้องเพราะไม่ใช่ราคาที่ซื้อขายกันจริงนั้น เห็นว่า คดีนี้มิใช่คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาเฉพาะอย่างยิ่งคดีส่วนอาญาก็มิได้มีการฟ้องคดีต่อศาล จึงไม่จำต้องฟังข้อเท็จจริงตามความเห็นของพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการการวินิจฉัยพยานหลักฐานคดีนี้ย่อมเป็นไปตามที่คู่ความนำสืบ เมื่อฟังได้ว่าการประเมินภาษีอากรเพิ่มของโจทก์ชอบแล้ว จำเลยก็ต้องรับผิดชำระภาษีอากรในส่วนที่ขาดอยู่ดังกล่าว
พิพากษายืน

Share