คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5429/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีความผิดเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ โจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่าภาพยนตร์ตามฟ้องเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นนิติบุคคลในเมืองฮ่องกงอันเป็นดินแดนในอารักขาของประเทศสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ และเป็นภาคีแห่งอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรมทำ ณ กรุงเบอร์น เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 1886 ซึ่งได้แก้ไขณ กรุงเบอร์ลิน เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน ค.ศ. 1908 และสำเร็จบริบูรณ์ด้วยโปรโตคลเพิ่มเติม ลงนาม ณ กรุงเบอร์น เมื่อวันที่20 มีนาคม ค.ศ. 1914 โดยกฎหมายเมืองฮ่องกงให้ความคุ้มครองแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของภาคีอื่น ๆ แห่งอนุสัญญาดังกล่าว แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า ประเทศไทยเป็นภาคีแห่งอนุสัญญาดังกล่าวและกฎหมายฮ่องกงให้ความคุ้มครองแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของประเทศไทยด้วย ฟ้องโจทก์จึงขาดข้อความสำคัญที่จะแสดงให้เห็นว่าภาพยนตร์ตามฟ้องมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่จำเป็นสำหรับการฟ้องคดีอาญา จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521และขอให้สั่งให้ตลับแถบ บันทึกภาพและเสียงของกลางตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ตามมาตรา 47 เมื่อไม่ได้ความว่าภาพยนตร์ตามฟ้องเป็นงานมีลิขสิทธิ์ที่ได้รับความคุ้มครอง จึงต้องคืนของกลางแก่เจ้าของ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521มาตรา 4, 24, 25, 27, 43, 44, 47 พระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนไขเพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ พ.ศ. 2526 มาตรา 3, 4 ขอให้ศาลสั่งให้ตลับแถบบันทึกภาพและเสียงของกลางตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ และนับโทษจำเลยต่อจากคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2865/2528, 2878/2528 และ2894/2528 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น บริษัทเอเซียเทเลวิชั่น จำกัดผู้เสียหายโดยนายสุจริต ถนอมสิงห์ ผู้รับมอบอำนาจยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2521 มาตรา 27, 44 วรรคสอง ลงโทษปรับ 15,000 บาท ให้ตลับแถบบันทึกภาพและเสียงของกลางตกเป็นของโจทก์ร่วม ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ยกคำขอให้นับโทษต่อ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหามีว่า ฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฏหมายหรือไม่พิเคราะห์แล้ว พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 42 บัญญัติว่า “งานอันมีลิขสิทธิ์ตามกฏหมายของประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย และกฎหมายของประเทศนั้นได้ให้ความคุ้มครองเช่นเดียวกันแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของภาคอื่น ๆ แห่งอนุสัญญาดังกล่าวหรืองานอันมีลิขสิทธิ์ขององค์การระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยร่วมเป็นสมาชิกอยู่ด้วย ย่อมได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา” โจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่า ภาพยนต์ตามฟ้องทั้งสองเรื่องเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วม ซึ่งเป็นนิติบุคคลในเมืองฮ่องกงซึ่งเป็นดินแดนในอารักขาของประเทศสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ และเป็นภาคีแห่งอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม ทำ ณ กรุงเบอร์น เมื่อเดือนกันยายนค.ศ.1886 ซึ่งได้แก้ไข ณ กรุงเบอร์ลิน เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายนค.ศ.1908 และสำเร็จบริบูรณ์ด้วยโปรโตคลเพิ่มเติม ลงนาม ณ กรุงเบอร์นเมื่อวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 1914 โดยมีกฎหมายของฮ่องกงให้ความคุ้มครองแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของภาคีอื่น ๆ แห่งอนุสัญญาดังกล่าวแต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า ประเทศไทยเป็นภาคีแห่งอนุสัญญาดังกล่าวและกฎหมายฮ่องกงให้ความคุ้มครองแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของประเทศไทยด้วย ฟ้องโจทก์จึงขาดข้อความสำคัญที่จะแสดงให้เห็นว่าภาพยนต์ทั้งสองเรื่องตามฟ้องมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่จำเป็นสำหรับการฟ้องคดีอาญาในกรณีที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์เกี่ยวด้วยงานอันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมายต่างประเทศ ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์มิได้สั่งเรื่อง ตลับแถบบันทึกภาพและเสียงของกลางนั้น เห็นว่า ของกลางดังกล่าวไม่ได้ความว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ที่ได้รับความคุ้มครองเช่นนี้ จึงต้องคืนเจ้าของ
พิพากษายืน คืนตลับแถบบันทึกภาพและเสียงของกลางให้แก่จำเลย.

Share