แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/14(1) ผู้ที่จะรับสภาพหนี้ได้มีเฉพาะตัวลูกหนี้เท่านั้น การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ทำสัญญารับใช้หนี้แทน ซ. ลูกหนี้ของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.4 ขึ้นแต่ไม่มีผลบังคับเพราะ น. คู่สัญญาผู้กระทำการแทนโจทก์กระทำการโดยปราศจากอำนาจ แม้ฟังได้ว่าเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้แสดงเจตนาเพียงฝ่ายเดียวผูกพันตนเข้ารับชำระหนี้แก่โจทก์แทนลูกหนี้ของโจทก์ อันเป็นนิติกรรมฝ่ายเดียว ก็ไม่มีลักษณะของลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(1) ไม่มีผลบังคับตามกฎหมายจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1จึงไม่ต้องรับผิดด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญารับใช้หนี้เงินกู้ให้ไว้แก่โจทก์โดยยอมรับว่ายังคงเป็นหนี้โจทก์อยู่เป็นเงิน27,167.75 บาท และยอมชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปีของต้นเงิน 10,000 บาท นับแต่วันที่ 10 มีนาคม 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จ และยอมชำระหนี้ทั้งสิ้นแก่โจทก์จนเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน 2536 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ได้ทำสัญญาค้ำประกันไว้แก่โจทก์โดยยินยอมค้ำประกันร่วมกันเพื่อชำระหนี้ตามสัญญารับใช้หนี้ของจำเลยที่ 1 ภายหลังจำเลยที่ 1 ค้างชำระหนี้โจทก์เป็นเงิน 26,867,.75 บาท และดอกเบี้ยของต้นเงิน10,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2536 คิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน2,849.25 บาท รวมเป็นเงิน 29,717 บาท ขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระหนี้จำนวน 29,717 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14 ต่อปีของต้นเงิน 10,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้ให้โจทก์เสร็จ
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากสัญญารับใช้หนี้ที่จำเลยที่ 3 ทำกับโจทก์เป็นโมฆะ เพราะพนักงานธนาคารของโจทก์ไม่มีอำนาจกระทำแทนโจทก์ โจทก์ให้จำเลยที่ 3รับผิดเกินวงเงินที่ค้ำประกันโจทก์ไม่เคยบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 3 ชำระหนี้ก่อนฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่ศาลชั้นต้นฟังมาว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. 2509 มีนายทวีศักดิ์ ทังสุพานิช เป็นผู้จัดการของโจทก์ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2537 เป็นต้นไป ตามสำเนาหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.1ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขายะลาเป็นสาขาหนึ่งของโจทก์โดยมีนายกิตติ นามสินธุ์ เป็นผู้จัดการสาขานายทวีศักดิ์ ผู้จัดการของโจทก์มอบอำนาจให้นายกิตติเป็นผู้จัดการสาขาดำเนินการต่าง ๆ แทนในนามของโจทก์ได้ และนายกิตติ ผู้จัดการสาขาของโจทก์มอบอำนาจให้นายจรัสบูลคลี่คลาย ผู้ช่วยผู้จัดการสาขายะลาดำเนินการต่าง ๆ แทนในนามของโจทก์ได้เดิมนายเซะ หะยีหะมะ เป็นลูกหนี้เงินกู้โจทก์ ต่อมานายเซะถึงแก่กรรม จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของนายเซะเข้าทำสัญญากับโจทก์เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2536 รับใช้หนี้แก่โจทก์จำนวน 27,167 บาท รวมทั้งยอมชำระดอกเบี้ยในต้นเงิน 10,000 บาท นับจากวันทำสัญญาเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ตามสัญญารับใช้หนี้เอกสารหมาย จ.4 และมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.5 แต่มีนายนิพนธ์ ชาติณรงค์เป็นคู่สัญญาทำการแทนโจทก์โดยปราศจากอำนาจที่ทำการแทนโจทก์ได้ สัญญารับใช้หนี้ตามเอกสารหมาย จ.4 จึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ผู้รับใช้หนี้และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การที่จำเลยที่ 1 ทำเอกสารหมาย จ.4 เป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1ฝ่ายเดียวถือเป็นการรับสภาพหนี้ ผูกพันจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดด้วย ตัวแทนโจทก์จึงหาจำต้องได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ก่อนแต่อย่างใดนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(1)บัญญัติไว้มีใจความว่า อายุความย่อมสะดุดหยุดลง ในกรณีที่ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง โดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้ เห็นว่าตามบทบัญญัติดังกล่าวผู้ที่จะรับสภาพหนี้ได้มีเฉพาะตัวลูกหนี้เท่านั้น ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกทำสัญญารับใช้หนี้แทนนายเซะลูกหนี้ของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.4 ขึ้น แต่ไม่มีผลบังคับเพราะนายนิพนธ์คู่สัญญาผู้กระทำการแทนโจทก์กระทำการโดยปราศจากอำนาจ แม้ฟังได้ว่าเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้แสดงเจตนาเพียงฝ่ายเดียวผูกพันตนเข้ารับชำระหนี้แก่โจทก์แทนลูกหนี้ของโจทก์ อันเป็นนิติกรรมฝ่ายเดียว ก็ไม่มีลักษณะของลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/14(1) ไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย
พิพากษายืน