คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5418/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ขณะโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 นั้น จำเลยที่ 2 ถูกศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและมีคำพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายแล้ว จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ทราบดีถึงพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างที่จำเลยที่ 2 นำมาร้องขอให้ศาลเพิกถอนกระบวนพิจารณาคดีนี้นับแต่เจ้าพนักงานได้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องคดีนี้ให้แก่จำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 2 กลับไม่แถลงให้ศาลชั้นต้นทราบถึงพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างตามคำร้องนี้ และไม่ไปศาลในวันนัดพิจารณาคดี จนศาลมีคำสั่งว่า จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาและมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้แก่โจทก์ ทั้งหลังจากโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 2 กลับดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นบังคับคดีมาตลอด โดยยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนการขายทอดตลาดหลายครั้ง อันเป็นการดำเนินการขึ้นใหม่อีกด้วย จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ให้สัตยาบันแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวแล้ว ประกอบกับตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 ให้อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวที่มีอำนาจดำเนินการแทนบุคคลล้มละลายเกี่ยวด้วยเรื่องทรัพย์สินรวมตลอดถึงการฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีเกี่ยวกับทรัพย์สินของบุคคลล้มละลาย แม้ศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามคำสั่งศาลแพ่งที่ให้เพิกถอนคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ให้โจทก์ได้รับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตามคำร้องของจำเลยที่ 2 ก็ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับหนี้ของจำเลยที่ 2 ในคดีนี้แต่อย่างใด เนื่องจากเป็นการดำเนินการในชั้นบังคับคดีของคดีล้มละลาย กรณีจึงไม่มีเหตุอันสมควรที่จะเพิกถอนกระบวนพิจารณาคดีนี้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากเมื่อปี 2524 ศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 2 เด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายตามคำพิพากษาของศาลแพ่ง คดีหมายเลขแดงที่ ล. 8/2524 ต่อมาปี 2527 โจทก์ฟ้องคดีนี้ขอให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้กู้และจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการซึ่งไม่จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ร่วมกันชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญาค้ำประกันแก่โจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ คดีถึงที่สุดแล้ว ต่อมาปี 2535 ศาลแพ่งมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายของจำเลยที่ 2 แต่ในปี 2538 จำเลยที่ 2 ตกเป็นบุคคลล้มละลายอีกครั้งตามคำพิพากษาของศาลแพ่งคดีหมายเลขแดงที่ ล. 30/2538 และในปีดังกล่าวโจทก์นำยึดที่ดินของจำเลยที่ 2 หลายแปลง รวมทั้งที่ดินโฉนดเลขที่ 7524 ตำบลบางเตย อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ที่ดินโฉนดเลขที่ 50281 และ 51498 ตำบลจรเข้บัว อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร และที่ดินโฉนดเลขที่ 106205 ตำบลห้วยขวาง (สามเสนนอกฝั่งเหนือ) อำเภอห้วยขวาง (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร หลังจากนั้นโจทก์คดีนี้ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองที่ดินทั้งสี่แปลงดังกล่าวของจำเลยที่ 2 อีกคดีหนึ่งตามคำพิพากษาของศาลแพ่งหมายเลขแดงที่ 19061/2530, 10868/2531 และ 3372/2528 ตามลำดับ ยื่นคำขอรับเงินจากการขายทอดตลาดที่ดินทั้งสี่แปลงในฐานะเจ้าหนี้มีประกัน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าวได้รับเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์ที่โจทก์นำยึดในคดีนี้ จำเลยที่ 2 ยื่นคำคัดค้าน ศาลแพ่งพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดังกล่าว ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายมีคำพิพากษายืนตามคำสั่งศาลแพ่ง โดยวินิจฉัยว่านิติกรรมจำนองที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เป็นโมฆะ เนื่องจากขณะทำนิติกรรมดังกล่าวจำเลยที่ 2 ถูกศาลแพ่ง ในคดีหมายเลขแดงที่ ล. 8/2524 มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 2 เด็ดขาดแล้ว นิติกรรมจำนองระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 จึงเป็นนิติกรรมที่ฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 และมาตรา 24 และตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ไม่มีผลบังคับ
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาคดีนี้ทั้งหมด
โจทก์ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2527 โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ โดยขณะฟ้องจำเลยที่ 2 ถูกศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด และพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายตั้งแต่ปี 2524 แล้ว จำเลยทั้งสามขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ และคดีถึงที่สุด ต่อมาจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนกระบวนพิจารณาคดีนี้ทั้งหมด
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 มีว่า จำเลยที่ 2 มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาคดีนี้ และกรณีมีเหตุสมควรเพิกถอนตามคำร้องของจำเลยที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า เมื่อพิจารณาคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาคดีนี้ของจำเลยที่ 2 แล้ว เป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 ใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 โดยจำเลยที่ 2 อ้างว่า การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลล้มละลายเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติในมาตราดังกล่าวด้วย โดยต้องยื่นคำร้องก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา แต่ต้องไม่ช้ากว่า 8 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 2 ได้ทราบพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น กล่าวคือ จำเลยที่ 2 ต้องยกขึ้นกล่าวไม่ช้ากว่า 8 วัน นับแต่จำเลยที่ 2 ทราบว่าตนล้มละลายและถูกโจทก์ฟ้อง นอกจากนี้จำเลยที่ 2 จะต้องมิได้ดำเนินการอันใดขึ้นใหม่หลังจากที่ได้ทราบเรื่องผิดระเบียบแล้ว หรือต้องมิได้ให้สัตยาบันแก่การผิดระเบียบนั้น ๆ ด้วยเมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2527 และศาลมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2528 นับถึงวันที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องนี้เป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว ทั้งในชั้นบังคับคดีจำเลยที่ 2 ยังได้ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2547 ขอให้ศาลเรียกเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และโจทก์มาไต่สวนข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 เป็นบุคคลล้มละลาย วันที่ 29 กรกฎาคม 2552 จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งยึดที่ดินของเจ้าพนักงานบังคับคดีและการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 และวันที่ 26 พฤศจิกายน 2552 จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยข้อกฎหมายและเพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 อีกครั้ง เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าขณะโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 นั้น จำเลยที่ 2 ถูกศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและมีคำพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายแล้ว จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ทราบดีถึงพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างที่จำเลยที่ 2 นำมาร้องขอให้ศาลเพิกถอนกระบวนพิจารณาคดีนี้นับแต่เจ้าพนักงานได้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องคดีนี้ให้แก่จำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 2 กลับไม่แถลงให้ศาลชั้นต้นทราบถึงพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างตามคำร้องนี้ และไม่ไปศาลในวันนัดพิจารณาคดี จนศาลมีคำสั่งว่า จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาและมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้แก่โจทก์ ทั้งหลังจากโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 2 กลับดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นบังคับคดีมาตลอด โดยยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนการขายทอดตลาดหลายครั้ง อันเป็นการดำเนินการขึ้นใหม่อีกด้วย จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ให้สัตยาบันแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวแล้ว ประกอบกับตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 ให้อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวที่มีอำนาจดำเนินการแทนบุคคลล้มละลายเกี่ยวด้วยเรื่องทรัพย์สินรวมตลอดถึงการฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีเกี่ยวกับทรัพย์สินของบุคคลล้มละลาย แม้ศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามคำสั่งศาลแพ่งที่ให้เพิกถอนคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ให้โจทก์ได้รับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตามคำร้องของจำเลยที่ 2 ก็ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับหนี้ของจำเลยที่ 2 ในคดีนี้แต่อย่างใด เนื่องจากเป็นการดำเนินการในชั้นบังคับคดีของคดีล้มละลาย กรณีจึงไม่มีเหตุอันสมควรที่จะเพิกถอนกระบวนพิจารณาคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 2 ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share