คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5407/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แพทย์ผู้เคยตรวจรักษาผู้ตายซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเห็นว่า ผู้ตายมีอาการชักซึ่งเกิดได้หลายสาเหตุ อาการชักนี้อาจจะมิใช่เกิดจากโรคลมชักหรือลมบ้าหมูเกิดจากสาเหตุอื่นก็ได้ ต้องพิสูจน์ด้วยเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง ซึ่งโรงพยาบาลที่แพทย์ประจำอยู่ไม่มี ดังนี้ แพทย์ผู้ตรวจรักษาผู้ตายก็ยังวินิจฉัยไม่ได้ว่าอาการชักของผู้ตายเกิดจากโรคลมชักหรือลมบ้าหมูหรือไม่และไม่ได้ยืนยันว่าอาการชักดังกล่าวเป็นโรคที่ร้ายแรง นอกจากนั้นยังปรากฏว่าผู้ตายเคยมีอาการชักมาเมื่อ 10 ปีที่แล้วก่อนที่จะให้แพทย์ดังกล่าวตรวจรักษาในครั้งนี้ ไม่ปรากฏว่าผู้ตายทำงานไม่ได้เช่นคนปกติทั่วไปทั้งเหตุที่ผู้ตายถึงแก่ความตายก็เป็นเพราะผู้ตายขับรถจักรยานยนต์พลิกคว่ำ จึงฟังไม่ได้ว่าผู้ตายมีโรคประจำตัวที่ร้ายแรง การที่ผู้ตายมิได้แจ้งให้จำเลยผู้รับประกันภัยทราบในขณะทำสัญญาประกันชีวิตถึงอาการชักดังกล่าวจึงมิใช่กรณีที่ผู้ตายผู้เอาประกันภัยรู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงที่อาจจะได้จูงใจจำเลยผู้รับประกันภัยให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา อันจะทำให้สัญญานั้นตกเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 865 วรรคแรกเมื่อสัญญาดังกล่าวมิได้ตกเป็นโมฆียะ จำเลยย่อมไม่อาจบอกล้างสัญญานั้น สัญญา-ประกันชีวิตตามฟ้องจึงหาตกเป็นโมฆะไม่

Share