แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดด้วยการแสดงข้อความอัน เป็นเท็จว่าจำเลยทั้งสองสามารถจัดส่งผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดไปทำงานใน ประเทศสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ เป็นงานที่มีรายได้ เมื่อผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดเดินทางไปถึงแล้วสามารถทำงานได้ทันที โดยจำเลยทั้งสองปกปิดข้อความจริงว่าจำเลยทั้งสอง ไม่ได้รับอนุญาตให้จัดหาคนงานไปทำงานในประเทศสาธารณรัฐแอฟริกาใต้จาก นายทะเบียนจัดหางานกลางจากการหลอกลวงดังกล่าวทำให้ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ด หลงเชื่อและมอบเงินจำนวนต่าง ๆ ให้แก่จำเลยทั้งสอง ดังนั้น การกระทำของ จำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง มิใช่ผิดเฉพาะสัญญาทางแพ่งแต่อย่างใด ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดยอมจ่ายเงินค่าตั๋วเครื่องบินให้แก่จำเลยทั้งสองเนื่องจากประสงค์จะเดินทางไปทำงานในประเทศสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ตามที่จำเลยทั้งสองรับรอง หากผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดทราบความจริงว่าถูกจำเลยทั้งสองหลอกลวงแล้ว ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดคงไม่เดินทางไปยังประเทศดังกล่าวและไม่จ่ายเงินค่าตั๋วเครื่องบินให้แก่จำเลยทั้งสองเป็นแน่ แม้ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดได้ใช้ตั๋วเครื่องบินดังกล่าวเดินทางไปและกลับระหว่างประเทศไทยกับประเทศสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ แต่การเดินทางของผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดดังกล่าวมิได้เกิดจากความสมัครใจของตนที่จะเดินทางไปหางานทำด้วยตนเอง แต่เกิดจากการที่ถูกจำเลยทั้งสองร่วมกันหลอกลวงฉ้อโกง ดังนั้น เงินค่าตั๋วเครื่องบินของผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดที่ต้องสูญเสียไปจึงเป็นเงินที่เกิดจากการหลอกลวง ของจำเลยทั้งสอง ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดย่อมมีสิทธิที่จะเรียกค่าตั๋วเครื่องบินดังกล่าวคืนจากจำเลยทั้งสอง ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดเดินทางไปประเทศสาธารณรัฐแอฟริกาใต้เนื่องจากหลงเชื่อตามที่จำเลยทั้งสองหลอกลวงเป็นเหตุให้ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดต้องสูญเสียเงินเป็นจำนวนมากนอกจากนี้ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดต้องเสียเวลาในการทำมาหากิน ทั้งผู้เสียหายบางคนยังถูกจับและถูกขังอยู่ในประเทศสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ทำให้ต้องสูญเสียอิสรภาพ จำเลยที่ 1 เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายปกครองมีหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชน แต่จำเลยที่ 1 กลับมากระทำความผิดเสียเองโดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่ในการหลอกลวงเพื่อให้ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดหลงเชื่อ หลังเกิดเหตุจำเลยทั้งสองก็มิได้บรรเทาผลร้าย ชดใช้หรือเสนอที่จะชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดแต่อย่างใดกรณีไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยทั้งสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343, 83, 91 พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 4, 30, 82 และให้จำเลยทั้งสองคืนเงินตามส่วนที่หลอกลวงไปจากผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดตามฟ้องเป็นเงิน 710,000 บาท แก่ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ด
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ประกอบด้วยมาตรา 91 เรียงกระทงลงโทษจำคุกคนละกระทงละ 1 ปี และปรับคนละกระทงละ 4,000 บาท รวม 11 กระทงจำคุกคนละ 11 ปี และปรับคนละ 44,000 บาท จำเลยทั้งสองไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ประกอบทั้งความผิดในข้อหานี้เป็นความผิดอันยอมความได้ จำเลยที่ 1รับราชการมานานโดยไม่ปรากฏความผิดมาก่อน เห็นสมควรรอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินคืนแก่ผู้เสียหายตามส่วน เมื่อหักค่าตั๋วเครื่องบินออกก่อนคนละ 39,600 บาท รวมเป็นเงิน184,400 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานฉ้อโกงประชาชนโดยไม่รอการลงโทษและให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดเป็นเงิน 710,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้องโจทก์ข้อหาฉ้อโกง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า คำเบิกความของจำเลยทั้งสองที่ว่า ได้รับเงินจากผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดไว้ส่วนหนึ่งเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้จำเลยทั้งสองคนละหนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ7 ปี 4 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ และไม่ปรับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินคืนแก่นายวันชัย บัวศรี จำนวน 80,000 บาท นายเพลิน เกตุแก้ว จำนวน 50,000 บาทนายณัฐพร ชัยสิงห์ จำนวน 75,000 บาท นายสมบัติ ปัญญาแดง จำนวน 70,000 บาทนายมานพ เสงี่ยมจิตต์ จำนวน 50,000 บาท นายสุทัศน์ ทิพย์ทอง จำนวน 35,000 บาทนายวิชัย สอดแจ่ม จำนวน 70,000 บาท และนายชาญ ทองหาญ นายสามารถ บุญลานายสมชาย คนกลาง นายพรหมศักดิ์ ชุมแสง คนละ 60,000 บาท รวมเป็นเงิน670,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นตามที่โจทก์และจำเลยทั้งสองมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองเป็นสามีภริยากัน โดยมิได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย จำเลยทั้งสองไม่ได้รับใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 รับราชการดำรงตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานจังหวัดตราด จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดซื้อตั๋วเครื่องบินเรียกเก็บเงินและรับเงินค่าตั๋วเครื่องบินกับค่าบริการในการเดินทางไปประเทศสาธารณรัฐแอฟริกาใต้จากนายพรหมศักดิ์ ชุมแสง จำนวน 60,000 บาทนายเพลิน เกตุแก้ว จำนวน 50,000 บา นายชาญ ทองหาญ จำนวน 60,000 บาท นายสามารถ บุญลา จำนวน 60,000 บาท นายสมชาย คนกลาง จำนวน 60,000 บาทนายวิชัย สอดแจ่ม จำนวน 70,000 บาท นายสุทัศน์ ทิพย์ทอง จำนวน 35,000 บาทนายวันชัย บัวศรี จำนวน 80,000 บาท นายสมบัติ ปัญญาแดง จำนวน 70,000 บาทนายมานพ เสงี่ยมจิตต์ จำนวน 50,000 บาท และนายณัฐพร ชัยสิงห์ จำนวน75,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 670,000 บาท สำหรับราคาตั๋วเครื่องบินระหว่างประเทศไทยกับประเทศสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ไป – กลับ ซึ่งผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดให้จำเลยที่ 2 จัดซื้อเป็นเงินคนละ 39,600 บาท ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดเดินทางไปประเทศสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่หนึ่งในวันที่ 7 สิงหาคม 2535มีนายเพลินและนายวันชัย กลุ่มที่สองในวันที่ 22 สิงหาคม 2535 มีนายสุทัศน์ นายสมบัติ นายมานพ และนายณัฐพร กลุ่มที่สามในวันที่ 12 กันยายน 2535 มีนายพรหมศักดิ์ นายชาญ นายสามารถ นายสมชายและนายวิชัย โดยจำเลยที่ 2ร่วมเดินทางไปด้วย ปรากฏว่าเมื่อผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดเดินทางไปถึงประเทศสาธารณรัฐแอฟริกาใต้แล้ว ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดไม่ได้ทำงานแต่อย่างใดนอกจากนี้นายเพลิน นายวันชัย นายสุทัศน์ นายสมบัติ นายมานพและนายณัฐพรยังถูกเจ้าพนักงานตำรวจของประเทศสาธารณรัฐแอฟริกาใต้จับในข้อหาใบอนุญาตเข้าเมืองหมดอายุ ต่อมาผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดเดินทางกลับประเทศไทยและร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานฉ้อโกงหรือไม่ โจทก์มีนายพรหมศักดิ์ นายเพลิน นายชาญ นายสามารถ นายสมชาย นายวิชัย นายสุทัศน์ นายวันชัย นายสมบัติและนายมานพ ผู้เสียหายทั้งสิบเป็นพยานเบิกความสอดคล้องต้องกันว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้ชักชวนผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดไปทำงานที่ประเทศสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ โดยพูดรับรองว่าเมื่อผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดเดินทางไปถึงแล้วมีงานให้ทำแน่นอน ผู้เสียหายแต่ละคนจะได้เงินเดือนระหว่าง 50,000 บาท ถึง 90,000 บาท พร้อมทั้งอาหารและที่อยู่ แต่ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดต้องเสียค่าใช้จ่ายและค่าตั๋วเครื่องบินไป – กลับ คนละระหว่าง 120,000 บาท ถึง 140,000 บาท โดยผู้เสียหายแต่ละคนต้องจ่ายเงินให้จำเลยทั้งสองครึ่งหนึ่งก่อน ส่วนที่เหลือผู้เสียหายแต่ละคนจะจ่ายให้หลังจากได้งานทำแล้ว นายพรหมศักดิ์ นายเพลิน นายชาญและนายสุทัศน์ยังยืนยันด้วยว่า ในการพูดชักชวนดังกล่าวจำเลยทั้งสองบอกว่าไม่ต้องกลัวถูกหลอกลวง และจำเลยที่ 1 แสดงตัวว่าเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ จำเลยทั้งสองนำภาพถ่ายจำเลยที่ 1 ซึ่งแต่งกายในเครื่องแบบปกติขาวให้ดู ตามสำเนาภาพถ่ายหมาย ป.จ.12 (ศาลจังหวัดลำปาง) พร้อมทั้งรับรองว่าหากไม่ได้ทำงานแล้ว จำเลยที่ 1 ยินดีคืนเงินให้ทั้งหมด นอกจากนี้โจทก์มีนางจอน เกตุแก้ว เป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่า เป็นภริยานายเพลิน หลังจากพยานและนายเพลินจ่ายเงินงวดแรกจำนวน 50,000 บาท ให้แก่พี่ชายจำเลยที่ 2 แล้ว พยานและนายเพลินไปพบจำเลยทั้งสองที่โรงแรมเวียงใต้ซึ่งจำเลยทั้งสองพักเพื่อขอคำยืนยันจากจำเลยทั้งสองว่านายเพลินไม่ได้ถูกหลอกลวง จำเลยที่ 1 ได้นำบัตรประจำตัวข้าราชการของจำเลยที่ 1 ให้พยานดูและยืนยันว่าจำเลยทั้งสองไม่โกง ไม่หลอกลวง เห็นว่า พยานโจทก์ทุกปากเพิ่งรู้จักจำเลยทั้งสองตอนที่จำเลยทั้งสองชักชวนผู้เสียหายแต่ละคนให้ไปทำงานเท่านั้น เหตุที่ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดไปสมัครงานกับจำเลยทั้งสองเนื่องจากผู้เสียหายบางคนทราบเรื่องดังกล่าวจากจำเลยทั้งสองบ้าง ผู้เสียหายบางคนทราบจากบุคคลอื่นบ้าง และผู้เสียหายบางคนก็ทราบจากผู้เสียหายด้วยกันเองบ้าง ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าพยานโจทก์ดังกล่าวมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสองมาก่อน กรณีไม่มีเหตุที่จะระแวงหรือสงสัยว่าพยานโจทก์จะแกล้งเบิกความปรักปรำจำเลยทั้งสองให้ต้องรับโทษ ที่จำเลยทั้งสองอ้างในฎีกาว่าโจทก์มีเพียงผู้เสียหาย 10 คน เท่านั้นเป็นพยาน โดยโจทก์ไม่ได้นำนางมาริสา คีตะเมคินทร์ ผู้แนะนำนายเพลิน และไม่ได้นำครูฝึกช่างเชื่อมผู้แนะนำนายสุทัศน์ให้ไปสมัครงานดังกล่าวกับจำเลยทั้งสองมาเป็นพยานต่อศาล พยานโจทก์จึงมีข้อสงสัยควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยทั้งสองนั้น เห็นว่า แม้โจทก์มิได้นำนางมาริสาและครูฝึกช่างเชื่อมมาเป็นพยานว่าบุคคลดังกล่าวเป็นผู้แนะนำนายเพลินและนายสุทัศน์ไปสมัครงานกับจำเลยทั้งสองก็ตาม แต่จำเลยทั้งสองก็เบิกความรับว่านายเพลินและนายสุทัศน์ได้ติดต่อกับจำเลยทั้งสองเกี่ยวกับการไปทำงานในประเทศสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ และขอให้จำเลยที่ 2 จัดซื้อตั๋วเครื่องบินให้พยานหลักฐานโจทก์จึงมิได้มีข้อสงสัยดังที่จำเลยทั้งสองอ้างแต่อย่างใด ที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าผู้เสียหายบางคนเคยเดินทางไปทำงานในต่างประเทศมาก่อนย่อมทราบถึงวิธีการต่างๆ เป็นอย่างดี จำเลยทั้งสองไม่เคยนำเอกสารหรือหลักฐานเกี่ยวกับการทำงานให้ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดดู และจำเลยทั้งสองกับผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดก็ไม่ได้ทำสัญญาจ้างกันด้วย แสดงว่าผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดสมัครใจเดินทางไปประเทศสาธารณรัฐแอฟริกาใต้เพื่อไปหางานทำกันเอง มิใช่ถูกจำเลยทั้งสองหลอกลวงนั้น เห็นว่าแม้ผู้เสียหายบางคนเคยเดินทางไปทำงานในต่างประเทศมาก่อน และทราบว่าก่อนออกเดินทางต้องทำสัญญาจ้างกันไว้ก็ตามแต่ผู้เสียหายทั้งสิบยืนยันว่าจำเลยทั้งสองรับรองกับผู้เสียหายว่ามีงานในประเทศสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ให้ทำงานดังกล่าวรายได้ดีมีทั้งที่พักและอาหารให้ นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ได้แสดงตนว่าเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และพูดรับรองด้วยว่า เมื่อผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดเดินทางไปถึงจะมีงานให้ทำแน่ การรับรองดังกล่าวย่อมเป็นเหตุให้ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดหลงเชื่อ หากจำเลยทั้งสองไม่หลอกลวงผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดโดยปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดทราบว่าความจริงจำเลยทั้งสองไม่ได้รับอนุญาตให้จัดหาคนหางานไปทำงานในประเทศสาธารณรัฐแอฟริกาใต้จากนายทะเบียนจัดหางานกลาง และไม่มีงานในประเทศดังกล่าวให้ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดทำแล้ว การเดินทางไปประเทศดังกล่าวผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดต้องไปติดต่อหางานทำกันเองเช่นนี้ เชื่อได้ว่าผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดคงไม่ยอมจ่ายเงินเป็นจำนวนมากถึงคนละหลายหมื่นบาทเพียงเพื่อเดินทางไปประเทศสาธารณรัฐแอฟริกาใต้เท่านั้น โดยขณะออกเดินทางผู้เสียหายแต่ละคนยังไม่ทราบว่าเมื่อเดินทางไปถึงแล้วจะมีงานทำหรือไม่เป็นแน่ ที่จำเลยทั้งสองอ้างว่า ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดขอร้องให้จำเลยที่ 2 ซื้อตั๋วเครื่องบินให้เพราะจำเลยที่ 2 สามารถซื้อได้ในราคาถูกกว่าราคาปกติ จำเลยที่ 2 จึงช่วยซื้อตั๋วเครื่องบินให้และคิดค่าบริการจากผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดเท่านั้น ค่าบริการดังกล่าวเป็นเงินเพียงเล็กน้อยซึ่งรวมกับค่าตั๋วเครื่องบินแล้วเป็นเงินคนละระหว่าง 50,000 บาท ถึง 55,000 บาท จำเลยทั้งสองมิได้จัดหางานให้ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดไปทำงานในประเทศสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ตามฟ้องนั้น เห็นว่าราคาตั๋วเครื่องบินซึ่งจำเลยที่ 2 ซื้อให้ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดเพียงคนละ 39,600 บาท การที่จำเลยที่ 2 รับเงินจากนายพรหมศักดิ์จำนวน 60,000 บาท นายเพลินจำนวน 50,000 บาท นายชาญจำนวน 60,000 บาท นายสามารถจำนวน 60,000 บาท นายสมชายจำนวน 60,000 บาท นายวิชัยจำนวน 70,000 บาท นายวันชัยจำนวน 80,000 บาท นายสมบัติ จำนวน 70,000 บาท นายมานพจำนวน 50,000 บาท และนายณัฐพรจำนวน 75,000 บาท เห็นได้ว่าจำเลยที่ 2 เรียกเงินค่าบริการจากผู้เสียหายดังกล่าวตั้งแต่คนละ 10,400 บาท ถึงคนละ 40,400 บาท นับว่าเป็นเงินค่าบริการซึ่งมีจำนวนสูงกว่าค่าบริการเฉพาะการจัดซื้อตั๋วเครื่องบินเพียงอย่างเดียว ส่วนที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าแม้จำเลยทั้งสองได้ชักชวนและรับรองกับผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดว่ามีงานทำที่ประเทศสาธารณรัฐแอฟริกาใต้เมื่อผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดเดินทางไปประเทศดังกล่าวและได้สมัครเข้าทำงาน แต่ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดไม่ได้ทำงานเนื่องจากคุณสมบัติและความสามารถของผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดเอง ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำการตามข้อตกลงแล้ว การที่ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดไม่ได้ทำงานจึงเป็นเรื่องจำเลยทั้งสองผิดสัญญาเกี่ยวกับการจัดหางานในส่วนแพ่งเท่านั้น การกระทำของจำเลยทั้งสองมิใช่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงนั้น เห็นว่าการที่จำเลยทั้งสองร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าจำเลยทั้งสองสามารถจัดส่งผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดไปทำงานในประเทศสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ เป็นงานที่มีรายได้ดี เมื่อผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดเดินทางไปถึงแล้วสามารถทำงานได้ทันที โดยจำเลยทั้งสองปกปิดข้อความจริงว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้รับอนุญาตให้จัดหาคนหางานไปทำงานในประเทศสาธารณรัฐแอฟริกาใต้จากนายทะเบียนจัดหางานกลาง จากการหลอกลวงดังกล่าวทำให้ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดหลงเชื่อและมอบเงินจำนวนต่าง ๆ ให้แก่จำเลยทั้งสอง ดังนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงมิใช่ผิดเฉพาะสัญญาทางแพ่งแต่อย่างใด คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยทั้งสองอ้างมานั้น ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักมั่นคงพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้คดีฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดฐานฉ้อโกงตามที่ศาลล่างวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยทั้งสองฎีกาประการที่สองว่า ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดได้ใช้ตั๋วเครื่องบินซึ่งจำเลยที่ 2 จัดซื้อให้เดินทางไปและกลับระหว่างประเทศไทยกับประเทศสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ แม้ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดเดินทางไปแล้วไม่ได้ทำงาน ถือว่าผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดได้ใช้ประโยชน์จากตั๋วเครื่องบินดังกล่าวแล้ว ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดจึงเรียกเงินค่าตั๋วเครื่องบินคืนจากจำเลยทั้งสองไม่ได้นั้น เห็นว่า ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดยอมจ่ายเงินค่าตั๋วเครื่องบินให้แก่จำเลยทั้งสองเนื่องจากประสงค์จะเดินทางไปทำงานในประเทศสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ตามที่จำเลยทั้งสองรับรอง หากผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดทราบความจริงว่าถูกจำเลยทั้งสองหลอกลวงแล้ว ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดคงไม่ต้องเดินทางไปยังประเทศดังกล่าวและไม่ต้องจ่ายเงินค่าตั๋วเครื่องบินเป็นเงินคนละ 39,600 บาท ให้แก่จำเลยทั้งสองเป็นแน่ แม้ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดได้ใช้ตั๋วเครื่องบินดังกล่าวเดินทางไปและกลับระหว่างประเทศไทยกับประเทศสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ แต่การเดินทางของผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดดังกล่าวมิได้เกิดจากความสมัครใจของผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดที่จะเดินทางไปหางานทำด้วยตนเอง แต่เกิดจากการที่ถูกจำเลยทั้งสองร่วมกันหลอกลวงฉ้อโกง ดังนั้น เงินค่าตั๋วเครื่องบินของผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดที่ต้องสูญเสียไป จึงเป็นเงินที่เกิดจากการหลอกลวงของจำเลยทั้งสองนั่นเองผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดย่อมมีสิทธิที่จะเรียกค่าตั๋วเครื่องบินดังกล่าวคืนจากจำเลยทั้งสองฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยทั้งสองฎีกาเป็นประการสุดท้ายขอให้รอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยทั้งสองนั้นเห็นว่า ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดเดินทางไปประเทศสาธารณรัฐแอฟริกาใต้เนื่องจากหลงเชื่อตามที่จำเลยทั้งสองหลอกลวงเป็นเหตุให้ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดต้องสูญเสียเงินเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดต้องเสียเวลาในการทำมาหากินทั้งผู้เสียหายบางคนยังถูกจับและถูกขังอยู่ในประเทศสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ทำให้ต้องสูญเสียอิสรภาพ จำเลยที่ 1 เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายปกครองมีหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชน แต่จำเลยที่ 1 กลับมากระทำความผิดเสียเอง โดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่ในการหลอกลวงเพื่อให้ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดหลงเชื่อ หลังเกิดเหตุจำเลยทั้งสองก็มิได้บรรเทาผลร้าย ชดใช้หรือเสนอที่จะชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดแต่อย่างใดตามพฤติการณ์แห่งคดีกรณีไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยทั้งสอง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน