แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 บัญญัติว่า “ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุที่ได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจหรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกาย ชื่อเสียงหรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้” เป็นบทบัญญัติที่มีเจตนารมณ์จะช่วยให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายในทางแพ่งได้รับความสะดวกรวดเร็วในการได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแพ่งเป็นอีกคดีหนึ่ง ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาจะได้เสร็จสิ้นไปในคราวเดียวกัน โดยให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในคดีอาญาทุกประเภทที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ต่อเนื่องไปได้เพื่อให้การพิจารณาคดีส่วนแพ่งเป็นไปโดยรวดเร็วดังที่ปรากฏในหมายเหตุท้าย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อ. (ฉบับที่ 24) พ.ศ.2548 นั้น แม้ตาม ป.วิ.อ. ได้มีคำอธิบายคำว่าผู้เสียหายไว้ในมาตรา 2 (4) ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้เสียหาย หมายถึง บุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6” แต่ข้อความตามมาตรา 44/1 ที่บัญญัติให้ผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนได้นั้น ย่อมมีความหมายในตัวว่า หมายถึง ผู้ที่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทน จึงมีความหมายที่แตกต่างขัดกับความหมายของผู้เสียหาย ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 2 (4) การตีความคำว่าผู้เสียหายตามมาตรา 44/1 จึงไม่ต้องถือตามความหมายเช่นเดียวกับมาตรา 2 (4) ทั้งนี้เป็นไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 1 ที่บัญญัติว่า “ในประมวลกฎหมายนี้ ถ้าคำใดมีคำอธิบายไว้แล้วให้ถือตามความหมายดังได้อธิบายไว้ เว้นแต่ข้อความในตัวบทจะขัดกับคำอธิบายนั้น” ดังนั้น การพิจารณาว่าผู้ใดจะมีสิทธิยื่นคำร้องต้องพิจารณาจากสิทธิในทางแพ่ง ไม่ใช่กรณีที่จะนำความหมายของคำว่า ผู้เสียหายในทางอาญา เช่น เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือผู้มีอำนาจจัดการแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) มาบังคับใช้ สำหรับคดีนี้ผู้ร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนมา 2 ส่วน คือ ค่าเสียหายของรถยนต์ของ ผ. และค่าขาดไร้อุปการะ สำหรับค่าเสียหายของรถยนต์ ผ. เป็นผู้เสียหายในฐานะเจ้าของรถ เมื่อ ผ. ถึงแก่ความตายไปแล้ว สิทธิในการเรียกค่าเสียหายเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท ผู้ร้องเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ผ. จึงใช้สิทธิในฐานะทายาทเรียกค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้ได้ และค่าขาดไร้อุปการะนั้น ผู้ร้องในฐานะภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ผ. เป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายโดยตัวของผู้ร้องเองตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคสาม และมาตรา 1461 วรรคสอง ผู้ร้องจึงมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้ได้เช่นกัน ส่วนความประมาทของ ผ. นั้น เป็นข้อเท็จจริงที่จะนำมาใช้ประกอบดุลพินิจในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนเท่านั้น ไม่ทำให้สิทธิของผู้ร้องที่จะขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหมดไป
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 7/2560)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 291, 300, 390
จำเลยให้การรับสารภาพฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ส่วนข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางลักษมี ภริยาของนายผจญ ผู้ตายยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายของรถกระบะที่นายผจญขับ กับค่าสินไหมทดแทนที่นายผจญเสียชีวิตรวมเป็นเงิน 900,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันเกิดเหตุเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300, 390 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส จำคุก 1 ปี ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายกับฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กาย เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 ปี จำเลยให้การรับสารภาพฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส จำคุก 6 เดือน รวมโทษทุกกระทงเป็นจำคุก 4 ปี 6 เดือน ให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้อง 600,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2556 เวลาประมาณ 19 นาฬิกา จำเลยขับรถบรรทุกสิบล้อตัวลากจูง หมายเลขทะเบียน 70 – 2024 อุดรธานี และตัวพ่วงบรรทุก หมายเลขทะเบียน 70 – 2025 อุดรธานี ของบริษัทพรของแม่ขนส่ง จำกัด ไปจอดไว้ที่ริมถนนสายสกลนคร – อุดรธานี ฝั่งมุ่งหน้าไปจังหวัดอุดรธานี ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 142 ถึง 143 บริเวณบ้านดงมะไฟ ตำบลขมิ้น อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร ถนนสายสกลนคร – อุดรธานีแบ่งเป็น 4 ช่องเดินรถ โดย 2 ช่องเดินรถมุ่งหน้าไปจังหวัดอุดรธานี และ 2 ช่องเดินรถมุ่งหน้าไปจังหวัดสกลนคร ต่อมาเวลาประมาณ 19.40 นาฬิกา ผู้เสียหายขับรถยนต์ หมายเลขทะเบียน กค 2424 สกลนคร เฉี่ยวชนกับตัวพ่วงบรรทุก หมายเลขทะเบียน 70 – 2025 อุดรธานี เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส ปรากฏตามสำเนาผลการตรวจชันสูตรบาดแผลพร้อมบันทึกคำให้การเพิ่มเติม หลังเกิดเหตุจำเลยได้ขนย้ายรถบรรทุกออกไปจอดไว้ที่ร้านอาหารฝั่งตรงข้าม แต่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายตัวพ่วงบรรทุกได้เนื่องจากล้อรถด้านหลังฝั่งขวาได้รับความเสียหาย จำเลยจึงจอดตัวพ่วงบรรทุกไว้ที่จุดเกิดเหตุ ต่อมาเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2556 เวลา 1.30 นาฬิกา เกิดเหตุรถกระบะ หมายเลขทะเบียน บต 5590 สกลนคร มีนายผจญ เป็นคนขับ และนางน้อม นั่งโดยสารขับมาด้วยความเร็วในช่องเดินรถช่องที่ 1 ด้านซ้ายมุ่งหน้าไปทางจังหวัดอุดรธานีเฉี่ยวชนกับรถยนต์หมายเลขทะเบียน กจ 878 สกลนคร มีสิบตำรวจโทกิตติ์ธเนศ เป็นคนขับ ด้วยความเร็วอยู่ในช่องเดินรถช่องที่ 2 ฝั่งขวามุ่งหน้าจังหวัดอุดรธานีเช่นกัน ทำให้รถกระบะของนายผจญเสียหลักเหวี่ยงไปชนกับตัวพ่วงบรรทุกที่จำเลยจอดไว้ที่จุดเกิดเหตุ ส่วนรถยนต์ของสิบตำรวจโทกิตติ์ธเนศพุ่งตกลงไปในร่องกลาง เป็นเหตุให้นายผจญและนางน้อมถึงแก่ความตาย สิบตำรวจโทกิตติ์ธเนศได้รับอันตรายแก่กาย ตามสำเนาผลการตรวจชันสูตรบาดแผล สภาพสถานที่เกิดเหตุ และสภาพความเสียหายของตัวพ่วงบรรทุก และรถยนต์ของนายพิทักษ์ และสิบตำรวจโทกิตติ์ธเนศ ปรากฏตามรายงานการตรวจพิสูจน์คดีเฉี่ยวชนและภาพถ่าย หลังเกิดเหตุจำเลยได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายจนเป็นที่พอใจแล้วตามสำเนาบันทึกตกลงชดใช้ค่าเสียหายและค่าสินไหมทดแทนไม่เกี่ยวกับคดี
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากผู้ร้องไม่ได้เป็นผู้เสียหายตามกฎหมายเพราะนายผจญผู้ตายมีส่วนประมาทอยู่ด้วย นายผจญไม่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย ผู้ร้องจึงเข้ามาจัดการแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 (2) ไม่ได้นั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 บัญญัติว่า “ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุที่ได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจหรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกายชื่อเสียงหรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สิน อันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้” เป็นบทบัญญัติที่มีเจตนารมณ์จะช่วยให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายในทางแพ่งได้รับความสะดวกรวดเร็วในการได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแพ่งเป็นอีกคดีหนึ่ง ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาจะได้เสร็จสิ้นไปในคราวเดียวกัน โดยให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายยื่นคำร้องเข้ามาในคดีอาญาดังที่ปรากฏในหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 24) พ.ศ 2548 ความว่า เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากการดำเนินคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบัญญัติให้พนักงานอัยการมีเพียงอำนาจในการเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์บางประเภทเท่านั้น ผู้เสียหายซึ่งได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดของจำเลยต้องไปดำเนินคดีส่วนแพ่งเพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทนอื่นด้วยตนเอง และต้องเสียค่าธรรมเนียมในการเรียกค่าสินไหมทดแทนอันเป็นภาระยิ่งขึ้นให้แก่ผู้เสียหาย ดังนั้น สมควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาให้ผู้เสียหายมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในคดีอาญาทุกประเภทที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ต่อเนื่องไปได้เพื่อให้การพิจารณาคดีส่วนแพ่งเป็นไปโดยรวดเร็ว รวมทั้งยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับการดำเนินคดีดังกล่าวเพื่อลดภาระให้แก่ผู้เสียหาย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ ดังนี้ แม้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้มีคำอธิบายคำว่าผู้เสียหายไว้ในมาตรา 2 (4) ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้เสียหาย หมายถึง บุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6” แต่ข้อความตามมาตรา 44/1 ที่บัญญัติให้ผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนได้นั้น ย่อมมีความหมายในตัวว่า หมายถึงผู้ที่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทน จึงมีความหมายที่แตกต่างขัดกับความหมายของผู้เสียหายที่บัญญัติไว้ในมาตรา 2 (4) การตีความคำว่าผู้เสียหายตามมาตรา 44/1 จึงไม่ต้องถือตามความหมายเช่นเดียวกับมาตรา 2 (4) ทั้งนี้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 1 ที่บัญญัติว่า “ในประมวลกฎหมายนี้ ถ้าคำใดมีคำอธิบายไว้แล้วให้ถือตามความหมายดังได้อธิบายไว้ เว้นแต่ข้อความในตัวบทจะขัดกับคำอธิบายนั้น” ดังนั้น การพิจารณาว่าผู้ใดจะมีสิทธิยื่นคำร้อง ต้องพิจารณาจากสิทธิในทางแพ่ง ไม่ใช่กรณีที่จะนำความหมายของคำว่า ผู้เสียหายในทางคดีอาญา เช่น เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือผู้มีอำนาจจัดการแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 (2) มาบังคับใช้ สำหรับคดีนี้ผู้ร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนมา 2 ส่วน คือ ค่าเสียหายของรถยนต์ของนายผจญและค่าที่ผู้ร้องขาดไร้อุปการะ สำหรับค่าเสียหายของรถยนต์ นายผจญเป็นผู้เสียหายในฐานะเจ้าของรถ เมื่อนายผจญถึงแก่ความตายไปแล้ว สิทธิในการเรียกค่าเสียหายเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท ผู้ร้องเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายผจญ จึงใช้สิทธิในฐานะทายาทเรียกค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้ได้ และค่าขาดไร้อุปการะนั้นผู้ร้องในฐานะเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายผจญ เป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายโดยตัวของผู้ร้องเองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 วรรคสาม และมาตรา 1461 วรรคสอง ผู้ร้องจึงมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้ได้เช่นกัน ส่วนความประมาทของนายผจญนั้นเป็นข้อเท็จจริงที่จะนำมาใช้ประกอบดุลพินิจในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนเท่านั้น ไม่ทำให้สิทธิของผู้ร้องที่จะขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหมดไป ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส จำคุก 6 เดือน และฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 เดือน รวมคงจำคุก 2 ปี 3 เดือน กับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้อง 450,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2556 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ