แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การเช่านั้น ผู้ให้เช่าหาจำต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ให้เช่านั้นไม่ เมื่อจำเลยยินยอมทำสัญญาเช่าที่พิพาทจากโจทก์ โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิและหน้าที่ในฐานะที่เป็นผู้ให้เช่าตามสัญญาเช่านั้น เมื่อโจทก์เห็นว่าจำเลยทำผิดสัญญาเช่าโจทก์ ผู้ให้เช่าก็ย่อมมีอำนาจที่จะฟ้องจำเลยผู้เช่าได้ในฐานะที่เป็นคู่สัญญากับจำเลย จำเลยจะโด้แย้งอำนาจของผู้ให้เช่าที่ตนยินยอมทำสัญญาด้วยนั้นหาได้ไม่
ที่ธรณีสงฆ์วัดจันทรสโมสรได้มอบให้กรมการศาสนาโจทก์เป็นผู้จัดการดูแลหาผลประโยชน์ให้แก่วัดมานานแล้ว และกรมการศาสนาโจทก์ได้ให้จำเลยเช่าที่นั้นตลอดมา ดังนี้จำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญาเช่ากับกรมการศาสนาโจทก์โดยตรง จะเถียงสิทธิของกรมการศาสนาโจทก์ในเรื่องอำนาจฟ้องหาได้ไม่
ย่อยาว
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายสู่ศาลฎีกาตามฎีกาจำเลยว่า ที่ดินพิพาทเป็นของวัดซึ่งเป็นนิติบุคคล ผู้ที่จะเป็นโจทก์ฟ้องคดีเกี่ยวกับที่ดินจึงต้องเป็นวัดหาใช่กรมการศาสนาโจทก์ไม่ การที่กรมการศาสนาโจทก์ทำสัญญาเช่ากับจำเลย ก็เป็นการกระทำแทนวัดจันทรสโมสรเท่านั้น แต่โจทก์ฟ้องในนามของโจทก์เอง ไม่มีหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๗๙๘ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ในข้อนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์นำสืบพยานว่า ที่ธรณีสงฆ์วัดจันทร์ฯได้มอบให้กรมการศาสนาโจทก์เป็นผู้จัดการดูแลหาผลประโยชน์ให้แก่วัดมานานแล้ว คือ มอบให้ตั้งแต่ครั้งสมเด็จกรมพระยาวชิรญาณฯ เป็นสมเด็จพระสังฆราช ครั้งแรกมอบให้กรมกัลปนาเป็นผู้จัดการ ต่อมากรมกัลปนาได้ยุบมารวมเป็นกรมธรรมการ กรมธรรมการได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นกรมการศาสนาโจทก์ในคดีนี้ การจัดการผลประโยชน์ของวัดจันทรสโมสรก็รับช่วงกันต่อมาจนถึงกรมการศาสนาโจทก์ทุกวันนี้ โจทก์จึงมีหน้าที่จัดการผลประโยชน์ของวัดจันทรสโมสร ทั้งเจ้าอาวาสก็ยินยอมให้โจทก์จัดการตลอดมา จำเลยทั้งสองได้เช่าที่ดินของวัดจันทรสโมสรโดยทำสัญญาเช่าจากโจทก์ ครั้งแรกเมื่อพ.ศ.๒๔๘๔ เพื่อทำการค้าสร้างตลาดและห้องแถวให้เช่า สัญญานี้ได้สิ้นสุดลงเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๗ โจทก์ต้องการปรับปรุงตลาดให้สอาด จึงได้บอกเลิกสัญญากับจำเลย สิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ของจำเลยยังคงปลูกอยู่ในที่ดินของวัด การเช่าครั้งที่ ๒ เริ่มเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๐ โดยจำเลยได้ทำสัญญาเช่ากับโจทก์เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๐๐ โดยโจทก์เป็นผู้ให้เช่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้รับเช้า คือ สัญญาเช่าหมาย จ.๑ ที่โจทก์นำมาฟ้องนี้ ในข้อนี้จำเลยก็นำสืบรับว่าจำเลยได้ทำสัญญาเช่าที่ดินของวัดจันทรสโมสรมาประมาณ ๔๐ ปี โดยได้นำหนังสือสัญญาเช่าที่ดินรายนี้จากกรมการศาสนาในสมัยที่ยังเรียกว่ากรมกัลปนา ต่อมาก็ได้เปลี่ยนเป็นกรมการศาสนาในปัจจุบันนี้ และจำเลยยังได้นำสืบพยานรับตามที่โจทก์นำสืบว่า โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาเช่ากับจำเลยเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๗ แล้ว จำเลยได้ทำสัญญาเช่ากับโจทก์ใหม่เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๐๐ คือ สัญญาเช่าหมาย จ.๑ เมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่า จำเลยได้ยอมทำสัญญารายนี้กับโจทก์และยอมรับรู้อำนาจของโจทก์ตลอดมาว่าโจทก์เป็นผู้ให้เช่าที่ดินรายนี้ ศาลนี้ได้ตรวจดูสัญญาหมาย จ.๑ แล้วปรากฎว่ากรมการศาสนาโจทก์เป็นผู้ให้เช่าในนามของโจทก์เอง หาใช่เป็นตัวแทนของผู้ใดไม่ การเช่านั้นผู้ให้เช่าหาจำต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ให้เช่านั้นไม่ เมื่อจำเลยยินยอมทำสัญญาเช่าทีรายนี้จากโจทก์ โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิและหน้าที่ในฐานะที่เป็นผู้ให้เช่าตามสัญญาเช่าหมาย จ.๑ นั้น เมื่อโจทก์เห็นว่าจำเลยทำผิดสัญญาเช่า โจทก์ผู้ให้เช่าก็ย่อมมีอำนาจที่จะฟ้องจำเลยผู้เช่าได้ในฐานะที่เป็นคู่สัญญากับจำเลย จำเลยจะมาโต้แย้งอำนาจของผู้ให้เช่าที่ตนยินยอมทำสัญญาด้วยนั้นหาได้ไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ศาลฎีกาวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยต่อไปว่าฟังไม่ขึ้น แล้วพิพากษายืนตามศาลล่างทั้งสอง