คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5398/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตามฟ้องของโจทก์มิได้ให้จำเลยรับผิดตามสัญญาฝากทรัพย์ ฟ้องโจทก์มีแต่เรื่องละเมิด เรื่องฝากทรัพย์จึงไม่เป็นประเด็นแห่งคดี ศาลจะพิพากษาให้ชำระหนี้ตามสัญญาฝากทรัพย์ไม่ได้ เรื่องฝากทรัพย์จึงมิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 225 การที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกเรื่องฝากทรัพย์ขึ้นวินิจฉัยจึงเป็นการไม่ชอบ อาคารจอดรถของบริษัทจำเลยที่ 5 มีทางเข้า 1 ทางทางออก 1 ทาง ปากทางเข้ามีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยยืนอยู่ที่คอกกั้นคอยเก็บเงินพร้อมกับออกบัตรค่าเช่าที่จอดรถราคา 5 บาท โดยจดทะเบียนรถไว้ในบัตรด้วยด้านหน้าบัตรมีข้อความว่า บริการรักษาความสะอาดและรักษาความปลอดภัย ด้านหลังมีข้อความว่า ผู้ขับขี่ต้องเก็บบัตรไว้กับตัว เพื่อป้องกันรถหาย กรุณาคืนบัตรทุกครั้งก่อนออกจากบริเวณที่จอดรถ บัตรสูญหายหรือไม่นำมาแสดงบริษัทจะไม่อนุญาตให้นำรถออกจนกว่าจะหาหลักฐานมาแสดงจนเป็นที่พอใจ และในที่จอดรถมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยยืนเดินตรวจตรา ที่กำแพงบริเวณลานจอดรถก็มีคำเตือนว่ากรุณาอย่าลืมบัตรจอดรถเพราะรถยนต์อาจสูญหาย สำหรับทางขาออก มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยยืนอยู่ที่คอกกั้นคอยตรวจรับ บัตรและปล่อยรถออก แม้ผู้มาใช้บริการที่จอดรถจะเป็น ผู้เลือกที่จอดรถเอง ดูแลปิดประตูรถและเก็บกุญแจรถไว้เอง อีกทั้งที่ด้านหลังบัตรมีข้อความว่า หากมีการสูญหายหรือ เสียหายใด ๆ เกิดขึ้นทุกกรณี ผู้ครอบครองต้องรับผิดชอบเอง ทุกประการก็ตาม แต่ก็ย่อมจะทำให้ผู้ใช้บริการจอดรถ โดยทั่วไปเข้าใจได้ว่าที่อาคารจอดรถของจำเลยที่ 5 นี้มีบริการรักษาความปลอดภัยสำหรับรถยนต์ที่จะนำเข้ามาจอดขณะมาติดต่อธุรกิจหรือซื้อสินค้าที่ห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 5 ซึ่งผู้ที่มิใช่เจ้าของรถจะลักลอบนำรถออกไปไม่ได้ ทั้งนี้โดยที่ผู้ใช้บริการที่จอดรถจะต้องเสียเงิน 5 บาทเป็นค่าตอบแทน การกระทำดังกล่าวถือเป็นการกระทำก่อน ๆของจำเลยทั้งห้า ก่อให้เกิดหน้าที่แก่จำเลยทั้งห้าต้องดูแลรักษาความปลอดภัยแก่รถยนต์ที่นำเข้ามาจอด จำเลยที่ 1 มีหน้าที่รักษาความปลอดภัยเกี่ยวกับ อาคารสถานที่ตลอดจนรถยนต์ที่เข้ามาจอดและความเรียบร้อยโดยทั่วไป ไม่มีหน้าที่โดยเฉพาะในการป้องกันการโจรกรรมรถยนต์และเหตุโจรกรรมรถยนต์ของโจทก์ไม่ได้เกิดต่อหน้าจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 งดเว้นป้องกันการโจรกรรมรถยนต์นั้น ดังนี้ การที่รถยนต์ของโจทก์ถูกลักไปจะถือว่าเกิดจากการที่จำเลยที่ 1 งดเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อป้องกันผลการโจรกรรมรถยนต์นั้นไม่ได้ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ฐานละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ยืนเก็บเงิน ออกบัตร จดทะเบียนรถลงในบัตรและตรวจบัตรขณะที่รถยนต์ออกจากลานจอดรถอยู่ที่คอกกั้นตรงทางเข้าออกลานจอดรถ หน้าที่ในการรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงเกี่ยวกับการป้องกันไม่ให้ผู้ที่ไม่ใช่เจ้าของรถนำรถออกไปจากลานจอดรถหรือป้องกันการโจรกรรมรถยนต์โดยตรง เมื่อทางเข้าออกลานจอดรถมีอยู่ทางเดียว หากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งอยู่ที่คอกกั้นตรวจบัตรอย่างเคร่งครัดก็ยากที่รถยนต์ของโจทก์จะถูกลักไปได้ การที่รถยนต์ของโจทก์สูญหายไปจึงเนื่องจากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่ระมัดระวังตรวจบัตรจอดรถโดยเคร่งครัดอันเป็นการงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อป้องกันการ โจรกรรมรถยนต์ เป็นผลโดยตรงทำให้รถยนต์ของโจทก์ถูกลักไป และเป็นการประมาทเลินเล่อ จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4ต้องรับผิดต่อโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 5 กระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 5จำเลยที่ 5 ย่อมต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4ต่อโจทก์ด้วยตามมาตรา 425 คดีละเมิด แม้ว่าจำเลยจะไม่ได้ฎีกาในเรื่องจำนวนความเสียหายตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้ ศาลฎีกาก็วินิจฉัยถึงจำนวนความเสียหายของโจทก์และกำหนดค่าเสียหายที่จำเลยต้องรับผิดเสียใหม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์กระบะคันหมายเลขทะเบียน 5ร-7775 กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2532 เวลาประมาณ 12 นาฬิกา โจทก์ได้ขับรถยนต์คันดังกล่าวเพื่อไปซื้อสินค้า ณ ศูนย์การค้าของจำเลยที่ 5 เมื่อไปถึงทางเข้า เจ้าหน้าที่ซึ่งนั่งประจำอยู่ในคอกยามมีชื่อของจำเลยที่ 5 แสดงให้เห็นได้เรียกเก็บเงินจากโจทก์เป็นจำนวน 5 บาท พร้อมกับจดหมายเลขทะเบียนรถลงในบัตรผ่านซึ่งมีสัญลักษณ์ของจำเลยที่ 5 ปรากฏอยู่อย่างชัดเจนและส่งมอบให้แก่โจทก์ยึดถือไว้ เพื่อเข้าไปใช้ที่จอดรถยนต์โจทก์นำรถยนต์ไปจอดที่ชั้น 10 ดี ต่อมาเวลา 13.20 นาฬิกาเมื่อโจทก์กลับออกมา ปรากฏว่ารถยนต์ของโจทก์ได้สูญหายไปซึ่งในขณะนั้นมีจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์และเป็นไปตามวัตถุประสงค์แห่งกิจการของจำเลยที่ 5ในบริเวณอาคารส่วนนี้ กล่าวคือ จำเลยที่ 1 เป็นผู้ดูแลรักษาความปลอดภัยอยู่ที่บริเวณที่จอดรถ และตรงทางออกมีจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 อยู่ร่วมกันตรวจบัตรของผู้ขับรถยนต์ที่ออกจากศูนย์การค้าของจำเลยที่ 5 การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่รถยนต์และทรัพย์สินของผู้มาซื้อสินค้าและบริการ แทนที่จะเดินตรวจตราไปมาในบริเวณที่ตนรับผิดชอบ กลับอยู่นิ่งเฉยเสียและปล่อยปละละเลย ทำให้คนร้ายมีเวลาเพียงพอในการนำรถยนต์ของโจทก์ออกจากที่จอดไปได้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ซึ่งร่วมกันตรวจบัตรผ่านของผู้ที่จะขับรถยนต์ออกจากบริเวณศูนย์การค้า แทนที่จะใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบ เพื่อให้เป็นไปตามหลักการที่เคยปฏิบัติกลับจงใจหรือประมาทเลินเล่อปล่อยให้คนร้ายนำรถยนต์ของโจทก์ผ่านไปได้ทั้ง ๆ ที่ไม่มีบัตรผ่านหรือเรียกบัตรผ่านคืนไว้ก่อน เป็นเหตุให้โจทก์ต้องสูญเสียทรัพย์สิน จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จึงต้องร่วมกันรับผิดชอบใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ และจำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นเจ้าของศูนย์การค้าโดยเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4หรือเป็นตัวการจำต้องรับผิดร่วมด้วย ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันหรือแทนกันชำระราคารถยนต์และทรัพย์สินที่สูญหายเป็นเงินทั้งสิ้น 266,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ให้การว่า จำเลยที่ 5 ได้ปลูกสร้างอาคารมาบุญครองเซ็นเตอร์เพื่อให้บุคคลทั่วไปเช่าสถานที่เพื่อประกอบการค้า แต่สำหรับลานจอดรถจำเลยที่ 5 ได้ให้บริษัทดูอิ้งเวล จำกัด เช่าเพื่อทำการประกอบธุรกิจในการให้บริการจอดรถ มีกำหนด 3 ปี นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2531เป็นต้นไป จำเลยที่ 5 จึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับธุรกิจการจอดรถบนลานจอดแต่อย่างใด โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 5 เป็นการฟ้องผิดตัวจำเลยที่ 1 นั้นเป็นลูกจ้างของบริษัทดูอิ้งเวล จำกัดส่วนจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 นั้นเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 5ขณะเกิดเหตุเป็นเพียงผู้ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกสำหรับการจราจรนอกเขตพื้นที่ลานจอดรถและดูแลความสงบเรียบร้อยทั่วไปเท่านั้น ไม่มีหน้าที่เฝ้าดูแลรักษารถในกิจการของบริษัทดูอิ้งเวล จำกัด การเรียกเก็บเงินค่าจอดรถและการตรวจบัตรเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่บริษัทดูอิ้งเวล จำกัด ทั้งสิ้น บัตรที่ออกให้แก่ผู้จอดรถนั้นระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นค่าเช่าที่จอดรถยนต์ไม่ใช่เป็นการรับฝากทรัพย์ แม้แต่กุญแจรถก็ยังอยู่กับเจ้าของรถ ด้านหลังบัตรก็ปฏิเสธความรับผิดของผู้ให้บริการไว้แล้ว แม้ในบัตรจอดรถจะมีเครื่องหมายศูนย์การค้ามาบุญครองเซ็นเตอร์ก็ตามก็เป็นเพียงเครื่องหมายบอกชื่ออาคาร มิใช่เป็นเครื่องหมายการค้าหรือตราสำคัญของจำเลยที่ 5 การที่รถยนต์ของโจทก์สูญหายนั้นเป็นเพราะความประมาทเลินเล่อของโจทก์เอง โจทก์ไม่ได้แสดงหลักฐานใด ๆที่ระบุว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์คันที่สูญหายและรถยนต์คันดังกล่าวก็เป็นรถยนต์เก่าใช้มานานแล้วมีราคาไม่เกิน 51,000 บาทขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชดใช้ราคารถยนต์จำนวน 239,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2532 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ตามคำฟ้องของโจทก์คดีนี้ โจทก์มิได้บรรยายให้จำเลยรับผิดตามสัญญาฝากทรัพย์ ฟ้องโจทก์มีแต่เรื่องละเมิดเรื่องฝากทรัพย์จึงไม่เป็นประเด็นแห่งคดี ศาลจะพิพากษาให้บังคับชำระหนี้ตามสัญญาฝากทรัพย์หาได้ไม่ และเรื่องฝากทรัพย์มิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 การที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกเรื่องสัญญาฝากทรัพย์ขึ้นวินิจฉัยนั้นจึงเป็นการไม่ชอบ แต่เนื่องจากพยานหลักฐานในสำนวนเพียงพอแก่การวินิจฉัยคดี ศาลฎีกาจึงเห็นควรพิจารณาพิพากษาคดีไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาคดีใหม่ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งห้ากระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า อาคารจอดรถของจำเลยที่ 5 มีทางเข้า 1 ทาง ทางออก 1 ทาง ปากทางเข้ามีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยยืนอยู่ที่คอกกั้นคอยเก็บเงิน 5 บาทโดยจดทะเบียนรถไว้ในบัตรด้วย ตามบัตรเอกสารหมาย จ.2ซึ่งที่ด้านหน้าบัตรตอนล่างมีข้อความว่า บริการรักษาความสะอาดและรักษาความปลอดภัย ด้านหลังของบัตรมีข้อความว่า 1.ผู้ขับขี่ต้องเก็บบัตรไว้กับตัว เพื่อป้องกันรถหาย 2.กรุณาคืนบัตรทุกครั้งก่อนออกจากบริเวณที่จอดรถ ฯลฯ 6.บัตรสูญหายไม่นำมาแสดงบริษัทจะไม่อนุญาตให้นำรถออกจนกว่าจะหาหลักฐานมาแสดงจนเป็นที่พอใจ และในที่จอดรถมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยยืนเดินตรวจตราที่กำแพงบริเวณลานจอดรถก็มีคำเตือนว่า กรุณาอย่าลืมบัตรจอดรถ เพราะรถยนต์อาจสูญหายสำหรับทางขาออกมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยยืนอยู่ที่คอกกั้นคอยตรวจรับบัตรและปล่อยรถออก พฤติการณ์ดังกล่าวแม้จะปรากฏว่าผู้มาใช้บริการที่จอดรถจะเป็นผู้เลือกที่จอดรถเอง ดูแลปิดประตูรถและเก็บกุญแจรถไว้เอง อีกทั้งที่บัตรค่าเช่าจอดรถด้านหลังจะมีข้อความว่า หากมีการสูญหายหรือเสียหายใด ๆ เกิดขึ้นทุกกรณี ผู้ครอบครองต้องรับผิดชอบเองทุกประการก็ตาม แต่ก็ย่อมจะทำให้ผู้ใช้บริการจอดรถโดยทั่วไปเข้าใจได้ว่า ที่อาคารจอดรถของจำเลยที่ 5 นี้ มีบริการรักษาความเรียบร้อย ความปลอดภัยสำหรับรถยนต์ที่จะนำเข้ามาจอดขณะมาติดต่อธุรกิจหรือซื้อสินค้าที่ห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 5 โดยรับดูแลความเรียบร้อย ความปลอดภัยทั้งขณะที่รถจอดอยู่ในอาคารและขณะที่รถจะออกจากอาคาร ซึ่งผู้ที่มิใช่เจ้าของรถและถือบัตรค่าเช่าที่จอดรถจะลักลอบนำรถออกไปไม่ได้ เพราะจะมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจสอบก่อน ทั้งนี้โดยที่ผู้ใช้บริการที่จอดรถจะต้องเสียเงิน 5 บาทเป็นค่าตอบแทนการกระทำดังกล่าวถือเป็นการกระทำก่อน ๆ ของจำเลยทั้งห้าก่อให้เกิดหน้าที่แก่จำเลยทั้งห้าต้องดูแลรักษาความเรียบร้อยความปลอดภัยแก่รถยนต์ที่นำเข้ามาจอด สำหรับจำเลยที่ 1 นั้นตัวโจทก์เบิกความแต่เพียงว่า เมื่อโจทก์นำรถยนต์เข้าไปจอดเห็นจำเลยที่ 1 ยืนดูแลอยู่ใกล้ ๆ แล้วโจทก์เดินเข้าไปในห้างสรรพสินค้า ต่อมาเมื่อทราบว่ารถยนต์สูญหายจึงเดินไปสอบถามจำเลยที่ 1 ซึ่งยังเดินดูแลรถยนต์ที่บริเวณชั้นจอดรถ จำเลยที่ 1บอกว่าไม่เห็น ตามทางนำสืบของโจทก์ดังกล่าวประกอบกับพฤติการณ์แห่งคดีตามที่ได้วินิจฉัยแล้วคงได้ความแต่เพียงว่า จำเลยที่ 1มีหน้าที่รักษาความปลอดภัยเกี่ยวกับอาคารสถานที่ตลอดจนรถยนต์ที่เข้ามาจอดและความเรียบร้อยโดยทั่วไป ไม่ปรากฏว่ามีหน้าที่โดยเฉพาะในการป้องกันการโจรกรรมรถยนต์และไม่ปรากฏว่าเหตุโจรกรรมรถยนต์ของโจทก์ได้เกิดต่อหน้าจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 งดเว้นป้องกันการโจรกรรมรถยนต์นั้น ดังนี้ การที่รถยนต์ของโจทก์ถูกลักไปจะถือว่าเกิดจากการที่จำเลยที่ 1 งดเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อป้องกันผลการโจรกรรมรถยนต์นั้นไม่ได้ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ฐานละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 นั้น ปรากฏว่า ยืนเก็บเงิน ออกบัตร จดทะเบียนรถลงในบัตร และตรวจบัตรขณะที่รถยนต์ออกจากลานจอดรถอยู่ที่คอกกั้นตรงทางเข้าออกลานจอดรถ หน้าที่ในการรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงเกี่ยวกับการป้องกันไม่ให้ผู้ที่ไม่ใช่เจ้าของรถนำรถออกไปจากลานจอดรถหรือป้องกันการโจรกรรมรถยนต์โดยตรง ซึ่งได้กล่าวแล้วว่าที่ลานจอดรถและที่ด้านหลังบัตรเอกสารหมาย จ.2 มีข้อความว่า ผู้ใช้บริการลานจอดรถจะต้องเก็บรักษาบัตรไว้เพื่อตรวจขณะจะนำรถออกจากลานจอดรถมิฉะนั้น บริษัทจะไม่ยอมให้นำรถออกไปจนกว่าจะหาหลักฐานอื่นมาแสดงยืนยัน ดังนี้ เมื่อปรากฏว่าทางเข้าออกลานจอดรถมีอยู่ทางเดียว หากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งอยู่ที่คอกกั้นตรวจบัตรอย่างเคร่งครัดก็ยากที่รถยนต์ของโจทก์จะถูกลักไปได้ การที่รถยนต์ของโจทก์สูญหายไปนี้เชื่อว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่ระมัดระวังตรวจบัตรจอดรถโดยเคร่งครัด อันเป็นการงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อป้องกันการโจรกรรมรถยนต์ เป็นผลโดยตรงทำให้รถยนต์ของโจทก์ถูกลักไป และเป็นการประมาทเลินเล่อ จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ต้องรับผิดต่อโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 5 กระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 5 จำเลยที่ 5 นายจ้างย่อมต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ต่อโจทก์ด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 และเมื่อคดีนี้ไม่ใช่เป็นคดีข้อหาฝากทรัพย์ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้ แต่เป็นคดีข้อหาละเมิด แม้ว่าจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 จะไม่ฎีกาในเรื่องจำนวนความเสียหายตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้ในฐานผิดสัญญาฝากทรัพย์ ศาลฎีกาก็เห็นควรวินิจฉัยถึงความเสียหายของโจทก์ในฐานละเมิดตามที่ได้ยกขึ้นวินิจฉัยไว้แล้วต่อไป ซึ่งค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้นให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 ตามทางนำสืบของโจทก์ปรากฏว่า รถยนต์ของโจทก์เป็นรถยนต์กระบะ ใช้งานมา 1 ปี เศษแล้ว โจทก์ซื้อมาในราคา 239,000 บาท ฝ่ายจำเลยมิได้นำสืบให้รับฟังได้เป็นอย่างอื่นเช่นว่า รถยนต์ของโจทก์ที่หายมีราคาตามที่โจทก์ซื้อมาเป็นความจริง แต่โดยที่ตามทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ปรากฏชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ได้กระทำการโดยจงใจหรือโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเพียงใดประกอบกับโจทก์ก็เสียค่าบริการจอดรถเพียง 5 บาท ซึ่งมีลักษณะเป็นการที่ฝ่ายจำเลยช่วยอำนวยความสะดวกในเรื่องที่จอดรถและช่วยรักษาความปลอดภัยอยู่มาก ศาลฎีกาได้พิเคราะห์ตามพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดแล้ว เห็นสมควรกำหนดค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เพียง 200,000 บาท กรณีเป็นหนี้ที่แบ่งแยกไม่ได้ ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งมีได้ฎีกาได้ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1), 247”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ร่วมกันชำระเงิน200,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2532 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1

Share