แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในคดีก่อน ผู้เสียหายเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเป็นจำเลยที่ 2 ในการกระทำอันเดียวกันกับคดีนี้ ศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวไม่อนุญาตให้โจทก์เลื่อนคดี แล้วมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และพิพากษายกฟ้อง ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำพิพากษายกคำพิพากษาและคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและให้งดสืบพยานโจทก์ ให้ย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี และต่อมาศาลฎีกามีคำสั่งไม่รับคดีไว้พิจารณาพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง ดังนี้ คำพิพากษายกฟ้องในคดีก่อนจึงเป็นอันถูกยกเลิกเพิกถอนไป ไม่อาจถือได้ว่าศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้องแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้ ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)
(การประชุมใหญ่ครั้งที่ 16/2562)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 309, 320
ในชั้นตรวจคำฟ้อง ศาลชั้นต้นพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า จำเลยเคยถูกฟ้องในเรื่องเดียวกันกับคดีนี้ ซึ่งเป็นการกระทำอันเดียวกับคดีก่อน ศาลวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีพยานมาสืบพิสูจน์ความผิดของจำเลย โดยพิพากษายกฟ้องโจทก์ เมื่อศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไป จึงให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ระงับสิ้นไปเพราะมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) หรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า ในคดีก่อนผู้เสียหายเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดี ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องและประทับฟ้อง ถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 3 สิงหาคม 2559 ทนายโจทก์ขอเลื่อนคดีเพราะเหตุความเจ็บป่วยของโจทก์ด้วยโรคมะเร็งผิวหนัง และได้ทำการผ่าตัดในวันที่ 18 กรกฎาคม 2559 แพทย์ผู้ตรวจรักษามีความเห็นว่าให้งดการเดินทางไปในเขตร้อนจนกว่าผิวหนังจะสัมผัสกับแสงแดดได้และนัดตรวจอาการในวันที่ 1 สิงหาคม 2559 โดยมีเอกสารพร้อมคำแปลมาแสดง แต่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี มีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์ เนื่องจากโจทก์ไม่มีพยานมานำสืบพิสูจน์ว่า จำเลยที่โจทก์ยังไม่ได้ถอนฟ้องไปกระทำความผิดตามฟ้อง และพิพากษายกฟ้อง ผู้เสียหายซึ่งเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 ศาลอุทธรณ์ภาค 2 เห็นว่า การขอเลื่อนคดีของโจทก์มีเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงเสียได้ กรณียังมีเหตุสมควรที่ศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้เลื่อนการสืบพยานโจทก์ไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 179 วรรคสอง พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและให้งดสืบพยานโจทก์ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 3 สิงหาคม 2559 ให้ย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี เมื่อจำเลยที่ 2 ที่ 5 และที่ 6 ฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่า เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ชอบด้วยเหตุผลแล้ว จึงไม่รับคดีไว้พิจารณาพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง ดังนั้น คำพิพากษายกฟ้องในคดีก่อนจึงเป็นอันถูกยกเลิกเพิกถอนไป ไม่อาจถือได้ว่าศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ฟ้องแล้ว พนักงานอัยการโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยในคดีนี้ได้โดยไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้ศาลชั้นต้นประทับฟ้องโจทก์ไว้แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาคดีต่อไป