คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 539/2522

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 25 ที่ให้ผู้รับประเมินภาษีโรงเรือนอุทธรณ์ต่ออธิบดีกรมสรรพากร หรือสมุหเทศาภิบาลนั้น ได้ถูกยกเลิกเปลี่ยนไปมาจนตกอยู่กับเทศบาล และคณะเทศมนตรีตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 มาตรา39 เป็นผู้พิจารณาอุทธรณ์

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เห็นว่าผู้ว่าราชการจังหวัดยังมิได้พิจารณาชี้ขาดอุทธรณ์ของจำเลย คณะเทศมนตรีชี้ขาดคำร้องนั้นไม่ชอบโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยเสียภาษีโรงเรือน พิพากษายกฟ้อง โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงคงฟังได้ว่า โจทก์ได้แจ้งผลการประเมินให้จำเลยทราบว่า จะต้องเสียภาษีโรงเรือนสำหรับปี พ.ศ. 2517เป็นเงิน 11,865 บาท และสำหรับปี พ.ศ. 2518 เป็นเงิน 25,630 บาท พร้อมด้วยเงินเพิ่มอีกร้อยละ 10 ในจำนวนเงินดังกล่าว จำเลยได้รับแจ้งแล้วไม่พอใจได้ร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ คณะเทศมนตรีเทศบาลเมืองสมุทรสงครามโจทก์ได้ชี้ขาด และได้แจ้งให้จำเลยทราบ จำเลยมิได้โต้แย้งและมิได้นำคดีขึ้นสู่ศาลภายใน 30 วัน มิได้ชำระค่าภาษีตามคำชี้ขาดเกิน 4 เดือน ประเด็นที่มาสู่ศาลฎีกาคงมีว่าคณะเทศมนตรีของเทศบาลโจทก์มีอำนาจพิจารณาชี้ขาดคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ของจำเลยหรือไม่ เห็นว่าตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช 2475 มาตรา 25 ซึ่งบัญญัติให้ผู้รับประเมินที่ไม่พอใจการประเมินได้ยื่นคำร้องต่ออธิบดีกรมสรรพากร หรือสมุหเทศาภิบาลเพื่อให้พิจารณาการประเมินใหม่นั้น ได้ถูกยกเลิกตามพระราชบัญญัติปันรายได้บำรุงเทศบาล พุทธศักราช 2479 โดยมาตรา 3 บัญญัติให้ยกเลิกบรรดากฎหมาย กฎและข้อบังคับซึ่งมีข้อความขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ และมาตรา 4 บัญญัติว่าภาษีโรงเรือนและภาษีโรงร้าน ซึ่งจะพึงเรียกเก็บในเขตเทศบาลใดให้โอนให้เทศบาลเรียกเก็บเป็นรายได้ของเทศบาลนั้น ให้มีอำนาจแต่งตั้งเจ้าหน้าที่เรียกเก็บพิจารณาอุทธรณ์และเร่งรัดภาษี และต่อมาได้มีพระราชบัญญัติรายได้เทศบาล พ.ศ. 2497 ยกเลิกพระราชบัญญัติปันรายได้เทศบาล พุทธศักราช 2479แต่ก็มีบัญญัติไว้ในมาตรา 4 ว่า ภาษีโรงเรือนและที่ดินในเขตเทศบาลใดให้เทศบาลนั้นจัดเก็บเป็นรายได้ของเทศบาลตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 มาตรา 36 ก็บัญญัติว่าให้มีคณะเทศมนตรีขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วยนายกเทศมนตรี และ มาตรา 34 วรรคหนึ่ง ก็มีบัญญัติให้คณะเทศมนตรีควบคุมรับผิดชอบในการบริหารงานของเทศบาลโดยมีนายกเทศมนตรีเป็นหัวหน้า จึงเห็นได้ว่าอำนาจพิจารณา การประเมินตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช 2475 มาตรา 25 นั้นได้ตกมาเป็นอำนาจและความรับผิดชอบของคณะเทศมนตรี คณะเทศมนตรีของเทศบาลโจทก์จึงมีอำนาจพิจารณาชี้ขาดคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ของจำเลย ตามนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ 860/2520 ระหว่างนายแม้น ศรีรัฐโจทก์ เทศบาลนครหลวง กับพวกจำเลย ส่วนจำนวนเงินค่าภาษีที่จำเลยจะต้องชำระนั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างวินิจฉัยก่อน และเห็นว่าจำเลยก็ได้รับข้อเท็จจริงตามเอกสารหมาย จ.1จ.2 แล้วคงได้ความว่าคณะเทศมนตรีได้ชี้ขาดคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินค่าภาษีโรงเรือนของจำเลยทั้งสองปีแล้ว ปี พ.ศ. 2517 จำนวนเงิน 11,965บาท ปี พ.ศ. 2518 จำนวนเงิน 25,630 บาท จำเลยจึงต้องชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้โจทก์ ประเด็นที่ว่าจำเลยได้รับแจ้งหนังสือคำชี้ขาดของโจทก์หรือไม่นั้น โจทก์ก็นำสืบให้เห็นได้ว่าจำเลยได้รับทราบแล้วโดยนางทองสุข สง่าม้าทอง ภริยาจำเลยเป็นผู้เซ็นรับทราบ คงฟังได้ว่าโจทก์ได้แจ้งคำชี้ขาดให้จำเลยทราบแล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาไว้นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็น ศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น

พิพากษากลับให้จำเลยชำระเงิน 81,244.50 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในจำนวนเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้ง 3 ศาล ค่าทนายความทั้ง 3 ศาลเป็นพับ”

Share