คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5383/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่2ไปรับโอนมรดกแต่ผู้เดียวและนำที่ดินทรัพย์มรดกซึ่งตกได้แก่โจทก์ทั้งสามและจ. ซึ่งเป็นทายาทด้วยไปโอนให้แก่จำเลยที่1ซึ่งไม่ใช่ทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกเป็นการยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกเท่าส่วนที่ตนจะได้หรือมากกว่าจำเลยที่2จึงถูกกำจัดมิให้รับมรดกเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1605ส่วนจำเลยที่1ไม่ใช่ทายาทการกระทำของจำเลยที่1จึงไม่เป็นการยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกแต่เมื่อรับโอนโดยทราบว่าโจทก์ทั้งสามและจ. เป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกด้วยจึงเป็นการรับโอนโดยไม่สุจริตสำหรับจำเลยที่3ถึงที่5เป็นบุตรของจำเลยที่1มีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมโดยการยกให้โดยเสน่หาของจำเลยที่1จึงเป็นการโอนโดยไม่มีค่าตอบแทนโจทก์ทั้งสามขอให้เพิกถอนการโอนได้ตามมาตรา1300ส่วนจำเลยที่6รับโอนซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่3ถึงที่5หลังจากโจทก์ที่3ได้อายัดที่พิพาทไว้ต่อเจ้าพนักงานที่ดินแล้วซึ่งแม้ขณะโอนจะล่วงเลยระยะเวลา60วันที่เจ้าพนักงานที่ดินรับอายัดไว้แต่เมื่อจำเลยที่6ทราบเรื่องอายัดด้วยถือว่าจำเลยที่6รับโอนโดยไม่สุจริตโจทก์ทั้งสามจึงขอให้เพิกถอนการโอนได้เช่นกัน จำเลยที่1และที่3ถึงที่5ไม่ใช่ทายาทหรือผู้จัดการมรดกส่วนจำเลยที่2ถูกกำจัดมิให้รับมรดกจึงไม่อยู่ในฐานะทายาทการที่จำเลยที่1รับโอนที่ดินจากจำเลยที่2แล้วให้จำเลยที่3ถึงที่5ถือกรรมสิทธิ์รวมถือไม่ได้ว่าจำเลยที่1และที่3ถึงที่5เป็นบุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของทายาทจึงไม่มีสิทธิยกอายุความมรดกขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดก แม้จำเลยที่1และที่3ถึงที่5ให้การต่อสู้ว่าโจทก์ทั้งสามไม่ฟ้องเพิกถอนนิติกรรมต่างๆที่จำเลยที่1กระทำกับจำเลยที่2ภายใน1ปีนับแต่โจทก์ทั้งสามบรรลุนิติภาวะจนล่วงเลยมานานเกิน10ปีคดีจึงขาดอายุความไว้ก็ตามแต่เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยที่1และที่2มิได้เบียดบังทรัพย์มรดกแต่คดีโจทก์ทั้งสามขาดอายุความมรดกปัญหาเรื่องอื่นไม่จำต้องวินิจฉัยโจทก์ทั้งสามอุทธรณ์จำเลยที่1และที่3ถึงที่5ไม่ได้ยกปัญหาเรื่องคดีขาดอายุความเป็นประเด็นไว้ในคำแก้อุทธรณ์เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยที่2เบียดบังทรัพย์มรดกจำเลยที่1จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์คดีไม่ขาดอายุความมรดกพิพากษากลับเช่นนี้ปัญหาว่าคดีขาดอายุความหรือไม่จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ต้องห้ามฎีกา

ย่อยาว

คดีสองสำนวน ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาพิพากษา โดยเรียกโจทก์ในสำนวนแรกว่า โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 กับเรียกโจทก์ในสำนวนหลังว่า โจทก์ที่ 3
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องทั้งสองสำนวนทำนองเดียวกันว่าโจทก์ทั้งสามเป็นบุตรนายชั้นกับนางสงัด สุดใจแจ่มหรือพุ่มลัดจำเลยที่ 1 เป็นพี่ชายนางสงัด จำเลยที่ 2 เป็นบุตรนางสงัดซึ่งเกิดกับสามีคนก่อน จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 เป็นบุตรจำเลยที่ 1ส่วนจำเลยที่ 6 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 1096 ตำบลบ้านไทร (บางระมาด) อำเภอตลิ่งชันกรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 8 ไร่ 80 ตารางวาเป็นของนางจวง สุดใจแจ่ม ต่อมาได้ยกให้นางสงัดและจำเลยที่ 1คนละครึ่ง นางสงัดถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2502ขณะนั้นโจทก์ทั้งสามยังเป็นผู้เยาว์และไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรมเนื่องจากนายชั้นถึงแก่กรรมไปก่อนแล้ว โจทก์ทั้งสามเพิ่งทราบขณะไปติดต่อที่สำนักงานที่ดินเมื่อเดือนธันวาคม 2532 ว่าเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2502 จำเลยที่ 2 ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 รับโอนมรดกของนางสงัดโดยให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่า นางสงัดมีบุตรเพียงจำเลยที่ 2 คนเดียว เจ้าพนักงานที่ดินได้จดทะเบียนโอนมรดกเฉพาะส่วนให้จำเลยที่ 2 แล้วยกให้แก่จำเลยที่ 1 โดยไม่สุจริตซึ่งจำเลยที่ 1 ทราบดีว่าที่ดินส่วนนั้นจะต้องตกแก่โจทก์ทั้งสามและนางจวงคนละ 3 งาน 28 ตารางวาการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นการร่วมกันปิดบังยักย้ายทรัพย์มรดกมากกว่าส่วนที่ตนจะได้รับโดยฉ้อฉล และรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทอื่น จำเลยที่ 2 จึงต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกเลย ที่ดินส่วนของจำเลยที่ 2 จึงตกได้แก่ทายาทที่เหลือคนละ 82 ตารางวา ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ถือกรรมสิทธิ์รวมโดยเสน่หาแล้วไปขอรังวัดแบ่งแยกในนามเดิมเป็น 8 แปลง จากนั้นโอนขายให้แก่จำเลยที่ 6โดยทราบว่าโจทก์ขออายัดที่ดินแล้ว ภายหลังทางราชการได้ออกโฉนดให้แก่จำเลยที่ 6 เป็น 8 โฉนด คือโฉนดเดิมและโฉนดเลขที่ 65881ถึง 65887 แล้วจำเลยที่ 6 ได้นำที่ดินทั้งหมดดังกล่าวรวมกับที่ดินแปลงอื่นไปจำนองกับธนาคารกสิกรไทย จำกัด ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนรับโอนมรดกของจำเลยที่ 2 และกำจัดมิให้จำเลยที่ 1และที่ 2 รับมรดกเลย กับให้เพิกถอนการให้ระหว่างจำเลยที่ 2กับที่ 1 เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2502 ในโฉนดที่ดินเลขที่ 1096และ 65881 ถึง 65887 เฉพาะส่วนของโจทก์ที่ 1 และที่ 2เนื้อที่ 2 ไร่ 20 ตารางวา เฉพาะส่วนของโจทก์ที่ 3 เนื้อที่3 งาน 28 ตารางวา ให้เพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยที่ 1 ยอมให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ถือกรรมสิทธิ์รวมในโฉนดที่ดินดังกล่าวเฉพาะส่วนของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เนื้อที่ 2 ไร่ 20 ตารางวาเฉพาะส่วนของโจทก์ที่ 3 เนื้อที่ 3 งาน 28 ตารางวา ให้เพิกถอนการซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 กับจำเลยที่ 6ในโฉนดที่ดินดังกล่าว เฉพาะส่วนของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เนื้อที่2 ไร่ 20 ตารางวา เฉพาะส่วนของโจทก์ที่ 3 เนื้อที่ 3 งาน28 ตารางวา ให้จำเลยทั้งหกไปจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินดังกล่าวเฉพาะส่วนของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เนื้อที่ 2 ไร่ 20 ตารางวาเฉพาะส่วนของโจทก์ที่ 3 เนื้อที่ 3 งาน 28 ตารางวา ให้จำเลยทั้งหกโอนที่ดินดังกล่าวคืนแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 คนละ 1 ไร่ 10 ตารางวาแก่โจทก์ที่ 3 เนื้อที่ 3 งาน 28 ตารางวา หากไม่สามารถไถ่ถอนจำนองและโอนได้ให้จำเลยทั้งหกใช้ราคาที่ดินแก่โจทก์ที่ 1และที่ 2 คนละ 2,050,000 บาท แก่โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 1,640,000บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ให้การทั้งสองสำนวนเป็นทำนองเดียวกันว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 1096 เป็นของนางจวงสุดใจแจ่ม ต่อมายกให้จำเลยที่ 1 และนางสงัด สุดใจแจ่มคนละ 4 ไร่ 40 ตารางวา นางสงัดได้นำที่ดินส่วนของตนไปจำนองกับนายสละ ธูปกล่ำ ต่อมานางสงัดถึงแก่กรรม ขณะนั้นบุตรนางสงัดคงมีเพียงจำเลยที่ 2 คนเดียวที่บรรลุนิติภาวะเมื่อนายสละทวงถามนางจวงและจำเลยที่ 2 ไม่มีเงินชำระหนี้จึงตกลงให้จำเลยที่ 1 รับซื้อไว้เป็นเงิน 26,000 บาท แล้วจำเลยที่ 2ได้มอบให้จำเลยที่ 1 ไปจัดการโอนที่ดิน โจทก์ทั้งสามไม่ใช้สิทธิภายใน 1 ปี หลังจากแต่ละคนมีอายุครบ 20 ปี คดีจึงขาดอายุความมรดกและขอให้เพิกถอน ทั้งโจทก์ทั้งสามไม่เคยบอกกล่าว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การทั้งสองสำนวนทำนองเดียวกันว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 1096 เดิมเป็นของนางจวง สุดใจแจ่ม ต่อมาได้ยกให้นางสงัดและจำเลยที่ 1 คนละครึ่ง นางสงัดจึงนำที่ดินส่วนของตนไปจำนองกับนายสละ ธูปกล่ำ นางสงัดถึงแก่กรรม ขณะจำเลยที่ 2บวช หลังจากสึกแล้วจำเลยที่ 2 ถูกเจ้าหน้าที่จับไปคุมขังที่เรือนจำคลองเปรมข้อหาอันธพาล ระหว่างนั้นจำเลยที่ 1 ไปบอกว่านายสละให้ไถ่ถอนจำนอง จำเลยที่ 2 ไม่มีเงิน จำเลยที่ 1จึงบอกให้จำเลยที่ 2 ไปรับโอนมรดกของนางสงัดร่วมกับโจทก์ทั้งสามแล้วจำเลยที่ 1 กับนางจวงจะได้ช่วยไถ่ถอนจำนองให้ แต่จำเลยที่ 2จะต้องยกที่ดินส่วนของจำเลยที่ 2 เนื้อที่ 3 งาน 26 ตารางวาให้จำเลยที่ 1 เป็นการตอบแทน จำเลยที่ 2 เห็นด้วยจึงได้เซ็นชื่อในใบมอบอำนาจที่ยังไม่กรอกข้อความให้จำเลยที่ 1 ไป จำเลยที่ 2ไม่ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ฉ้อฉลโจทก์ทั้งสาม ขอให้ยกฟ้อง
จำเลย ที่ 6 ขาดนัด ยื่นคำให้การ และ ขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ ทั้ง สาม อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนรับมรดกของจำเลยที่ 2 และเพิกถอนการให้ระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 1เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2502 ในโฉนดที่ดินเลขที่ 1096 ตำบลบ้านไทร(แขวงบางระมาด) อำเภอตลิ่งชัน (เขตตลิ่งชัน) กรุงเทพมหานครเฉพาะส่วนของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เนื้อที่ 2 ไร่ 20 ตารางวาเฉพาะส่วนของโจทก์ที่ 3 เนื้อที่ 3 งาน 28 ตารางวา ให้เพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยที่ 1 ยอมให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ถือกรรมสิทธิ์รวมในโฉนดที่ดินดังกล่าว เฉพาะส่วนของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เนื้อที่2 ไร่ 20 ตารางวา เฉพาะส่วนของโจทก์ที่ 3 เนื้อที่ 3 งาน28 ตารางวา ให้เพิกถอนการซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 3ถึงที่ 5 กับจำเลยที่ 6 ในโฉนดที่ดินดังกล่าว เฉพาะส่วนของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เนื้อที่ 2 ไร่ 20 ตารางวา เฉพาะส่วนของโจทก์ที่ 3 เนื้อที่ 3 งาน 28 ตารางวา ให้จำเลยทั้งหกไปจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินดังกล่าวเฉพาะส่วนของโจทก์ที่ 1และที่ 2 เนื้อที่ 2 ไร่ 20 ตารางวา เฉพาะส่วนของโจทก์ที่ 3เนื้อที่ 3 งาน 28 ตารางวา ให้จำเลยทั้งหกโอนที่ดินดังกล่าวคืนโจทก์ที่ 1 และที่ 2 คนละ 1 ไร่ 10 ตารางวา แก่โจทก์ที่ 3เนื้อที่ 3 งาน 28 ตารางวา หากไม่สามารถไถ่ถอนจำนองและโอนได้ให้จำเลยทั้งหกร่วมกันใช้ราคาที่ดินแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 คนละ2,050,000 บาท แก่โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 1,640,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลย ที่ 1 และ ที่ 3 ถึง ที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังยุติได้ตามที่โจทก์จำเลยนำสืบรับกันว่า นางสงัด สุดใจแจ่มหรือพุ่มลัดเป็นมารดาของโจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นพี่ชายของนางสงัด จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 เป็นบุตรของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 6 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 1096 ตำบลบ้านไทร (บางระมาด) อำเภอตลิ่งชันกรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 8 ไร่ 80 ตารางวา เป็นกรรมสิทธิ์ของนางจวง สุดใจแจ่ม มารดาของจำเลยที่ 1 และนางสงัดนางจวงยกที่ดินดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 และนางสงัดคนละครึ่งก่อนถึงแก่กรรมนางสงัดได้จำนองที่ดินเฉพาะส่วนของตนไว้กับนายสละ และนางเชย ธูปกล่ำ ต่อมาวันที่ 14 มิถุนายน 2502นางสงัดถึงแก่กรรมโดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนางสงัดได้แก่นางจวง จำเลยที่ 2 และโจทก์ทั้งสามรวม 5 คน แต่จำเลยที่ 2 ซึ่งถูกจำคุกอยู่ในเรือนจำได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการรับมรดกเฉพาะส่วนของนางสงัดพร้อมไถ่ถอนจำนองแล้วยกให้จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2502และในวันเดียวกันนั้นจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนจำนองไว้แก่นายบก คดดี ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ยกที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 3ถึงที่ 5 โดยให้ถือกรรมสิทธิ์รวมเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2532โจทก์ที่ 3 ได้อายัดที่ดินไว้เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2532เจ้าพนักงานที่ดินรับอายัดไว้ 60 วัน และมีหนังสือแจ้งการอายัดให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ทราบแล้ว ต่อมาวันที่ 7 มีนาคม 2533จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ได้ขายให้จำเลยที่ 6 แล้วมีการแบ่งแยกที่ดินออกเป็นแปลงย่อยอีก 7 แปลง คือโฉนดเลขที่ 1096 เดิมและโฉนดเลขที่ 65881 ถึง 65887 จำเลยที่ 6 ได้นำที่ดินทั้ง8 แปลงไปจำนองไว้แก่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ประการแรกมีว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ร่วมกันยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกหรือไม่ ตามทางนำสืบของจำเลยที่ 1 ได้ความว่า ก่อนนางสงัดถึงแก่กรรมประมาณ 1 ปี ได้ป่วยเป็นวัณโรค ได้นำที่พิพาทไปจำนองไว้กับนายสละและนางเชยเพื่อนำเงินมาใช้จ่าย หลังจากนางสงัดถึงแก่กรรมแล้ว นายสละได้ทวงถามจะบังคับจำนองจำเลยที่ 1นางจวง นายสนิท สุดใจแจ่ม และจำเลยที่ 2 ได้ปรึกษากันว่าจำเลยที่ 1 จะเป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทไว้เองเพื่อมิให้ตกเป็นของบุคคลภายนอก จำเลยที่ 1 ได้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 2 ให้รับโอนมรดกแล้วโอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองจากนายสละ เห็นว่า ตามหนังสือสัญญาให้ที่ดินเฉพาะส่วนเอกสารหมาย จ.7 ระบุว่าเป็นการยกให้ แสดงว่าอาจเป็นการให้ตอบแทนในการที่จำเลยที่ 1 ไถ่ถอนจำนองก็ได้ หากคู่กรณีมีเจตนาขายที่ดินพิพาทจะทำเป็นสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนประเภทขายเสียให้ถูกต้องตามความเป็นจริง แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่านิติกรรมระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะเป็นการขายหรือให้ การที่จำเลยที่ 2ไปรับโอนมรดกแต่ผู้เดียว และนำที่ดินทรัพย์มรดกซึ่งตกได้แก่โจทก์ทั้งสามและนางจวงด้วยไปโอนให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งไม่ใช่ทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกจึงเป็นการยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกเท่าส่วนที่ตนจะได้หรือมากกว่า จำเลยที่ 2 จึงถูกกำจัดมิให้รับมรดกเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1605ส่วนจำเลยที่ 1 ไม่ใช่ทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของนางสงัดการกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นการยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกตามบทกฎหมายดังกล่าว แต่เมื่อจำเลยที่ 1 รับโอนที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 โดยทราบว่าโจทก์ทั้งสามและนางจวงเป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกด้วย จึงเป็นการรับโอนโดยไม่สุจริต จำเลยที่ 3ถึงที่ 5 เป็นบุตรของจำเลยที่ 1 มีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมโดยการยกให้โดยเสน่หาของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการโอนโดยไม่มีค่าตอบแทนโจทก์ทั้งสามจึงมีสิทธิขอให้เพิกถอนการโอนดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 นอกจากนี้การที่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 6 หลังจากโจทก์ที่ 3 ได้อายัดที่พิพาทไว้ต่อเจ้าพนักงานที่ดินแล้วตามทางนำสืบของโจทก์ที่ 3 ว่าได้แจ้งให้นายไชยาซึ่งเป็นกรรมการของจำเลยที่ 6 ทราบแล้วมีน้ำหนักให้รับฟังน่าเชื่อว่าขณะทำการโอนแม้จะล่วงเลยระยะเวลา 60 วัน ที่เจ้าพนักงานที่ดินรับอายัดไว้ เจ้าพนักงานที่ดินก็น่าจะแจ้งเรื่องอายัดให้จำเลยที่ 6ทราบด้วย ถือได้ว่าจำเลยที่ 6 รับโอนโดยไม่สุจริต โจทก์ทั้งสามจึงมีสิทธิให้เพิกถอนการโอนตามบทกฎหมายดังกล่าวได้เช่นกันฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ฟังไม่ขึ้น ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ประการต่อไปมีว่าคดีโจทก์ทั้งสามขาดอายุความมรดกหรือไม่ เห็นว่า ผู้ที่จะยกอายุความมรดกขึ้นต่อสู้ได้ก็แต่บุคคลซึ่งเป็นทายาทหรือบุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของทายาทหรือผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1755 เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3ถึงที่ 5 ไม่ใช่ทายาทหรือผู้จัดการมรดก ทั้งจำเลยที่ 2 ถูกกำจัดมิให้รับมรดก จำเลยที่ 2 จึงไม่อยู่ในฐานะทายาท การที่จำเลยที่ 1รับโอนที่ดินจากจำเลยที่ 2 แล้วให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5ถือกรรมสิทธิ์รวม จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5เป็นบุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของทายาท ดังนั้น จำเลยที่ 1 และที่ 3ถึงที่ 5 จึงไม่มีสิทธิยกอายุความมรดกขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดก ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ประการสุดท้ายมีว่า การที่โจทก์ทั้งสามไม่ฟ้องเพิกถอนนิติกรรมต่าง ๆ ที่จำเลยที่ 1 กระทำกับจำเลยที่ 2 ภายใน 1 ปี นับแต่โจทก์ทั้งสามบรรลุนิติภาวะจนล่วงเลยมานานเกิน 10 ปี จึงขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า แม้ปัญหานี้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 จะให้การต่อสู้ไว้ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้เบียดบังทรัพย์มรดก แต่คดีโจทก์ทั้งสามขาดอายุความมรดก ปัญหาเรื่องอื่นจึงไม่จำต้องวินิจฉัยโจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ แต่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ไม่ได้ยกปัญหาเรื่องไม่ฟ้องเพิกถอนนิติกรรมภายใน 1 ปี นับแต่โจทก์ทั้งสามบรรลุนิติภาวะจนล่วงเลยมานานเกิน 10 ปี จึงขาดอายุความเป็นประเด็นไว้ในคำแก้อุทธรณ์และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2เบียดบังทรัพย์มรดก จำเลยที่ 1 จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ คดีไม่ขาดอายุความมรดก พิพากษากลับ ฉะนั้นปัญหาที่ว่าการที่โจทก์ทั้งสามไม่ฟ้องเพิกถอนนิติกรรมภายใน 1 ปี นับแต่โจทก์ทั้งสามบรรลุนิติภาวะจนล่วงเลยมานานเกิน 10 ปี จึงขาดอายุความ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1และที่ 3 ถึงที่ 5 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share