แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ศาลจดรายงานกระบวนพิจารณาไว้ โจทก์ไม่ยอมลงชื่อรับรู้ศาลจดแจ้งเหตุที่ไม่มีลายมือชื่อโจทก์ลงไว้ว่าโจทก์ไม่ยอมเซ็นชื่อเป็นการชอบด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 50 แล้ว
ย่อยาว
คดีนี้ เดิมโจทก์ฟ้องว่า จำเลยละเมิดบุกรุกเข้ามาขายอาหารในที่ดินที่โจทก์เช่ามาจากการรถไฟแห่งประเทศไทย ขอให้ขับไล่และเรียกค่าเสียหายจำเลยให้การปฏิเสธต่อสู้คดี ต่อมาโจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2519 ว่า จำเลยจะไม่เข้าไปขายอาหารหรือตั้งร้านค้าในเขตสถานีรถไฟชุมแสงตามเครื่องหมายเส้นทะแยงในเอกสารหมายเลข 2 ท้ายฟ้องอีก นับแต่วันทำสัญญาเป็นต้นไป และศาลชั้นต้นได้พิพากษาคดีให้เป็นอันเสร็จเด็ดขาดตามสัญญาประนีประนอมยอมความไปแล้วต่อมาวันที่ 29 กันยายน 2519 โจทก์ยื่นคำร้องว่าจำเลยบังอาจเข้ามาตั้งโต๊ะขายอาหารในเขตที่จำเลยทำสัญญายอมความไว้ นับแต่วันที่ 23 กันยายน 2519 เป็นต้นมา ขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยมาว่ากล่าวให้ปฏิบัติตามคำพิพากษา
ศาลชั้นต้นนัดโจทก์จำเลยมาและจดรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่7 ตุลาคม 2519 ไว้ว่า
“ศาลสอบจำเลยตามคำร้องโจทก์ลงวันที่ 29 กันยายน 2519 จำเลยแถลงว่านับแต่วันทำยอมเป็นต้นมา จำเลยขายอาหารหรือตั้งร้านค้าอยู่นอกเขตเครื่องหมายเส้นทะแยงในเอกสารท้ายฟ้องข้อ 2 ไม่ได้เข้าเกี่ยวข้องภายในเขตเครื่องหมายเส้นทะแยงอีกเลย
โจทก์แถลงว่า จำเลยขายอาหารหรือตั้งร้านค้าอยู่ระหว่างเส้นสีดำและเส้นสีน้ำเงิน (เส้นสีน้ำเงินทำขึ้นวันนี้) ซึ่งอยู่ภายในเขตเครื่องหมายเส้นทะแยงดังกล่าวและอยู่ภายในเขตสถานีรถไฟชุมแสงอันเป็นเขตที่โจทก์มีสิทธิตามสัญญาเช่าจากการรถไฟ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามสัญญายอม ขอให้ศาลทำการไต่สวนและมีคำสั่งให้จำเลยปฏิบัติตามยอม
ศาลดูเอกสารหมายเลข 2 ท้ายฟ้องแล้ว ปรากฏว่าระหว่างเส้นสีดำและเส้นสีน้ำเงินไม่มีเครื่องหมายเส้นทะแยง จำเลยจึงไม่ได้ปฏิบัติผิดสัญญายอมให้ยกคำร้องโจทก์โดยไม่จำต้องทำการไต่สวน”
ท้ายรายงานดังกล่าว ศาลชั้นต้นบันทึกว่าตัวโจทก์ ทนายโจทก์ไม่ยอมเซ็นชื่อ เมื่อเวลา 15.30 นาฬิกา
ในวันที่ 7 ตุลาคม 2519 นั้นเอง โจทก์ยื่นคำแถลงใจความว่า ขอบเขตสิทธิขายอาหารของโจทก์ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ซึ่งเขียนไว้เป็นเส้นทะแยงนั้นมีอาณาเขตจดขอบถนน เส้นคู่ซึ่งขนานกับขอบเขตดังกล่าวใต้คำว่า “เขตที่ถูกละเมิด” เป็นเส้นที่แสดงถึงรางน้ำข้างถนนซึ่งมีอยู่ทั้งสองข้างของถนนที่จำเลยละเมิดคำพิพากษาเข้ามาขายอาหารนั้นเป็นการเข้ามาภายใน”เขตที่ถูกละเมิด” ไม่ใช่ตรงเส้นคู่ซึ่งเป็นรางน้ำข้างถนนนั้น
ศาลชั้นต้นสั่งคำแถลงนี้ว่า โจทก์ยื่นคำแถลงฉบับนี้เข้ามาหลังจากศาลจดคำแถลงของโจทก์ไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาวันนี้แล้ว คำแถลงโจทก์ที่ปรากฏในรายงานชัดแจ้งอยู่แล้วโดยโจทก์ไม่จำต้องทำคำแถลงอธิบายคำแถลงเดิม คำแถลงใหม่กับคำแถลงเดิมไม่เป็นประโยชน์แก่คดีของโจทก์รวมสำนวน
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยไม่ได้เข้าไปตั้งร้านขายอาหารในเขตเส้นทะแยง และมิได้ปฏิบัติผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลชั้นต้นยกคำร้องของโจทก์ชอบแล้ว พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนและประชุมปรึกษาแล้ว ที่โจทก์ขอแถลงการณ์ด้วยวาจานั้น เห็นว่าไม่จำเป็นแก่คดีจึงให้งดเสีย ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่าฎีกาของโจทก์เป็นฎีกาที่โต้แย้งรายงานกระบวนพิจารณาของศาลลงวันที่ 7 ตุลาคม 2519 ตามที่ศาลจดบันทึกไว้ว่าผิดไปจากคำแถลงของโจทก์ จึงมีปัญหาว่ารายงานกระบวนพิจารณาที่ศาลชั้นต้นจดบันทึกนั้นชอบหรือไม่ เห็นว่า การที่ศาลหมายเรียกจำเลยก็เพื่อสอบถามตามคำร้องของโจทก์และได้ความว่านอกจากจำเลยคดีนี้แล้วยังมีจำเลยอื่นอีก 8 สำนวนที่ศาลได้เรียกมาสอบถามในเรื่องทำนองเดียวกันนี้ ได้มีการสอบถามในประเด็นตามคำร้องของโจทก์ต่อหน้าคู่ความ จึงไม่มีเหตุผลอันใดที่โจทก์จะมาปฏิเสธในภายหลังโดยอ้างว่ามิได้เคยแถลงต่อศาลดังที่ศาลได้จดบันทึกไว้ การที่โจทก์ไม่ยอมลงลายมือชื่อเพื่อแสดงการรับรู้รายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 7 ตุลาคม 2519ไม่ทำให้รายงานกระบวนพิจารณานั้นเสียไป เพราะศาลได้จดแจ้งเหตุที่ไม่มีลายมือชื่อโจทก์ไว้ในรายงานกระบวนพิจารณานั้นแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 50(2) ที่ศาลอุทธรณ์ฟังรายงานกระบวนพิจารณาดังกล่าวเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ