คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5376/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ว่าตามระเบียบของกรมชลประทานจำเลย การที่จะนำรถยนต์คันเกิดเหตุขับออกไปข้างนอกได้ต้องได้รับอนุญาต จากผู้บังคับบัญชาเสียก่อนก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่ปรากฏว่าผู้บังคับบัญชาคนใดเป็นผู้เก็บกุญแจรถยนต์คันเกิดเหตุที่ท.ต้องนำคำอนุมัติการใช้รถยนต์ไปเสนอแล้วจึงขอรับกุญแจรถยนต์คันเกิดเหตุไปขับรถยนต์คันเกิดเหตุ การที่จำเลยมอบการครอบครองรถยนต์คันเกิดเหตุและกุญแจของรถยนต์คันเกิดเหตุให้ ท.ซึ่งทำให้ท.พร้อมที่จะขับรถยนต์คันเกิดเหตุได้ตลอดเวลาเช่นนี้แสดงว่าจำเลยได้อนุญาตให้ ท.ใช้รถยนต์คันเกิดเหตุแล้ว ดังนั้นที่ ท.ขับรถยนต์คันเกิดเหตุออกจากกรมชลประทานสามเสนไปแล้วไปชน ศ.ตาย แล้วขับรถยนต์คันเกิดเหตุเข้ามากรมชลประทานสามเสนเหมือนเดิม โดยไม่ว่าในการขับรถยนต์คันเกิดเหตุจะเป็นความประสงค์ของ ท.เองหรือพนักงานของกรมชลประทานคนใดของจำเลยก็ตาม ก็ต้องถือว่าจำเลยได้อนุญาตให้ ท.กระทำเช่นนั้นได้ การขับรถยนต์คันเกิดเหตุของ ท.ดังกล่าวจึงถือว่ากระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยแล้ว โจทก์ที่ 1 เพิ่งรู้ว่า ท.เป็นผู้ขับรถยนต์คันเกิดเหตุของจำเลยชนผู้ตายเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2531 โจทก์ที่ 1จึงได้ร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจในวันที่ 28 เมษายน 2531จึงฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสามรู้ถึงการทำละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันที่ 28 เมษายน 2531เมื่อโจทก์ทั้งสามฟ้องคดีนี้ในวันที่ 11 เมษายน 2532จึงไม่เกิน 1 ปี ฟ้องโจทก์ทั้งสามจึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของนางศรีนวล ทองเดช โจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 เป็นบุตรของโจทก์ที่ 1 กับนางศรีนวล จำเลยเป็นนิติบุคคลและเป็นนายจ้างของนายทวียศ โลวาศรี และเป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 2 ง-3130 กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2531 เวลาประมาณ 21 นาฬิกา นายทวียศลูกจ้างจำเลยได้ขับรถยนต์คันดังกล่าวไปตามถนนติวานนท์มุ่งหน้าไปกรมชลประทานปากเกร็ด อันเป็นการกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยนายทวียศขับรถยนต์ด้วยความประมาทโดยขับด้วยความเร็วสูงเป็นเหตุให้ชนนางศรีนวลขณะกำลังเดินข้ามถนนตามทางม้าลายบริเวณประตูที่ห้ากรมชลประทานปากเกร็ด ทำให้นางศรีนวลถึงแก่ความตายส่วนนายทวียศหลบหนีไป จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งสาม ซึ่งมีค่าปลงศพนางศรีนวล 20,000 บาท ค่าโลงศพ 8,000 บาท ค่าสวดอภิธรรม3,000 บาท ค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์ทั้งสาม 1,080,000 บาทรวมเป็นค่าเสียหาย 1,111,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าเสียหายจำนวน 1,111,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ทั้งสาม
จำเลยให้การว่า เหตุที่ผู้ตายถูกรถยนต์ชนเนื่องจากความประมาทเลินเล่อของผู้ตายเอง ผู้ขับรถยนต์ของจำเลยขณะเกิดเหตุไม่ใช่ลูกจ้างกระทำการในทางการที่จ้างของจำเลย ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2531 เวลาประมาณ 18 นาฬิกานายทวียศ โลวาศรี พนักงานขับรถยนต์ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยได้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 2 ง-3130 กรุงเทพมหานคร ของจำเลยออกจากกรมชลประทานสามเสน ซึ่งเป็นสำนักงานของจำเลย และในเวลาประมาณ 21 นาฬิกา ขณะที่นายทวียศขับรถยนต์คันดังกล่าวมาตามถนนติวานนท์ถึงประตูที่ 5 ของกรมชลประทานปากเกร็ดซึ่งเป็นสำนักงานส่วนหนึ่งของจำเลยด้วยนั้น นายทวียศได้ขับรถยนต์คันดังกล่าวด้วยความประมาทเลินเล่อแต่ฝ่ายเดียวชนนางศรีนวล ทองเดช ภริยาของโจทก์ที่ 1 และเป็นมารดาของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ซึ่งกำลังเดินข้ามถนนตรงทางม้าลายหน้าประตูที่ 5 จนนางศรีนวลถึงแก่ความตาย ตามมรณบัตรเอกสารหมาย จ.6 เมื่อขับรถยนต์ชนแล้วนายทวียศได้ขับรถยนต์คันที่เกิดเหตุหลบหนีไป แต่ในเวลาประมาณ 21 นาฬิกาเศษนายทวียศได้ขับรถยนต์คันที่เกิดเหตุเข้ามาเก็บไว้ที่กรมชลประทานสามเสน ในวันรุ่งขึ้นวันที่ 2 เมษายน 2531 นายทวียศได้แจ้งให้นายพิพัฒน์ ธนะภูมิ หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการยานพาหนะของจำเลยว่านายทวียศได้ขับรถยนต์คันเกิดเหตุไปข้างนอกกรมชลประทานสามเสนโดยไม่ได้อนุญาตในวันที่ 4 เมษายน2531 นายทวียศได้ทำบันทึกรายงานการขับรถยนต์คันเกิดเหตุให้นายพิพัฒน์ทราบอีกครั้งหนึ่งตามเอกสารหมาย ล.1 แล้วนายทวียศก็หลบหนีไปสำหรับศพนางศรีนวลนั้น โจทก์ที่ 1ได้ทำการฌาปนกิจที่วัดชลประทานรังสฤษดิ์ อำเภอปากเกร็ดจังหวัดนนทบุรี ขณะเกิดเหตุนางศรีนวลอายุ 37 ปี โจทก์ที่ 1อายุ 39 ปี โจทก์ที่ 2 อายุ 10 ปี โจทก์ที่ 3 อายุ 5 ปี และโจทก์ที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยและพักอยู่ในบ้านพันในกรมชลประทานปากเกร็ดด้วย
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า
1. นายทวียศ โลวาศรี ได้ขับรถยนต์คันเกิดเหตุไปในทางการที่จ้างของจำเลยหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า เมื่อนายทวียศขับรถยนต์คันเกิดเหตุชนนางศรีนวลแล้วได้หลบหนีไป แต่ต่อมาก็ได้ทำบันทึกเอกสารหมาย ล.1 ให้จำเลยไว้แล้วหลบหนีไปอีกการที่นายทวียศมีลูกกุญแจของรถยนต์คันเกิดเหตุ แสดงว่านายทวียศได้ขับรถยนต์คันเกิดเหตุโดยได้รับอนุญาต จากจำเลยแล้วหาใช่เป็นการขับรถยนต์คันเกิดเหตุโดยพลการไม่ เมื่อนายทวียศต้องเข้าเวรประจำรถยนต์คันเกิดเหตุตั้งแต่เวลา 16.30 นาฬิกาถึง 23.30 นาฬิกา จึงอยู่ในระหว่างเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่ให้จำเลย การที่นายทวียศขับรถยนต์คันเกิดเหตุในเวลาดังกล่าวจึงถือได้ว่าได้ขับรถยนต์คันเกิดเหตุไปในทางการที่จ้างของจำเลยแล้ว เห็นว่า นายสาคร ยุติธรรม พยานโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยประจำ อยู่ ที่กรมชลประทานปากเกร็ดเบิกความว่าเมื่อเกิดเหตุแล้วพยานได้สอบถามยามของกรมชลประทานสามเสนถึงเรื่องที่เกิดขึ้นซึ่งได้ความจากยามว่าในคืนเกิดเหตุเวลาประมาณ 21 นาฬิกา รถยนต์คันเกิดเหตุที่นายทวีชัยขับนั้นได้เข้ามาทางประตูของกรมชลประทานสามเสน สภาพของรถยนต์คันเกิดเหตุนั้นกระจกหน้ารถแตก มีเลือดติดอยู่ที่ตัวรถด้านซ้ายข้างหน้าบริเวณป้ายทะเบียนของรถ เมื่อนายทวียศนำรถยนต์คันเกิดเหตุไปขับเช่นนี้จำเลยต้องรับผิดชอบและนายสนัด กานวงศ์พยานโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยประจำอยู่ที่กรมชลประทานปากเกร็ดเบิกความว่า ขณะเกิดเหตุเป็นเวลาประมาณ 21 นาฬิกาและจุดที่เกิดเหตุที่ นางนวลศรีถูกชนเป็นทางม้าลายห่างประตูที่ 5 กรมชลประทานปากเกร็ดที่พยานอยู่เวรประมาณ 30 เมตรและนายอุดร ห้อยยี่ภู่ พยานจำเลยซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายยานพาหนะของจำเลยเบิกความว่า วันเกิดเหตุนายทวียศอยู่เวรประจำรถ แต่เมื่อจะนำรถยนต์คันเกิดเหตุไปขับต้องขอ อนุมัติ ก่อนเมื่อมีคำอนุมัติแล้วจึงจะเอาคำอนุมัตินั้นไปขอรับลูกกุญแจของรถคันเกิดเหตุไปขับรถยนต์คันเกิดเหตุได้ แต่นายทวียศมิได้ปฏิบัติเช่นนั้น และนายพิพัฒน์ ธนะภูมิ พยานจำเลยตำแหน่งหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการยานพาหนะของจำเลยเบิกความว่า ในวันเกิดเหตุนายทวียศอยู่เวรตั้งแต่เวลา 16.30 นาฬิกา ถึง23.30 นาฬิกา ในวันเวลาดังกล่าวนายทวียศได้นำรถยนต์คันเกิดเหตุออกไปขับแล้ว นายทวียศได้รายงานด้วยวาจาให้พยานทราบในวันรุ่งขึ้นถึงการนำรถยนต์คันเกิดเหตุไปขับ ต่อมาเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2531 นายทวียศจึงได้ทำบันทึกเรื่องการขับรถยนต์คันเกิดเหตุเสนอต่อพยานตามบันทึกเอกสารหมาย ล.1 เมื่อทำบันทึกเสนอแล้วนายทวียศก็หายตัวไป จากนั้นจึงมีการสอบสวนเรื่องนี้ขึ้นตามเอกสารหมาย ล.2 และนายประเสริฐ ฤทธิมนต์พยานจำเลยตำแหน่งยามรักษาการณ์ของจำเลยเบิกความว่า ในวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 18 นาฬิกา นายทวียศได้ขับรถคันเกิดเหตุออกจากประตูกรมชลประทานสามเสนไปโดยมีผู้โดยสารนั่งหน้าคู่มากับนายทวียศ ต่อมาเวลาประมาณ 21 นาฬิกา นายทวียศได้ขับรถคันเกิดเหตุเข้าประตูกรมชลประทานสามเสนที่พยานเข้าเวรอยู่นั้นพยานได้ทำบันทึกเรื่องที่นายทวียศขับรถยนต์คันเกิดเหตุเสนอต่อผู้บังคับบัญชาไว้ตามเอกสารหมาย ล.4 เมื่อนำคำเบิกความของพยานโจทก์และพยานจำเลยดังกล่าวมาฟังประกอบเอกสารหมาย ล.1,ล.2 และ ล.4 แล้ว แสดงว่ากรมชลประทานสามเสนได้อนุญาตให้นายทวียศใช้รถยนต์คันเกิดเหตุได้ตลอดเวลาในระหว่างที่นายทวียศเข้าเวรนั้น เพราะหากไม่อนุญาตแล้วนายทวียศจะครอบครองรถยนต์คันเกิดเหตุและมีกุญแจรถยนต์คันเกิดเหตุอยู่ที่ตัวนายทวียศตลอดเวลาได้อย่างไร แม้นายอุดรกับนายพิพัฒน์เบิกความว่า ตามระเบียบแล้วการที่จะนำรถยนต์คันเกิดเหตุขับออกไปข้างนอกได้ต้องได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาเสียก่อนก็ตามแต่ในทางปฏิบัติและตามที่จำเลยนำสืบกลับไม่ปรากฏว่าผู้บังคับบัญชาคนใดเป็นผู้เก็บกุญแจรถยนต์คันเกิดเหตุที่นายทวียศต้องนำคำอนุมัติการใช้รถยนต์ไปเสนอแล้วจึงขอรับกุญแจรถยนต์คันเกิดเหตุไปขับรถยนต์คันเกิดเหตุ การที่จำเลยมอบการครอบครองรถยนต์คันเกิดเหตุและกุญแจของรถยนต์คันเกิดเหตุให้นายทวียศซึ่งทำให้นายทวียศพร้อมที่จะขับรถยนต์คันเกิดเหตุได้ตลอดเวลาเช่นนี้แสดงว่าจำเลยได้อนุญาตให้นายทวียศใช้รถยนต์คันเกิดเหตุแล้ว ดังนั้นที่นายทวียศขับรถยนต์คันเกิดเหตุออกจากกรมชลประทานสามเสนไปแล้วชนนางศรีนวลตายแล้วขับรถยนต์คันเกิดเหตุเข้ามากรมชลประทานสามเสนเหมือนเดิมโดยไม่ว่าในการขับรถยนต์คันเกิดเหตุจะเป็นความประสงค์ของนายทวียศเองหรือพนักงานของกรมชลประทานคนใดของจำเลยก็ตาม ก็ต้องถือว่าจำเลยได้อนุญาตให้นายทวียศกระทำเช่นนั้นได้ การขับรถยนต์คันเกิดเหตุของนายทวียศดังกล่าวจึงถือว่ากระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยแล้ว จำเลยจึงต้องรับผิดในการขับรถยนต์คันเกิดเหตุของนายทวียศที่ขับชนนางศรีนวลภริยาโจทก์ที่ 1 และเป็นมารดาของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 นั้น ที่ศาลล่างทั้งสองฟังว่าโจทก์นำสืบไม่ได้ว่านายทวียศขับรถยนต์คันเกิดเหตุไปเพื่อกิจอันใดตามคำสั่งของใครและเป็นงานในราชการของจำเลย อันเป็นในทางการที่จ้างหรือไม่ จึงฟังไม่ได้ว่านายทวียศกระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
2. ค่าเสียหายของโจทก์ทั้งสามมีเพียงใด ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า จำเลยต้องใช้ให้แก่โจทก์ทั้งสามเป็นเงินจำนวนรวมทั้งสิ้น 565,100 บาท
3. มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายตามคำแก้ฎีกาจำเลยที่ว่าฟ้องโจทก์ทั้งสามขาดอายุความหรือไม่ จำเลยให้การและนำสืบว่า โจทก์ทั้งสามรู้ว่านายทวียศลูกจ้างของจำเลยขับรถยนต์คันเกิดเหตุชนนางศรีนวลผู้ตายตั้งแต่ในวันเกิดเหตุวันที่1 เมษายน 2531 แล้วโดยวันที่ 8 เมษายน 2531 พนักงานสอบสวนยังมิได้มีหนังสือถึงจำเลยให้ส่งตัวนายทวียศและรถคันเกิดเหตุไปให้พนักงานสอบสวนเพื่อทำการสอบสวนอีกด้วย เมื่อโจทก์ทั้งสามฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2532 ซึ่งเกิน 1 ปี แล้วฟ้องโจทก์ทั้งสามจึงขาดอายุความเห็นว่า ตามทางนำสืบของโจทก์ทั้งสามนำสืบโดยโจทก์ที่ 1 เบิกความว่าเมื่อเกิดเหตุแล้วได้ติดตามสืบหาผู้ขับรถยนต์คันเกิดเหตุเมื่อรู้ว่านายทวียศเป็นผู้ขับรถยนต์คันเกิดเหตุของจำเลยแล้วโจทก์ที่ 1 จึงได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนตามบันทึกรายงานประจำวันเอกสารหมาย จ.7 ซึ่งร้อยตำรวจเอกสุธินันท์ วุฒานุสรพยานโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนก็เบิกความว่า โจทก์ที่ 1 ได้ร้องทุกข์ต่อพยานตามบันทึกรายงานประจำวันเอกสารหมาย จ.7 ซึ่งเมื่อฟังคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองปากดังกล่าวประกอบบันทึกรายงานประจำวันเอกสารหมาย จ.7 แล้ว เห็นว่าโจทก์ที่ 1 เพิ่งรู้ว่านายทวียศเป็นผู้ขับรถยนต์คันเกิดเหตุของจำเลยชนผู้ตายเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2531 โจทก์ที่ 1 จึงได้ร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจในวันที่ 28 เมษายน 2531 ตามเอกสารหมาย จ.7นั้น จึงฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสามรู้ถึงการทำละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันที่ 28 เมษายน 2531 เมื่อโจทก์ทั้งสามฟ้องคดีนี้ในวันที่ 11 เมษายน 2532 จึงไม่เกิน1 ปี ฟ้องโจทก์ทั้งสามจึงไม่ขาดอายุความ
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 565,100 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน2532 ซึ่งเป็นวันฟ้องตามที่ขอจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสาม

Share