คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5376/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาเช่าเป็นสัญญาต่างตอบแทนชนิดหนึ่งโดยผู้ให้เช่ามีหนี้ต้องให้ผู้เช่าได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินชั่วระยะเวลาอันมีจำกัด และผู้เช่ามีหนี้จะต้องชำระค่าเช่าเพื่อการนั้น เมื่อผู้เช่าได้ชำระค่าเช่าตามสัญญาแล้วผู้ให้เช่าจึงมีหน้าที่ต้องชำระหนี้ตอบแทน ซึ่งรวมถึงต้องไปจดทะเบียนการเช่าให้ผู้เช่าภายในกำหนดเวลาที่ตกลงกันด้วยการที่ผู้ให้เช่าโอนขายที่ดินที่ให้เช่าให้แก่บุคคลภายนอกไปแม้จะก่อนถึงกำหนดเวลาจดทะเบียนการเช่าจึงเท่ากับผู้ให้เช่าไม่ชำระหนี้ตอบแทนตามสัญญา ผู้ให้เช่าจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาโดยไม่อาจยกประโยชน์แห่งเงื่อนเวลามาอ้างได้ โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ได้ชำระค่าเช่าล่วงหน้าจำนวนเงิน120,000 บาท ให้ ผ. เจ้ามรดกซึ่งเป็นผู้ให้เช่า และเรียกเงินดังกล่าวคืนจากจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ผ.จำเลยให้การต่อสู้ว่าจำเลยได้ชำระเงินดังกล่าวคืนให้โจทก์แล้วจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์อีก ซึ่งศาลชั้นต้นได้ตั้งประเด็นว่า จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์หรือไม่เพียงใด เท่ากับศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นที่ว่าจำเลยคืนเงินค่าเช่าล่วงหน้าดังกล่าวให้แก่โจทก์แล้วหรือไม่รวมเข้าไปด้วยแล้ว ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฟังว่าจำเลยยังไม่คืนเงินค่าเช่าล่วงหน้าให้แก่โจทก์ แล้ววินิจฉัยให้จำเลยคืนเงินค่าเช่าล่วงหน้าให้แก่โจทก์ จึงมิใช่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินของนางผ่องพักตร์สุทธิธรรมโม จำนวน 2 แปลง ค่าเช่าเดือนละ 1,000 บาท โดยมีข้อตกลงว่าหากผู้ให้เช่าผิดสัญญาไม่สามารถส่งมอบที่ดินที่เช่าได้ผู้ให้เช่ายอมคืนเงินค่าเช่าที่ได้รับชำระไว้แล้วและยอมเสียค่าปรับให้ผู้เช่าอีกในอัตราเดือนละ 2,000 บาท จากจำนวนระยะเวลาเช่าที่เหลือ โจทก์ได้ชำระค่าเช่าล่วงหน้าให้นางผ่องพักตร์จำนวน 120,000 บาท ต่อมานางผ่องพักตร์ได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2531 จำเลยได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของนางผ่องพักตร์ ต่อมาเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2532 จำเลยได้ขายที่ดินที่เช่าให้แก่ผู้มีชื่อเป็นเหตุให้โจทก์ไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามสัญญา โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาเช่าและเรียกเงินค่าเช่าคืนแต่จำเลยไม่ยอมคืนทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 122,850 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 120,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จและให้จำเลยเสียค่าปรับเดือนละ 2,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับนางผ่องพักตร์ย่อมไม่ระงับไปเพราะเหตุที่จำเลยโอนขายที่ดินให้แก่บุคคลอื่นเพราะผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าและจำเลยยังไม่ได้โต้แย้งสิทธิทางแพ่งของโจทก์โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ทั้งผู้ที่รับซื้อที่ดินที่โจทก์เช่าก็คือตัวโจทก์เองโดยโจทก์ขอให้โอนใส่ชื่อมารดาของโจทก์ และในวันที่จำเลยรับเงินค่าขายที่ดินจากมารดาโจทก์นั้น โจทก์ได้หักเงินจำนวนค่าเช่าที่ยังไม่ถึงกำหนดคืนไปแล้ว จึงไม่มีหนี้ที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์อีก นางผ่องพักตร์และจำเลยมิได้ผิดสัญญาเช่าเพราะหลังจากทำสัญญาเช่าเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2531นางผ่องพักตร์ได้ส่งมอบที่ดินที่เช่าให้แก่โจทก์ใช้ตามวัตถุประสงค์แห่งการเช่าแล้ว กรณีจะเป็นอย่างไรก็ตามหนี้ตามฟ้องเป็นมรดกของนางผ่องพักตร์จำเลยเป็นเพียงทายาทไม่จำต้องรับผิดเกินมรดกที่ได้รับ นางผ่องพักตร์ไม่มีทรัพย์มรดกเหลือพอชำระหนี้ได้ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 120,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 12 เมษายน 2532อันเป็นวันครบกำหนดตามหนังสือบอกเลิกสัญญาไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ แต่ทั้งนี้จำเลยไม่จำต้องรับผิดเป็นส่วนตัวหรือเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตนได้รับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท จำเลยจึงฎีกาได้แต่เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมายการวินิจฉัยปัญหาเช่นว่านี้ ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนว่าโจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินจากนางผ่องพักตร์ภริยาจำเลย ค่าเช่าเดือนละ 1,000 บาท มีกำหนดระยะเวลาเช่า 20 ปี โจทก์จ่ายค่าเช่าล่วงหน้าให้แก่นางผ่องพักตร์ไป 120,000 บาท กำหนดจะไปจดทะเบียนการเช่าในเดือนพฤษภาคม 2532 แต่นางผ่องพักตร์ได้ถึงแก่ความตายในเดือนธันวาคม 2531 โจทก์ทวงถามให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนางผ่องพักตร์ปฏิบัติตามสัญญาแล้วจำเลยไม่ไปจดทะเบียนการเช่าให้โจทก์ กลับขายที่ดินที่ให้เช่าให้แก่บุคคลภายนอกไปก่อนถึงกำหนดไปจดทะเบียนการเช่าตามที่ตกลงกันดังกล่าว คดีมีปัญหาตามฎีกาจำเลยว่าจำเลยมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า สัญญาเช่าเป็นสัญญาต่างตอบแทนชนิดหนึ่งโดยผู้ให้เช่ามีหนี้ที่ต้องให้ผู้เช่าได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินชั่วระยะเวลาอันมีจำกัดและผู้เช่ามีหนี้ที่จะต้องชำระค่าเช่าเพื่อการนั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่าได้ชำระค่าเช่าตามสัญญาแล้วจำเลยจึงมีหน้าที่ต้องชำระหนี้ตอบแทนซึ่งรวมถึงต้องไปจดทะเบียนการเช่าให้โจทก์ภายในกำหนดดังกล่าวด้วย การที่จำเลยโอนขายที่ดินที่ให้เช่าให้แก่บุคคลภายนอกไป แม้จะก่อนถึงกำหนดเวลาจดทะเบียนการเช่าจึงเท่ากับจำเลยไม่ชำระหนี้ตอบแทนตามสัญญาจำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาโดยไม่อาจยกประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาตามอ้างได้
สำหรับปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาจำเลยที่ว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยในประเด็นที่ว่าจำเลยได้คืนเงินค่าเช่าล่วงหน้าจำนวน120,000 บาท ให้แก่โจทก์แล้วหรือไม่ ไม่ถูกต้องและไม่ตรงกับประเด็นที่พิพาทกันในคดีนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ชำระค่าเช่าล่วงหน้าจำนวนเงิน 120,000 บาท นางผ่องพักตร์เจ้ามรดก และเรียกเงินดังกล่าวคืนจากจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนางผ่องพักตร์ จำเลยให้การต่อสู้ว่าจำเลยได้ชำระเงินดังกล่าวคืนให้โจทก์แล้วโดยโจทก์หักไปในวันที่จำเลยรับเงินค่าขายที่ดินให้มารดาโจทก์ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์อีก ซึ่งศาลชั้นต้นได้ตั้งประเด็นว่าจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด เท่ากับศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นที่ว่าจำเลยคืนเงินค่าเช่าล่วงหน้าดังกล่าวให้แก่โจทก์แล้วหรือไม่รวมเข้าไปด้วยแล้ว ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฟังว่าจำเลยยังไม่คืนเงินค่าเช่าล่วงหน้าให้แก่โจทก์แล้ววินิจฉัยให้จำเลยคืนเงินค่าเช่าล่วงหน้าให้แก่โจทก์ จึงมิใช่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น
พิพากษายืน

Share