คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5373/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่1เป็นผู้นำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่1พอใจราคาตามที่จำเลยที่1สำแดงและเห็นว่าใบเสร็จรับเงินในการเสียภาษีอากรขาเข้าจำนวนเงินตรงกับหลักฐานการนำเข้าจึงตรวจปล่อยสินค้าไปต่อมาโจทก์ที่1ตรวจพบว่าใบเสร็จรับเงินในการเสียภาษีอากรขาเข้าเป็นเอกสารปลอมโดยจำเลยที่6ซึ่งมีจำเลยที่7เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการเป็นผู้ทำปลอมขึ้นและใช้แสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่1ทำให้สำคัญผิดว่าจำเลยที่1ชำระภาษีอากรขาเข้าถูกต้องแล้วจึงตรวจปล่อยสินค้าไปกรณีที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นเรื่องที่รัฐใช้สิทธิฟ้องเรียกเอาค่าภาษีในกรณีที่จำเลยที่1ยื่นใบขนสินค้าสำแดงรายการถูกต้องพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่1รับใบขนสินค้ารับรองเอกสารกับทั้งได้ตรวจสอบสินค้าของจำเลยที่1เป็นที่ถูกต้องแล้วจึงบันทึกตรวจปล่อยส่งมอบสินค้าให้จำเลยที่1รับไปจากอารักขาของโจทก์ที่1กรณีจึงมิใช่จำเลยที่1หลีกเลี่ยงซ่อนเร้นการเสียภาษีหรือไม่ยอมให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเรียกเก็บภาษีอันจะถือว่าเป็นความผิดตามมาตรา27และ99แห่งพระราชบัญญัติ ศุลกากรพ.ศ.2469ส่วนความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอมพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องจำเลยที่1ทั้งไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่2ถึงที่5ดังนั้นคดีนี้จึงมีอายุความ10ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา167เดิม(มาตรา193/31ที่แก้ไขใหม่) แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่าจำเลยที่1ยังมิได้ชำระค่าภาษีอากรให้แก่โจทก์แต่จำเลยที่1และที่3ได้ให้การต่อสู้คดีโดยยกเหตุอายุความขึ้นต่อสู้และคดีฟังได้ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วจำเลยที่1ซึ่งเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลเจ้าของสินค้าและจำเลยที่3หุ้นส่วนผู้จัดการจึงมีสิทธิจะปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้และการที่มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้การที่จำเลยที่1และที่3ยื่นคำให้การต่อสู้เรื่องอายุความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา59(1)ให้ถือว่าทำแทนซึ่งกันและกันจำเลยที่2ที่4และที่5ซึ่งเป็นหุ้นส่วนย่อมได้รับผลแห่งอายุความด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันรับผิดชำระภาษีอากรและเงินเพิ่มจำนวน 387,907.07 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง และร่วมกันชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนจากต้นเงินอากรขาเข้า 109,458.97 บาท เป็นรายเดือนนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การว่า โจทก์นำคดีมาฟ้องเกิน 10 ปีคดีของโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 4 ถึงที่ 7 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 6 และที่ 7ร่วมกันชำระเงินค่าภาษีอากรจำนวน 387,907.07 บาท และเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนจากต้นเงินอากรขาเข้าจำนวน 109,457.97 บาท เป็นรายเดือนนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้นำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2523 ปรากฏตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 18 และ 19พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 พอใจราคาตามที่จำเลยที่ 1สำแดงและเห็นว่าใบเสร็จรับเงินการเสียภาษีอากรขาเข้าตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 26 จำนวนเงินตรงกับหลักฐานการนำเข้าจึงตรวจปล่อยสินค้าไปเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2523 ต่อมามีผู้แจ้งความนำจับว่าจำเลยที่ 1 ลักลอบนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ชำระค่าภาษีอากรขาเข้าโดยการปลอมใบเสร็จรับเงินตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 31 พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1จึงตรวจค้นห้างจำเลยที่ 1 พบเอกสารต่าง ๆ ที่เป็นหลักฐานการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรมีจำเลยที่ 6 เป็นตัวแทนในการผ่านพิธีการทางศุลกากรตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 27 ถึง 30จากการตรวจสอบใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 26 พบว่าเป็นเอกสารปลอม โดยจำเลยที่ 6 ซึ่งมีจำเลยที่ 7 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการเป็นผู้ทำการปลอมขึ้นและใช้แสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ให้เข้าใจผิดว่า จำเลยที่ 1 ชำระภาษีอากรขาเข้าถูกต้องแล้วจึงตรวจปล่อยสินค้าไป ต่อมาจำเลยที่ 1 มีหนังสือตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 46 และ 47 ยืนยันว่าจำเลยที่ 1ไม่มีส่วนร่วมในการปลอมเอกสารของจำเลยที่ 7 แต่เพื่อให้ความร่วมมือกับโจทก์ที่ 1 จำเลยที่ 1 ยินยอมชำระภาษีอากรที่ขาดโดยของดเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ยังไม่ได้ชำระภาษีอากรขาเข้าและเงินเพิ่มตามฟ้องให้แก่โจทก์แล้วพิเคราะห์แล้ว ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์มีว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ต้องรับผิดชำระค่าภาษีอากรแก่โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ข้อแรกว่าพฤติการณ์การกระทำการปลอมใบเสร็จรับเงินการเสียภาษีอากรขาเข้าเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 26 ของจำเลยที่ 6 โดยจำเลยที่ 7เป็นการหลีกเลี่ยงการชำระภาษีอากรให้แก่รัฐ ซึ่งจำเลยที่ 1ในฐานะตัวการผู้นำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรต้องรับผิดในการกระทำดังกล่าวตามนัยมาตรา 820 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และในกรณีการหลีกเลี่ยงอากรนั้นตามนัยมาตรา 10 วรรคสามแห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 กำหนดมิให้ใช้อายุความ 10 ปีคดีนี้จึงถือเป็นความผิดในมูลคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาในความผิดฐานปลอมแปลงเอกสารตามมาตรา 265, 268 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีอายุความ 15 ปี ตามอายุความในคดีอาญาฉะนั้นอายุความในการฟ้องเรียกค่าภาษีอากรของโจทก์ในคดีนี้จึงมีอายุความ 15 ปี มิใช่อายุความ 10 ปี คดีของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความนั้น เห็นว่ากรณีที่ตัวการจะมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการที่ตัวแทนกระทำไปต้องเป็นกรณีที่ตัวแทนได้กระทำตามอำนาจหน้าที่โดยชอบในขอบอำนาจแห่งฐานะตัวแทนแต่ตามข้อเท็จจริงที่ได้จากการนำสืบของโจทก์ปรากฏว่าจำเลยที่ 6โดยจำเลยที่ 7 ตัวแทนกระทำการโดยทุจริตต่อหน้าที่ โดยการปลอมใบเสร็จรับเงินการเสียภาษีอากรขาเข้าและใช้ใบเสร็จรับเงินปลอมอันเป็นการกระทำนอกขอบอำนาจแห่งฐานะตัวแทน ซึ่งจำเลยที่ 1มิได้มีส่วนรู้เห็นด้วย จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดในการกระทำดังกล่าวของตัวแทนแต่อย่างใด ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์อ้างว่าคดีนี้มีอายุความ 15 ปี นั้น เห็นว่ากรณีที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นเรื่องที่รัฐใช้สิทธิฟ้องเรียกเอาค่าภาษีในกรณีที่จำเลยที่ 1 นำสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักร และข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้จากเอกสารและทางนำสืบของโจทก์เองว่า จำเลยที่ 1 ยื่นใบขนสินค้าสำแดงรายการถูกต้อง พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1รับใบขนสินค้า ได้ตรวจสอบ รับรองเอกสารกับทั้งได้ตรวจสอบสินค้าของจำเลยที่ 1 เป็นที่ถูกต้องแล้ว จึงบันทึกตรวจปล่อยส่งมอบสินค้าให้จำเลยที่ 1 รับไปจากอารักขาของโจทก์ที่ 1 ตั้งแต่วันที่13 สิงหาคม 2523 กรณีจึงมิใช่จำเลยที่ 1 หลีกเลี่ยง ซ่อนเร้นการเสียภาษี หรือไม่ยอมให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเรียกเก็บภาษีอันจะถือว่าเป็นความผิดตามมาตรา 27 และ 99 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ส่วนความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอมโจทก์ทั้งสองมีนายสถิตย์ ลีเขาสูง เบิกความเป็นพยานว่าพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องจำเลยที่ 1 ในข้อหาปลอมและใช้เอกสารปลอมทั้งไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5ดังนั้นคดีนี้จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 167 เดิม (มาตรา 193/31 ที่แก้ไขใหม่) แม้ตามเอกสารหมายจ.1 แผ่นที่ 46 และ 47 จำเลยที่ 1 มีเจตนาที่จะทำความตกลงระงับคดีจึงทำหนังสือยื่นต่อผู้อำนวยการกองนิติการของโจทก์ที่ 1ยอมชำระภาษีอากรที่ขาดโดยขอให้งดเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม เอกสารฉบับนี้ลงวันที่ 4 มีนาคม 2534 เป็นการยอมรับสภาพหนี้ของจำเลยที่ 1 ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงและต้องตั้งต้นนับอายุความใหม่นับแต่วันดังกล่าวโดยถืออายุความเดิม เมื่อโจทก์ทั้งสองนำคดีมาฟ้องจำเลยที่ 1 หลังจากเกิน 10 ปี นับจากวันที่จำเลยที่ 1ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้แก่โจทก์ คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ
ในปัญหาตามอุทธรณ์โจทก์ที่ว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จะต้องร่วมกันรับผิดชำระค่าภาษีอากรให้แก่โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่าแม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ยังมิได้ชำระค่าภาษีอากรให้แก่โจทก์แต่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้ให้การต่อสู้คดีโดยยกเหตุอายุความขึ้นต่อสู้และคดีฟังได้ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลเจ้าของสินค้าและจำเลยที่ 3 หุ้นส่วนผู้จัดการจึงมีสิทธิจะปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้ และโดยที่มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ การที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ยื่นคำให้การต่อสู้เรื่องอายุความ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 59(1) ให้ถือว่าจำเลยทำแทนซึ่งกันและกัน จำเลยที่ 2 ที่ 4และที่ 5 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนย่อมได้รับผลแห่งอายุความด้วย จำเลยที่ 2ที่ 4 และที่ 5 จึงมีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้เช่นกัน ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1ถึงที่ 5 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share