แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อประเด็นแห่งคดีคงมีเฉพาะเกี่ยวกับหนี้จำนวนที่โจทก์ฟ้องมิได้รวมถึงหนี้รายอื่นที่จำเลยให้การถึง การที่ทนายโจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยในหนี้รายอื่น โดยโจทก์มิได้ยินยอมด้วย จึงเป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความในหนี้ที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นแห่งคดี ไม่มีผลผูกพันโจทก์ และศาลไม่อาจมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นให้ได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้ จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 โจทก์ย่อมอุทธรณ์ขอให้เพิกถอนเสียได้
โจทก์อุทธรณ์ขอให้เพิกถอนคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 เป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2537 จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 30,000บาท ยอมเสียดอกเบี้ยอัตราชั่งละ 1 บาท ต่อเดือน ชำระดอกเบี้ยทุกวันที่ 9ของเดือน จะชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 9 กรกฎาคม 2537จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามกำหนด คิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่กู้ยืมจนถึงวันฟ้องเป็นเงินจำนวน 12,375 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 42,375 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราชั่งละ 1 บาท ต่อเดือน ของต้นเงินจำนวน 30,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์รวม 5 ครั้ง จำนวน 480,000 บาท30,000 บาท 30,000 บาท 25,000 บาท และ 30,000 บาท โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 4 บาท ต่อเดือน ต่อมาเดือนตุลาคม 2537 โจทก์ตกลงหักกลบลบหนี้กับจำเลย โดยจำเลยโอนรถยนต์หมายเลขทะเบียน 7 ช – 8832 กรุงเทพมหานครให้โจทก์และโจทก์คืนสัญญากู้ยืมเงินทั้ง 5 ฉบับ ให้จำเลย จำเลยโอนรถยนต์ให้โจทก์แล้ว และแจ้งให้โจทก์นำสัญญากู้ยืมเงินทั้ง 5 ฉบับ มาคืน แต่โจทก์บอกว่าฉีกทำลายทิ้งไปแล้ว โจทก์นำเอกสารปลอมมาฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาคดี ทนายโจทก์ และจำเลยเสนอสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อให้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมว่า จำเลยตกลงชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญากู้เงิน 5 ฉบับ ตามเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 1 ถึง 5 โดยฉบับแรกจำเลยโอนรถยนต์หมายเลขทะเบียน 7 ช – 8832 กรุงเทพมหานคร เป็นการชำระหนี้ส่วนอีก 4 ฉบับ จำนวนเงิน 150,000 บาท แบ่งผ่อนชำระเป็นรายเดือน เดือนละ10,000 บาท ชำระทุกวันที่ 1 ของเดือนผ่านทนายโจทก์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม2540 เป็นต้นไป โจทก์จะไม่นำสัญญากู้เงินทั้ง 5 ฉบับ มาฟ้องจำเลยอีก และจะนำต้นฉบับคืน หากจำเลยผิดนัด ยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันที
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้โดยชอบหรือไม่เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินที่จำเลยกู้ยืมโจทก์จำนวน 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยจำเลยให้การว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์รวม 5 ครั้ง แต่จำเลยชำระหมดแล้วประเด็นแห่งคดีคงมีเฉพาะเกี่ยวกับหนี้จำนวนที่โจทก์ฟ้องเท่านั้น หาได้รวมถึงหนี้รายอื่นที่โจทก์มิได้ฟ้อง แต่จำเลยให้การถึงด้วยไม่ การที่ทนายโจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยในหนี้รายอื่นด้วย โดยโจทก์มิได้ยินยอม จึงเป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความในหนี้ที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นแห่งคดี และไม่มีผลผูกพันโจทก์ศาลไม่อาจมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นให้ได้ ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ จึงเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 โจทก์ย่อมขอให้เพิกถอนเสียได้
อนึ่ง โจทก์อุทธรณ์และฎีกาขอให้เพิกถอนคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท ดังนั้นค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาส่วนที่โจทก์เสียเกิน 200 บาท จึงต้องคืนแก่โจทก์
พิพากษากลับ ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและเพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความ ฉบับลงวันที่ 24 กันยายน 2540 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่แล้วมีคำพิพากษาต่อไปตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่ คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาส่วนที่เกิน 200 บาทแก่โจทก์