คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5370/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

มูลหนี้ที่เจ้าหนี้นำมาขอรับชำระหนี้นั้นเนื่องมาจากลูกหนี้ที่ 1 ขอให้เจ้าหนี้ออกหนังสือค้ำประกันผลงานและหนังสือค้ำประกันเงินเบิกล่วงหน้าของบริษัท ฮ. ต่อบริษัท ก. ต่อมาเจ้าหนี้ถูกบริษัท ก. ฟ้องเป็นคดีแพ่งและศาลมีคำพิพากษาให้เจ้าหนี้ซึ่งเป็นจำเลยในคดีแพ่งดังกล่าวรับผิดต่อบริษัท ก. ภายหลังจากศาลมีคำพิพากษาเจ้าหนี้ได้ชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่บริษัท ก. แล้วจึงมายื่นขอรับชำระหนี้ในคดีนี้ ดังนั้นการที่ลูกหนี้ที่ 1 ขอให้เจ้าหนี้ค้ำประกันผลงานและค้ำประกันเงินเบิกล่วงหน้าของบริษัท ฮ. ต่อบริษัท ก. โดยลูกหนี้ที่ 1 รับรองกับเจ้าหนี้ผู้ค้ำประกันว่าถ้าเจ้าหนี้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายอย่างใด ๆ ในการค้ำประกันนั้น ลูกหนี้ที่ 1 จะใช้ค่าเสียหายแก่เจ้าหนี้ผู้ค้ำประกันทั้งสิ้น การรับรองเช่นนี้ไม่ถือว่าเป็นสัญญาค้ำประกันแต่ถือได้ว่าเป็นสัญญาอย่างหนึ่งที่มีผลบังคับได้ในระหว่างเจ้าหนี้ผู้ค้ำประกันกับลูกหนี้ที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ขอให้เจ้าหนี้ออกหนังสือค้ำประกัน เมื่อเจ้าหนี้ต้องเสียหายโดยชำระหนี้แทนบุคคลที่ตนค้ำประกันไปตามคำพิพากษาของศาล เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ที่ 1 ใช้เงินนั้นได้ตามสัญญา เมื่อต่อมาปรากฏว่าลูกหนี้ที่ 1 ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าหนี้จึงนำหนี้ดังกล่าวมาขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้ หนี้ที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้ดังกล่าวจึงเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและไม่ต้องห้ามที่จะขอรับชำระหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 94

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย) ที่ 1 เด็ดขาดเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2545
เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ค่าภาระค้ำประกันจากการที่เจ้าหนี้ออกหนังสือค้ำประกันตามคำขอของลูกหนี้ที่ 1 และเจ้าหนี้ได้ชำระหนี้แทนบุคคลที่ตนค้ำประกันไปตามคำพิพากษา ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าธรรมเนียมในการออกหนังสือค้ำประกันคงค้าง เป็นเงินจำนวน 6,939,385.59 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 104 แล้ว ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วเห็นว่า จำเลยที่ 1 ในคดีแพ่งที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้มีชื่อไม่ตรงกับชื่อของลูกหนี้ที่ 1 ในคดีนี้จึงมิใช่บุคคลคนเดียวกัน ลูกหนี้ที่ 1 ไม่ต้องรับผิดในมูลหนี้ตามคำพิพากษา เห็นควรให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้เสียทั้งสิ้นตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 107 (1)
ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามคำขอรับชำระหนี้หรือไม่ เห็นว่า บริษัทเฮลเปอร์กรุ๊ป จำกัด ลูกหนี้ที่ 1 ขอให้เจ้าหนี้ออกหนังสือค้ำประกันให้รวม 3 ฉบับ ฉบับแรกเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2540 ลูกหนี้ที่ 1 ขอให้เจ้าหนี้ออกหนังสือค้ำประกันผลงานตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างโครงการพีดีไอต่อบริษัทยูไนเต็ดโอโตเซลล์ (ประเทศไทย) จำกัด วงเงิน 3,460,000 บาท ฉบับที่สองเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2542 ลูกหนี้ที่ 1 ขอให้เจ้าหนี้ออกหนังสือค้ำประกันผลงานตามสัญญาจ้างโครงการก่อสร้างโรงพยาบาลกรุงสยาม งวดที่ 17 ถึงที่ 29 ต่อบริษัทโรงพยาบาลกรุงสยาม จำกัด วงเงิน 992,276.66 บาท และฉบับที่สามเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2542 ลูกหนี้ที่ 1 ขอให้เจ้าหนี้ออกหนังสือค้ำประกันเงินเบิกล่วงหน้า ตามสัญญาจ้างโครงการก่อสร้างโรงพยาบาลกรุงสยามต่อบริษัทโรงพยาบาลกรุงสยาม จำกัด วงเงิน 6,159,975.25 บาท ต่อมาเจ้าหนี้ถูกฟ้องต่อศาลแพ่งธนบุรี ในคดีหมายเลขดำที่ 4910/2543 หมายเลขแดงที่ 6532/2544 ระหว่าง บริษัทโรงพยาบาลกรุงสยาม จำกัด โจทก์ บริษัทเฮลเปอร์ คอนสตรัคชั่นแอนด์ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ที่ 1 ธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ จำกัด (มหาชน) ที่ 2 จำเลย ซึ่งศาลมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2544 ให้เจ้าหนี้ซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 ในคดีแพ่งดังกล่าวร่วมรับผิดต่อโจทก์รวมต้นเงิน ดอกเบี้ย และค่าฤชาธรรมเนียม รวมเป็นเงิน 5,982,857.29 บาท ภายหลังจากนั้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2545 เจ้าหนี้ได้ชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่บริษัทโรงพยาบาลกรุงสยาม จำกัด แล้วจึงมายื่นขอรับชำระหนี้ในคดีนี้ ดังนั้น การที่ลูกหนี้ที่ 1 ขอให้เจ้าหนี้ค้ำประกันผลงานและค้ำประกันเงินเบิกล่วงหน้าของบริษัทเฮลเปอร์ คอนสตรัคชั่นแอนด์ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ต่อบริษัทโรงพยาบาลกรุงสยาม จำกัด โดยลูกหนี้ที่ 1 รับรองกับเจ้าหนี้ผู้ค้ำประกันว่าถ้าเจ้าหนี้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายอย่างใด ๆ ในการค้ำประกันนั้น ลูกหนี้ที่ 1 จะใช้ค่าเสียหายแก่เจ้าหนี้ผู้ค้ำประกันทั้งสิ้น การรับรองเช่นนี้ถือได้ว่าเป็นสัญญาอย่างหนึ่งที่มีผลบังคับได้ในระหว่างเจ้าหนี้ผู้ค้ำประกันกับลูกหนี้ที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ขอให้เจ้าหนี้ออกหนังสือค้ำประกัน เมื่อเจ้าหนี้ต้องเสียหายโดยชำระหนี้แทนบุคคลที่ตนค้ำประกันไปตามคำพิพากษาของศาล เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ที่ 1 ใช้เงินนั้นได้ตามสัญญา เมื่อต่อมาปรากฏว่าลูกหนี้ที่ 1 ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าหนี้จึงนำหนี้ดังกล่าวมาขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้ หนี้ที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้ดังกล่าวจึงเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและไม่ต้องห้ามที่จะขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 94
พิพากษาแก้เป็นว่า อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จำนวน 6,335,975.03 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 107 (3), 130 (7) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลล้มละลายกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ.

Share