แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อฟังได้ว่า จำเลยที่ 8 เป็นผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาท โดยไม่ปรากฏในเช็คพิพาททั้งสองฉบับว่า เป็นเช็คค้ำประกันการขายลดเช็คดังที่จำเลยที่ 8 กล่าวอ้าง จำเลยที่ 8 จึงต้องรับผิดชดใช้เงินตามเนื้อความในเช็ค ตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง, 914 ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง ทั้งเช็คพิพาททั้งสองฉบับเป็นเช็คผู้ถือ เมื่อโจทก์มีเช็คดังกล่าวไว้ในครอบครอง โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงโดยชอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 904 การที่จำเลยที่ 8 ต่อสู้ว่า จำเลยที่ 8 ให้จำเลยที่ 6 ขอยืมเช็คพิพาทไปค้ำประกันการขายลดเช็คโดยจำเลยที่ 6 สั่งจ่ายเช็คของตนเองมาเปลี่ยน จำเลยที่ 8 มิได้มีเจตนาให้จำเลยที่ 1 นำไปชำระหนี้แก่โจทก์ เป็นการยกข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันเฉพาะบุคคลระหว่างจำเลยที่ 8 กับจำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นผู้ทรงคนก่อนมาต่อสู้ โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงไม่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 916 ส่วนที่จำเลยที่ 8 อ้างว่า โจทก์ได้รับเช็คพิพาทมาด้วยการคบคิดกันฉ้อฉลกับจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 8 มีหน้าที่นำสืบให้เห็นว่าโจทก์คบคิดกับจำเลยที่ 1 ฉ้อฉลจำเลยที่ 8 อย่างไร จำเลยที่ 8 นำสืบมาเพียงว่า จำเลยที่ 8 ให้จำเลยที่ 6 ยืมเช็คพิพาทไปค้ำประกันการขายลดเช็คโดยจำเลยที่ 6 สั่งจ่ายเช็คของตนเองมาแลกเปลี่ยนเท่านั้น จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังดังที่จำเลยที่ 8 อ้างมา จำเลยที่ 8 ในฐานะผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับย่อมต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทดังกล่าวให้แก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันชำระเงิน 9,238,688.36 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ของต้นเงิน 8,925,442 บาท ให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 2,167,023.96 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,045,200 บาท ให้จำเลยที่ 5 และที่ 6 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 2,092,930.33 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,975,220 บาท ให้จำเลยที่ 7 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 1,673,859.16 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,586,450 บาท และให้จำเลยที่ 8 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 425,686.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 405,500 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 ถึงที่ 7 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 8 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ชำระเงินตามสัญญาขายลดเช็ค 8,925,442 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 465,110 บาท นับแต่วันที่ 10 มกราคม 2540 ของต้นเงิน 387,530 บาท นับแต่วันที่ 13 มกราคม 2540 ของต้นเงิน 398,550 บาท นับแต่วันที่ 16 มกราคม 2540 ของต้นเงิน 331,900 บาท นับแต่วันที่ 20 มกราคม 2540 ของต้นเงิน 465,110 บาท นับแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2540 ของต้นเงิน 546,990 บาท นับแต่วันที่ 8 มกราคม 2540 ของต้นเงิน 512,480 บาท นับแต่วันที่ 14 มกราคม 2540 ของต้นเงิน 422,390 บาท นับแต่วันที่ 17 มกราคม 2540 ของต้นเงิน 493,360 บาท นับแต่วันที่ 22 มกราคม 2540 ของต้นเงิน 669,480 บาท นับแต่วันที่ 14 มกราคม 2540 ของต้นเงิน 477,260 บาท นับแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2540 ของต้นเงิน 439,710 บาท นับแต่วันที่ 6 มีนาคม 2540 ของต้นเงิน 195,500 บาท นับแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2540 ของต้นเงิน 210,000 บาท นับแต่วันที่ 10 มีนาคม 2540 ของต้นเงิน 266,900 บาท นับแต่วันที่ 14 มีนาคม 2540 ของต้นเงิน 297,820 บาท นับแต่วันที่ 19 มีนาคม 2540 ของต้นเงิน 235,010 บาท นับแต่วันที่ 21 มีนาคม 2540 ของต้นเงิน 466,950 บาท นับแต่วันที่ 16 มกราคม 2540 ของต้นเงิน 495,662 บาทนับแต่วันที่ 28 มกราคม 2540 ของต้นเงิน 598,620 บาท นับแต่วันที่3 กุมภาพันธ์ 2540 ของต้นเงิน 549,110 บาท นับแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 4 ร่วมชำระเงินตามเช็ค 2,167,023.96 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 465,110 บาท นับแต่วันที่ 10 มกราคม 2540 ของต้นเงิน 387,530 บาท นับแต่วันที่ 13 มกราคม 2540 ของต้นเงิน 398,550 บาท นับแต่วันที่16 มกราคม 2540 ของต้นเงิน 331,900 บาท นับแต่วันที่ 20 มกราคม2540 ของต้นเงิน 465,110 บาท นับแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (วันที่ 31 ตุลาคม 2540) ต้องไม่เกิน 118,823.96 บาท ให้จำเลยที่ 1 ที่ 5 และที่ 6 ร่วมชำระเงินตามเช็ค 1,975,220 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 546,990 บาท นับแต่วันที่ 8 มกราคม 2540 ของต้นเงิน 512,480 บาท นับแต่วันที่ 14 มกราคม 2540 ของต้นเงิน 422,390 บาท นับแต่วันที่ 17 มกราคม 2540 ของต้นเงิน 493,360 บาท นับแต่วันที่ 22 มกราคม 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 117,710.33 บาท ให้จำเลยที่ 1 และที่ 7 ร่วมชำระเงินตามเช็ค 1,586,450 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 669,480 บาท นับแต่วันที่ 14 มกราคม 2540 ของต้นเงิน 477,260 บาทนับแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2540 ของต้นเงิน 439,710 บาท นับแต่วันที่ 6 มีนาคม 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน87,409.16 บาท และให้จำเลยที่ 1 และที่ 8 ร่วมชำระเงินตามเช็ค 405,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 195,500 บาท นับแต่วันที่25 กุมภาพันธ์ 2540 ของต้นเงิน 210,000 บาท นับแต่วันที่ 10 มีนาคม 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 20,186.20 บาท ให้จำเลยทั้งแปดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์เท่าที่โจทก์ชนะคดีส่วนของตน โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท
จำเลยที่ 8 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 8 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานจำเลยที่ 8 ต่อไป แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ 10,442.50 บาท แก่จำเลยที่ 8
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 8 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1ชำระเงินตามเช็คจำนวน 405,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 195,500 บาท นับแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2540 และของต้นเงิน 210,000 บาท นับแต่วันที่ 10 มีนาคม 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 20,186.20 บาท กับให้จำเลยที่ 8 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์เท่าที่โจทก์ชนะคดีส่วนของตน โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 8 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 4 ร่วมชำระเงินตามเช็ค 2,045,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 465,110 บาท นับแต่วันที่ 10 มกราคม 2540 ของต้นเงิน 387,530 บาท นับแต่วันที่ 13 มกราคม 2540 ของต้นเงิน 398,550 บาท นับแต่วันที่ 16 มกราคม 2540ของต้นเงิน 331,900 บาท นับแต่วันที่ 20 มกราคม 2540 ของต้นเงิน 465,110 บาท นับแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (วันที่ 31 ตุลาคม 2540) ต้องไม่เกิน 118,823.96 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 8 ฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยยื่นคำร้องขอสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ได้เฉพาะในส่วนของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 8 เท่านั้น ต่อมาบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด ยื่นคำร้องของเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ เฉพาะในส่วนของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 8 เท่านั้น ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาต จำเลยที่ 8 ถึงแก่ความตาย ผู้จัดการมรดกของจำเลยที่ 8 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยที่ 8 ไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ต่อมาจดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด โจทก์มอบอำนาจให้นายกิตติพล ฟ้องและดำเนินคดีแทน จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 6 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 5 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายลดตั๋วเงินกับโจทก์ในวงเงิน 10,000,000 บาท จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 นำเช็คมาขายลดกับโจทก์หลายครั้ง แต่เช็คถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินรวม 21 ฉบับ โดยจำเลยที่ 4 สั่งจ่าย 5 ฉบับ เป็นเงินรวม 2,048,200 บาท จำเลยที่ 5 สั่งจ่าย 4 ฉบับ เป็นเงินรวม 1,975,220 บาท จำเลยที่ 7 สั่งจ่าย 3 ฉบับ เป็นเงินรวม 1,586,450 บาท และจำเลยที่ 8 สั่งจ่าย 2 ฉบับ เป็นเงินรวม 405,500 บาท โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยทั้งแปดไม่ชำระ
ที่จำเลยที่ 8 ฎีกาว่า เช็คพิพาทจำเลยที่ 8 ให้จำเลยที่ 6 ขอยืมไปค้ำประกันการขายลดเช็ค มิได้มีเจตนาให้จำเลยที่ 1 นำไปชำระหนี้ให้แก่โจทก์โจทก์จึงไม่ใช่ผู้ทรงเช็คโดยชอบนั้น เห็นว่า คงมีเพียงคำกล่าวอ้างลอย ๆ ของจำเลยที่ 8 เท่านั้น เมื่อฟังได้ว่าจำเลยที่ 8 เป็นผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาท โดยไม่ปรากฏในเช็คพิพาททั้งสองฉบับว่า เป็นเช็คค้ำประกันการขายลดเช็คดังที่จำเลยที่ 8 อ้างมา จำเลยที่ 8 จึงต้องรับผิดใช้เงินตามเนื้อความในเช็ค ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 900 วรรคหนึ่ง, 914 ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง ทั้งเช็คพิพาททั้งสองฉบับเป็นเช็คผู้ถือ เมื่อโจทก์มีเช็คดังกล่าวไว้ในครอบครอง โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงโดยชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 904 ส่วนที่จำเลยที่ 8 อ้างว่า เช็คพิพาทไม่มีมูลหนี้นั้น มาตรา 916 บัญญัติว่า บุคคลทั้งหลายผู้ถูกฟ้องในมูลตั๋วแลกเงินหาอาจจะต่อสู้ผู้ทรงด้วยข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันเฉพาะบุคคลระหว่างตนกับผู้สั่งจ่ายหรือกับผู้ทรงคนก่อน ๆ นั้นได้ไม่ เว้นแต่การโอนจะได้มีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉล ดังนั้น การที่จำเลยที่ 8 ต่อสู้ว่า จำเลยที่ 8 ให้จำเลยที่ 6 ขอยืมเช็คพิพาทไปค้ำประกันการขายลดเช็คโดยจำเลยที่ 6 สั่งจ่ายเช็คของตนเองมาแลกเปลี่ยน จำเลยที่ 8 มิได้มีเจตนาให้จำเลยที่ 1 นำไปชำระหนี้แก่โจทก์นั้น จึงเป็นการยกข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันกันเฉพาะบุคคลระหว่างจำเลยที่ 8 กับจำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นผู้ทรงคนก่อนมาต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงไม่ได้ ส่วนที่จำเลยที่ 8 อ้างว่า โจทก์ได้รับเช็คพิพาทมาด้วยการคบคิดกันฉ้อฉลกับจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า ข้อนี้จำเลยที่ 8 มีหน้าที่นำสืบให้เห็นว่าโจทก์คบคิดกับจำเลยที่ 1 ฉ้อฉลจำเลยที่ 8 อย่างไร ข้อเท็จจริงคงฟังได้ตามที่จำเลยที่ 8 นำสืบมาเพียงว่า จำเลยที่ 8 ให้จำเลยที่ 6 ยืมเช็คพิพาทไปค้ำประกันการขายลดเช็คโดยจำเลยที่ 6 สั่งจ่ายเช็คของตนเองมาแลกเปลี่ยนเท่านั้น จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังดังที่จำเลยที่ 8 อ้างมา จำเลยที่ 8 ในฐานะผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับย่อมต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทดังกล่าวให้แก่โจทก์ ฎีกาของจำเลยที่ 8 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ