คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5368/2537

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

กรมสรรพากรโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสองมาเป็นมรดกของ น.ผู้ค้างชำระภาษีอากรแก่โจทก์ตามเดิม เนื่องจากจำเลยที่ 1ในฐานะผู้จัดการมรดกของ น.ได้โอนที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2ทั้ง ๆ ที่จำเลยทั้งสองรู้ว่า น. เป็นหนี้ค่าภาษีอากรโจทก์อยู่ทำให้โจทก์เสียเปรียบเป็นการฉ้อฉล จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธหนี้ค่าภาษีอากรตามฟ้อง โดยจำเลยที่ 1 ต่อสู้ด้วยว่า น.ไม่ได้ค้างชำระค่าภาษีอากรหรือหนี้ใด ๆ แก่โจทก์ ประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีข้อหนึ่งมีว่า น. เจ้ามรดกค้างชำระหนี้ภาษีอากรต่อโจทก์อันจะทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีหรือไม่ ดังนั้นหากได้ความว่า น.เจ้ามรดกเป็นหนี้ค่าภาษีอากรจริงตามฟ้อง ศาลจึงจะต้องพิจารณาในประเด็นข้ออื่น ๆ ต่อไป หากไม่ได้ความเช่นนี้ศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้อง ประเด็นที่ว่า น. เจ้ามรดกเป็นหนี้ค่าภาษีอากรหรือไม่จึงเป็นสาระสำคัญของคดีถือได้ว่าเป็นคดีที่พิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากรตามมาตรา 7(2) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 อยู่ในอำนาจของศาลภาษีอากร

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อ พ.ศ. 2514 ถึง 2520 นายนิพัทธ์ จิระนครมีรายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ โดยเจตนามุ่งในทางการค้าหากำไรเป็นเงินทั้งสิ้น 9,530,000 บาท โดยไม่ได้จดทะเบียนการค้าและเสียภาษีการค้าให้ถูกต้องตามกฎหมาย เจ้าพนักงานประเมินจึงได้ประเมินเรียกเก็บภาษีการค้าเงินเพิ่มตามมาตรา 89 ทวิเบี้ยปรับตามมาตรา 89 (1) และภาษีบำรุงเทศบาล โดยคำนวณเบี้ยปรับเงินเพิ่มและภาษีบำรุงเทศบาล ถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2520รวมเป็นเงินภาษีการค้าที่นายนิพัทธ์จะต้องชำระทั้งสิ้น1,236,776.64 บาท นายนิพัทธ์ได้รับการแจ้งการประเมินดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2520 ต่อมาวันที่30 มกราคม 2521 นายนิพัทธ์ได้ผ่อนชำระเงินภาษีให้แก่โจทก์หลายครั้งด้วยกัน คงเหลือค้างชำระอีกเพียง 1,227,074.65 บาท และต่อมาเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2522 นายนิพัทธ์ถึงแก่กรรมจำเลยที่ 1 ในฐานะภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นผู้จัดการมรดกจึงต้องรับผิดชำระเงินภาษีดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมเบี้ยปรับเงินเพิ่มและเพิ่มภาษีบำรุงเทศบาล จากจำนวนภาษีที่ค้างตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2520 ถึงวันที่ 24 มีนาคม 2529 เป็นเงินเพิ่ม218,870.87 บาท และเงินภาษีบำรุงเทศบาล 21,887.08 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,467,832.60 บาท โจทก์ทวงถามให้จำเลยที่ 1ชำระหนี้ดังกล่าว จำเลยที่ 1 กลับเพิกเฉย แต่ยอมรับว่านายนิพัทธ์เป็นหนี้ภาษีการค้าโจทก์จริง และจำเลยที่ 1 ไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้แทนได้ จึงยอมให้โจทก์ยึดทรัพย์บางอย่างของนายนิพัทธ์ออกขายทอดตลาด โดยจำเลยที่ 1 เข้าประมูลสู้ราคาด้วยต่อมาเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2526 จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิไม่สุจริตจงใจโอนที่ดินโฉนดตราจองเลขที่ 599 เฉพาะส่วนของนายนิพัทธ์ให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 124,000 บาท ต่ำกว่าราคาปานกลางของที่ดิน โดยจำเลยทั้งสองรู้อยู่แล้วว่าการโอนที่ดินให้แก่กันดังกล่าว ทำให้โจทก์เสียเปรียบ อันเป็นการฉ้อฉลโจทก์ เพราะจำเลยทั้งสองรู้ดีว่านายนิพัทธ์เป็นหนี้ภาษีการค้าโจทก์อยู่ การกระทำของจำเลยทั้งสองมีเจตนาไม่ให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ค่าภาษีดังกล่าวทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองโอนที่ดินกลับคืนมาเป็นทรัพย์มรดกของนายนิพัทธ์ตามเดิมนายนิพัทธ์ไม่มีทรัพย์สินอื่นที่จะชำระหนี้ค่าภาษีได้อีก ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินอันเป็นการฉ้อฉลของจำเลยทั้งสองให้ที่ดินโฉนดตราจองเลขที่ 599 กลับคืนมาเป็นทรัพย์มรดกของนายนิพัทธ์ หากจำเลยทั้งสองไม่ยอมโอน ให้ถือคำสั่งศาลแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยที่ 1 ให้การว่า นายนิพัทธ์ไม่มีรายได้อย่างที่โจทก์กล่าวอ้างและไม่ได้ค้างชำระค่าภาษีหรือหนี้จำนวนใด ๆแก่โจทก์ การคำนวณหรือการประเมินภาษีของโจทก์ไม่ถูกต้อง จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ทั้งจำเลยที่ 1 ไม่เคยได้รับการทวงถามและไม่เคยได้รับใบแจ้งหนี้จากโจทก์ ตลอดจนไม่เคยยอมรับว่านายนิพัทธ์เป็นหนี้โจทก์และไม่เคยยินยอมให้โจทก์ยึดทรัพย์ จำเลยที่ 1 ได้โอนขายที่ดินโฉนดตราจองเลขที่ 599 เฉพาะส่วนของนายนิพัทธ์หนึ่งในสิบเอ็ดส่วนให้แก่จำเลยที่ 2 จริง แต่เป็นการโอนขายโดยสุจริตมีค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนซื้อขายกันถูกต้องตามกฎหมายไม่มีการฉ้อฉลและไม่ทำให้โจทก์เสียเปรียบ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ที่ดินโฉนดตราจองเลขที่ 599 เดิมเป็นของขุนนิพัทธ์จีนนคร เมื่อขุนนิพัทธ์จีนนครได้ถึงแก่กรรม ที่ดินดังกล่าวจึงเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท รวม 11 คน ซึ่งรวมทั้งนายนิพัทธ์และจำเลยที่ 2 ด้วย แต่ต่อมานายนิพัทธ์ถึงแก่กรรมลงอีก จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภรรยาของนายนิพัทธ์ได้รับมรดกในส่วนของนายนิพัทธ์ แต่จำเลยที่ 1 จะขอให้แบ่งที่ดินออกเพียง 4 ส่วนตามผู้ที่มีรายชื่อปรากฏอยู่ในโฉนดที่ดินดังกล่าว จึงเกิดพิพาทกันระหว่างทายาทของขุนนิพัทธ์จีนนครกับจำเลยที่ 1 และมีการนำคดีมาสู่ศาลชั้นต้น ในที่สุดก็ตกลงประนีประนอมยอมความกันได้ โดยจำเลยที่ 1และทายาทของขุนนิพัทธ์จีนนครทุกคนตกลงให้แบ่งที่ดินดังกล่าวออกเป็น 11 ส่วน และทายาทบางคนได้ติดต่อเสนอขายที่ดินทั้งแปลงเพื่อนำเงินมาแบ่งปันกันแต่ไม่มีผู้ซื้อ จนกระทั่งประมาณปลายปี 2526 จำเลยที่ 1 ได้เสนอขายที่ดินเฉพาะส่วนของนายนิพัทธ์ให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 250,000 บาท ทั้งนี้เพราะไม่มีบุคคลภายนอกผู้ใดสนใจซื้อ ราคาที่ซื้อขายกันนั้นเป็นราคาที่สูง การโอนขายกระทำโดยสุจริต ไม่ใช่เป็นการฉ้อฉล ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดตราจองเลขที่599 ตำบลหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ระหว่างจำเลยทั้งสอง หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและให้ยกคำฟ้องโจทก์ แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ต่อศาลที่มีเขตอำนาจภายในอายุความ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า คดีโจทก์เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากรตามพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรพ.ศ. 2528 มาตรา 7 (2) ซึ่งขณะฟ้องคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของแผนกคดีภาษีอากรของศาลแพ่งหรือเป็นคดีแพ่งสามัญเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสองมาเป็นมรดกของนายนิพัทธ์ตามเดิมเนื่องจากจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายนิพัทธ์ได้โอนที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 ทั้ง ๆ ที่จำเลยทั้งสองรู้ว่านายนิพัทธ์เป็นหนี้ค่าภาษีอากรโจทก์อยู่ทำให้โจทก์เสียเปรียบเป็นการฉ้อฉล จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธหนี้ค่าภาษีอากรตามฟ้องโดยจำเลยที่ 1 ต่อสู้ด้วยว่า นายนิพัทธ์ไม่ได้ค้างชำระค่าภาษีอากรหรือหนี้ใด ๆ แก่โจทก์ ประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีข้อหนึ่งจึงมีว่า นายนิพัทธ์เจ้ามรดกค้างชำระหนี้ภาษีอากรต่อโจทก์อันจะทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีหรือไม่ดังนั้นหากได้ความว่านายนิพัทธ์เจ้ามรดกเป็นหนี้ค่าภาษีอากรจริงตามฟ้อง ศาลจึงจะต้องพิจารณาในประเด็นข้ออื่น ๆ ต่อไป หากไม่ได้ความเช่นนั้นศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้อง ประเด็นว่านายนิพัทธ์เจ้ามรดกเป็นหนี้ค่าภาษีอากรหรือไม่ จึงเป็นสาระสำคัญของคดี ถือได้ว่าคดีนี้เป็นคดีที่พิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากร ตามมาตรา 7(2) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 ตามนัยแห่งคำวินิจฉัยของประธานศาลฎีกาที่ 4/2531 ระหว่างกรมสรรพากร โจทก์ นายเสริม วรสิงห์กับพวก จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่าคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจของศาลชั้นต้นนั้น จึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share