คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5366/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้ภาษีมูลค่าเพิ่มจะเป็นภาษีอากรประเมินตาม ป.รัษฎากร มาตรา 77 แต่การที่จำเลยให้สิทธิขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มและขอรับเงินภาษีมูลค่าเพิ่มคืนไปก่อน โดยวางหลักประกันเป็นหนังสือค้ำประกันของธนาคาร ซึ่งโจทก์ได้คืนเงินดังกล่าวให้แก่จำเลยก่อนการตรวจสอบเพื่อคืนภาษี ต่อมาโจทก์แจ้งให้จำเลยนำเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มพิพาทมาเพื่อประเมินสถานะกิจการของจำเลยประกอบการพิจารณาตรวจคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม แล้วจำเลยไม่ไปพบและไม่นำเอกสารดังกล่าวไปให้โจทก์ การที่โจทก์มีหนังสือขอให้จำเลยคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่โจทก์เรียกร้องเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่จำเลยขอรับคืนไปก่อนการตรวจปฏิบัติการเพื่อคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่พิพาทเสร็จสิ้นไม่ใช่การประเมินให้จำเลยเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีไม่จำต้องออกหมายเรียกและมีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มไปยังจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงินจำนวน 7,916,308.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินจำนวน 7,366,823.93 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า จำเลยยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมกับใช้สิทธิขอคืนภาษีที่ชำระเกิน โดยขอรับเงินคืนไปก่อนและให้ธนาคารมีหนังสือค้ำประกันภายในวงเงินที่ขอรับคืนไปซึ่งจำเลยได้รับคืนเงินดังกล่าวไปแล้ว ต่อมาภายหลังหนังสือค้ำประกันสิ้นกำหนดเวลา โจทก์แจ้งให้จำเลยนำหนังสือค้ำประกันฉบับใหม่มาแทนฉบับเดิมแต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์จึงขอเชิญจำเลยมาพบพร้อมนำส่งเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อตรวจสอบความถูกต้องในการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม จำเลยไม่ยอมไปพบและไม่นำเอกสารไปให้ตรวจสอบ โจทก์จึงทวงถามให้ส่งเงิน 7,366,823.93 บาท คืนโจทก์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า แม้ภาษีมูลค่าเพิ่มจะเป็นภาษีอากรประเมินตามมาตรา 77 แห่งประมวลรัษฎากร แต่การที่จำเลยใช้สิทธิขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มและขอรับเงินภาษีมูลค่าเพิ่มคืนไปก่อน โดยวางหลักประกันเป็นหนังสือค้ำประกันของธนาคาร ซึ่งโจทก์ได้คืนเงินดังกล่าวให้แก่จำเลยก่อนการตรวจสอบเพื่อคืนภาษี เมื่อต่อมาโจทก์แจ้งให้จำเลยนำเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มที่พิพาทมาเพื่อประเมินสถานะกิจการของจำเลยประกอบการพิจารณาตรวจคืนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วจำเลยไม่ไปพบและไม่นำเอกสารดังกล่าวไปให้โจทก์ การที่โจทก์มีหนังสือขอให้จำเลยคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่โจทก์เรียกร้องเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่จำเลยขอรับคืนไปก่อนการตรวจปฏิบัติการเพื่อคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่พิพาทเสร็จสิ้น และไม่ใช่การประเมินให้จำเลยเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีไม่จำต้องออกหมายเรียกและมีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มไปยังจำเลย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง และศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นสมควรวินิจฉัยถึงความรับผิดของจำเลยต่อโจทก์ไป โดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาพิพากษาใหม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าภายหลังหนังสือค้ำประกันของธนาคารสิ้นกำหนดเวลา จำเลยไม่ยอมไปพบและไม่นำเอกสารไปให้ตรวจสอบ โจทก์จึงถือว่าจำเลยไม่มีใบกำกับภาษีซื้อมาแสดง ไม่มีสิทธินำภาษีซื้อมาหักจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มและไม่มีสิทธิรับเงินภาษีมูลค่าเพิ่มคืน โจทก์ทวงถามให้จำเลยคืนเงินภายใน 30 วัน นับแต่จำเลยได้รับหนังสือทวงถาม จำเลยได้รับหนังสือทวงถามเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2545 เมื่อครบกำหนดเวลาตามหนังสือทวงถามจำเลยไม่ชำระหนี้จึงตกเป็นผู้ผิดนัด ดังนั้น จำเลยจึงมีหน้าที่คืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้รับไปแก่โจทก์จำนวน 7,366,823.93 บาท พร้อมดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 เมษายน 2545 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์”
พิพากษากลับ ให้จำเลยคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 7,366,823.93 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 เมษายน 2545 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องให้โจทก์ไม่เกิน 549,484.32 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

Share