แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
สิทธิตามสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองยังมีข้อโต้แย้งว่าโจทก์อยู่ในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิตามหนังสือสัญญาเช่าลงวันที่ 7 มกราคม 2537 หรือตามหนังสือสัญญาเช่าลงวันที่ 23 มีนาคม 2537 และโจทก์ยังไม่ยินยอมที่จะส่งมอบที่ดินพิพาทคืนให้แก่จำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองจึงไม่อาจที่จะเข้ายึดถือครอบครองที่ดินพิพาทได้โดยอำนาจของตนเอง การที่จำเลยทั้งสองเข้าไถทำลายต้นอ้อยที่โจทก์เป็นผู้ปลูกได้รับความเสียหาย จึงเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจและไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์และโจทก์มีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ให้โจทก์เช่าที่ดินเนื้อที่ 200 ไร่ มีกำหนดเวลา 5 ปีค่าเช่าปีละ 80,000 บาท โดยจำเลยที่ 2 เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมให้ความยินยอมจำเลยทั้งสองรับค่าเช่าไปแล้วเป็นเงิน 80,000 บาท โจทก์ใช้ที่ดินทำไร่อ้อย และภายหลังได้รังวัดสอบเขตแล้วพบว่าที่ดินมีเนื้อที่เพียง 50 ไร่ ต่อมาจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ จ้าง วานให้นายรุน ทุดปอ นำรถไถบุกรุกเข้าไถทำลายตอพันธุ์อ้อยที่โจทก์ปลูกไว้เสียหายเป็นเนื้อที่48 ไร่เศษ คิดเป็นเงิน 240,000 บาท และยังทำให้โจทก์ไม่ได้รับประโยชน์จากผลผลิตของตอพันธุ์อ้อยเมื่อเจริญเป็นลำต้นที่สามารถตัดขายได้อีก 3 ปี เป็นเงิน 480,000 บาทขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 720,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดิน 200 ไร่ เพื่อใช้เป็นหลักฐานไปขอกู้ยืมเงินจากโรงงานน้ำตาล แต่โจทก์ไม่สามารถกู้ยืมเงินได้และไม่มีเงินพอชำระค่าเช่าที่ดินให้แก่จำเลยทั้งสอง จึงตกลงยกเลิกสัญญาเช่าดังกล่าว ต่อมาโจทก์ขอเช่าที่ดินแปลงเดิมเนื้อที่ 100 ไร่ มีกำหนดเวลา 2 ปี เมื่อครบกำหนดตามสัญญาเช่าจำเลยทั้งสองไม่ประสงค์ให้โจทก์เช่าที่ดินแปลงดังกล่าวอีกต่อไป จึงแจ้งให้โจทก์ขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกจากที่ดินดังกล่าว หลังจากนั้นจำเลยทั้งสองเข้าทำประโยชน์ในที่ดินจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 240,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (1 พฤศจิกายน 2539) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยทั้งสอง โจทก์ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาเช่า ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่า จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ โจทก์เบิกความว่าโจทก์มีสิทธิอยู่ในที่ดินพิพาทตามหนังสือสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.1 ลงวันที่ 7 มกราคม2537 ซึ่งมีกำหนดเวลา 5 ปี และจะครบกำหนดในวันที่ 8 มกราคม 2542 จำเลยทั้งสองแจ้งความกล่าวหาว่าโจทก์บุกรุกที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2539 ตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.3 หลังจากนั้นอีก 1 ถึง 2 วัน จำเลยทั้งสองว่าจ้างรถไถเข้าไถทำลายต้นอ้อยที่โจทก์ปลูกในที่ดินพิพาทในระหว่างที่สัญญาเช่ายังไม่หมดอายุ โจทก์จึงแจ้งความกล่าวหาจำเลยทั้งสอง พนักงานสอบสวนแนะนำให้ฟ้องร้องกันเอง ตามบันทึกคำให้การของร้อยตำรวจเอกชัย โพธิ์ทอง พนักงานสอบสวนเอกสารหมาย จ.13 และต่อมาโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีอาญาต่อศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสองเบิกความว่า โจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทจากจำเลยทั้งสองตามหนังสือสัญญาเช่าเอกสารหมาย ล.2 ลงวันที่ 23 มีนาคม 2537 มีกำหนดเวลา 2 ปี และครบกำหนดวันที่24 มีนาคม 2539 โจทก์อยู่ในที่ดินพิพาทต่อมาภายหลังจากที่สัญญาเช่าสิ้นสุดลงแล้ว จึงเป็นการอยู่โดยไม่มีสิทธิจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง เห็นว่า สิทธิตามสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองยังมีข้อโต้แย้งกันอยู่ว่า โจทก์อยู่ในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิตามหนังสือสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.1 หรือตามหนังสือสัญญาเช่าเอกสารหมายล.2 และโจทก์ยังไม่ยินยอมที่จะส่งมอบที่ดินพิพาทคืนให้แก่จำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองจึงไม่อาจที่จะเข้ายึดถือครอบครองที่ดินพิพาทได้โดยอำนาจของตนเอง การที่จำเลยทั้งสองเข้าไถทำลายต้นอ้อยที่โจทก์เป็นผู้ปลูกได้รับความเสียหาย จึงเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจและไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์และโจทก์มีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน