แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 เป็นพนักงานอัยการผู้ว่าคดี จำเลยที่ 3 เป็นอัยการจังหวัด การที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่ใช้สิทธิอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีอาญาที่โจทก์เป็นผู้เสียหาย เป็นการใช้ดุลพินิจในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145 กำหนดให้อำนาจไว้ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ส่วนการแจ้งผลคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิพากษายกฟ้อง และความเห็นที่ไม่อุทธรณ์นั้นก็ไม่มีกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับกำหนดให้พนักงานอัยการต้องแจ้งให้ผู้เสียหายทราบ การที่จำเลยที่ 3 ไม่แจ้งผลคำพิพากษาและความเห็นที่ไม่อุทธรณ์ให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายทราบถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำโดยผิดกฎหมายเช่นกัน
กรมอัยการจำเลยที่ 1 เป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 ที่ 3 เมื่อจำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่ได้กระทำการอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 ย่อมไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้เสียหายในคดีที่พนักงานอัยการจังหวัดร้อยเอ็ดเป็นโจทก์ฟ้องนายสมโภชน์ โพธิรัตน์ และนางรักเร่ห์ หรืออรดี ศิวฤทธิ์ ได้ร่วมกันยักยอกทรัพย์ของโจทก์ไป ศาลจังหวัดร้อยเอ็ดพิพากษายกฟ้อง จำเลยที่ ๒ เป็นพนักงานอัยการผู้ว่าคดีกระทำโดยประมาทไม่ได้อ่านคำพิพากษาและตัวบทกฎหมายเสนอความเห็นไม่อุทธรณ์คดีดังกล่าวต่อจำเลยที่ ๓ ในฐานะอัยการจังหวัดร้อยเอ็ดและจำเลยที่ ๓ มิได้พิจารณาโดยละเอียดรอบคอบ วินิจฉัยสั่งการไปตามความเห็นของจำเลยที่ ๒ เป็นการประมาทเลินเล่อในการที่สั่งไม่อุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าวและไม่แจ้งผลคำพิพากษากับความเห็นไม่อุทธรณ์ให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายทราบจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ฐานละเมิด และจำเลยที่ ๑ ต้องรับผิดร่วมด้วย ขอให้บังคับจำเลยร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย ๒๗๐,๐๐๐ บาท หรือให้จัดการคืนรถยนต์และเครื่องอุปกรณ์ฉายภาพยนตร์แก่โจทก์ ให้ใช้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในราคาทรัพย์ ๒๗๐,๐๐๐ บาท จนกว่าจะใช้เงินหรือคืนทรัพย์แก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ ๒ ปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องครบถ้วนตามระเบียบแบบแผนของทางราชการและตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายให้ไว้ทุกประการได้ตรวจสอบพยานหลักฐานในคดีและข้อกฎหมายแล้วจึงทำความเห็นไม่อุทธรณ์เสนอต่อจำเลยที่ ๓ จำเลยที่ ๓ ตรวจสำนวนแล้ว เห็นว่าคำพิพากษาของศาลชอบด้วยกฎหมายได้เสนอสำนวนพร้อมด้วยคำสั่งไม่อุทธรณ์ต่อผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นชอบด้วยแล้ว มิได้ประมาทเลินเล่อ พนักงานอัยการไม่มีหน้าที่ต้องแจ้งผลคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ไม่อุทธรณ์ให้ผู้เสียหายทราบ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาว่าการกระทำของจำเลยตามที่โจทก์บรรยายฟ้องเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่
โจทก์กล่าวในคำฟ้องอ้างเหตุที่จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ทำละเมิด ๒ ประการคือ จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ไม่ใช้สิทธิอุทธรณ์ในคดี ที่โจทก์เป็นผู้เสียหายและจำเลยที่ ๓ ไม่แจ้งผลคำพิพากษาและความเห็นที่ไม่อุทธรณ์ให้โจทก์ทราบ เหตุประการแรกที่จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ มีความเห็นไม่อุทธรณ์คัดต้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีที่โจทก์เป็นผู้เสียหายนั้น เห็นว่าเป็นการใช้ดุลพินิจในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ตามที่ประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๔๕ กำหนดให้อำนาจไว้จึงถือไม่ได้ว่าการไม่ใช้สิทธิของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ในคดีดังกล่าวเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ส่วนการแจ้งผลคำพิพากษาและความเห็นที่ไม่อุทธรณ์นั้นก็ไม่มีกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับกำหนดให้พนักงานอัยการต้องแจ้งให้ผู้เสียหายทราบ ฉะนั้นที่จำเลยที่ ๓ ไม่แจ้งผลคำพิพากษาและความเห็นที่ไม่อุทธรณ์ให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีทราบถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำโดยผิดกฎหมายเช่นกัน ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์และพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น จำเลยที่ ๑ เป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ ๒ ที ๓ เมื่อจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ไม่ได้กระทำการอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ ๑ ย่อมไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เช่นกัน
พิพากษายืน