คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5364/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บทบัญญัติ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 218 เป็นเหตุฉกรรจ์ของมาตรา 217 โดยมาตรา 218 บัญญัติให้ผู้กระทำผิดต่อทรัพย์ที่ระบุไว้ในมาตรา 218(1) ถึง (6) ต้องได้รับโทษหนักนั้นดังนั้น การกระทำอันมิได้เป็นความผิดตามมาตรา 217 แม้กระทำต่อทรัพย์ที่ระบุในมาตรา 218 ผู้กระทำย่อมไม่มีความผิดเช่นกัน ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217 บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งว่าการวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่นเป็นความผิด ไม่มีข้อความว่า”หรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย” ก็เป็นความผิดแล้วจะตีความคำว่า “ทรัพย์ของผู้อื่น” ให้รวมถึงทรัพย์ที่ผู้อื่นมีส่วนเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยมิได้ เพราะการตีความบทกฎหมายที่มีโทษทางอาญาจะต้องตีความโดยเคร่งครัด จะขยายความออกไปถึงกรณีที่ไม่ได้ระบุไว้ในตัวบทโดยชัดแจ้งเพื่อให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยมิได้ เพราะขัดต่อหลักความรับผิดของบุคคลในทางอาญาดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 คำฟ้องบรรยายว่า จำเลยวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้เสียหายโดยมิได้ระบุว่าการกระทำของจำเลยน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของบุคคลอื่น อันจะทำให้เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 220 เป็นคำฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) แม้จำเลยมิได้หลงต่อสู้ก็ลงโทษจำเลยในความผิดตามมาตรานี้มิได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2534 เวลากลางวันจำเลยวางเพลิงเผาบ้านเรือนอันเป็นที่อยู่อาศัยของนางเจริญ รัตนภูมิ ผู้เสียหายเป็นเหตุให้โรงเรือนและเครื่องใช้ภายในโรงเรือนถูกเพลิงไหม้ได้รับความเสียหายรวมเป็นเงิน 150,000 บาท ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 218, 220
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 218(1), 220 วรรคสองลงโทษจำคุก 9 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่านางเจริญผู้เสียหายกับจำเลยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายมีบุตรด้วยกัน 5 คนแยกกันอยู่มาเป็นเวลา 10 ปีเศษแต่ยังมิได้จดทะเบียนหย่า ตามวันเวลาเกิดเหตุมีคนร้ายวางเพลิงเผาบ้านของผู้เสียหายซึ่งผู้เสียหายอยู่อาศัยเป็นเหตุให้บ้านและเครื่องใช้ภายในบ้านได้รับความเสียหายคดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า การวางเพลิงเผาทรัพย์ที่ผู้เสียหายมีส่วนเป็นเจ้าของร่วมกับจำเลย เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 218(1) หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าบทบัญญัติ มาตรา 218 เป็นเหตุฉกรรจ์ของมาตรา 217โดยมาตรา 218 บัญญัติให้ผู้กระทำผิดต่อทรัพย์ที่ระบุไว้ในมาตรา 218(1) ถึง (6) ต้องได้รับโทษหนักขึ้น ดังนั้นการกระทำอันมิได้เป็นความผิดตามมาตรา 217 แม้กระทำต่อทรัพย์ที่ระบุในมาตรา 218 ผู้กระทำย่อมไม่มีความผิดเช่นกันเมื่อมาตรา 217 บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งว่าการวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่นเป็นความผิด ไม่มี ข้อความว่า “หรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย” ก็เป็นความผิดแล้ว จะตีความคำว่า”ทรัพย์ของผู้อื่น” ให้รวมถึงทรัพย์ที่ผู้อื่นมีส่วนเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยดังที่โจทก์ฎีกาย่อมมิได้ เพราะการตีความบทกฎหมายที่มีโทษทางอาญาจะต้องตีความโดย เคร่งครัด จะขยายความออกไปถึงกรณีที่ไม่ได้ระบุไว้ในตัวบทโดยชัดแจ้งเพื่อให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยย่อมมิได้เพราะขัดต่อหลักความรับผิดของบุคคลในทางอาญาดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 2
ปัญหาต่อไปตามฎีกาของโจทก์มีว่า การที่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าการกระทำของจำเลยน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น แต่จำเลยมิได้หลงต่อสู้เกี่ยวกับการบรรยายฟ้องของโจทก์ จะลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 220 ได้หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้เสียหาย โดยมิได้ระบุว่าการกระทำของจำเลยน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของบุคคลอื่น อันจะทำให้เป็นความผิดตามมาตรา 220 ย่อมเป็นคำฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) แม้จำเลยมิได้หลงต่อสู้ก็ลงโทษจำเลยในความผิดตามบทกฎหมายมาตรานี้มิได้
พิพากษายืน

Share