คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5363/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงกันตามสัญญาเช่าซื้อว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระเงินใด ๆ จำเลยที่ 1 ยอมให้ผู้แทนหรือลูกจ้างของโจทก์เข้าไปยังสถานที่ของจำเลยที่ 1เพื่อยึดรถยนต์ได้ไม่ว่าโจทก์จะได้บอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1 แล้วหรือไม่ก็ตาม การที่โจทก์ติดตามยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนจากจำเลยที่ 1 จึงเป็นกรณีที่โจทก์สามารถกระทำได้โดยที่ยังมิได้มีการบอกเลิกสัญญากันและต่อมาภายหลังโจทก์จึงได้บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 โดยที่จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายอันเป็นค่าขาดราคารถยนต์แก่โจทก์
เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคแรก โจทก์จึงไม่อาจบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าขาดราคารถยนต์เท่ากับค่าเช่าซื้อที่ยังขาดได้ เพราะจะมีผลเท่ากับบังคับให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญาเช่าซื้อที่เลิกกันไปแล้ว หากโจทก์ยังได้รับความเสียหายในส่วนราคารถยนต์ที่ขาด โจทก์สามารถเรียกได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคท้าย แต่ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกได้นี้คือค่าขาดราคาไปจากราคารถยนต์ที่แท้จริง ไม่ใช่ค่าขาดราคาไปจากราคาตามสัญญาเช่าซื้อ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ไป 1 คัน ในราคา1,239,252.60 บาท ตกลงชำระเป็นงวดรายเดือนโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันและยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 24 ติดต่อกันตลอดมาเกินกว่า 2 งวด สัญญาเช่าซื้อจึงเลิกกันทันที แต่จำเลยที่ 1 ไม่คืนรถยนต์ให้โจทก์ ต่อมาโจทก์ติดตามยึดรถยนต์ได้ในสภาพทรุดโทรม เมื่อนำรถยนต์ออกขายทอดตลาดได้ราคาเพียง 320,000 บาท ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเพราะราคารถยนต์ยังขาดไปจากราคาเช่าซื้ออีก 410,952 บาท และขาดประโยชน์ที่ควรจะได้จากการนำรถยนต์ออกให้บุคคลอื่นเช่า ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 554,952 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาเพราะรถยนต์ที่เช่าซื้อต้องซ่อมบ่อยมาก ทำให้จำเลยที่ 1 ไม่สามารถใช้รถยนต์ได้ตามปกติ จึงได้ส่งมอบรถยนต์คืนโจทก์ก่อนสัญญาเช่าซื้อครบกำหนด สัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกัน โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดราคารถยนต์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 94,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยทั้งสองไม่ได้แก้อุทธรณ์ จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดชำระค่าขาดราคารถยนต์ให้แก่โจทก์หรือไม่ ในปัญหาดังกล่าวเห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า การที่โจทก์รับเอารถยนต์ที่เช่าซื้อคืนไปจากจำเลยที่ 1 นั้นเป็นเรื่องโจทก์ใช้สิทธิติดตามยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือว่าจำเลยที่ 1 ประสงค์ที่จะเลิกสัญญาเช่าซื้อจึงส่งรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ เห็นว่า ตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 5(ก) มีความหมายว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ 2 งวด ติดต่อกันก็ให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะบอกเลิกสัญญาเท่านั้น ไม่อาจถือว่าสัญญาเป็นอันเลิกกันทันทีดังที่โจทก์กล่าวอ้างและเมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้วจึงจะมีสิทธิริบเงินที่จำเลยที่ 1 ได้ชำระให้แก่โจทก์แล้วและกลับเข้าครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อได้ แต่ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาปรากฏว่าโจทก์ยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนจากจำเลยที่ 1 โดยยังไม่ได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเสียก่อนปัญหาว่า โจทก์มีอำนาจกระทำเช่นนี้ได้หรือไม่ เห็นว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้มีข้อตกลงกันไว้ตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 3(ฎ) ว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระเงินใด ๆ ตามสัญญานี้จำเลยที่ 1 ยอมให้ผู้แทนหรือลูกจ้างของโจทก์เข้าไปยังสถานที่ของจำเลยที่ 1 เพื่อยึดรถยนต์ได้ไม่ว่าโจทก์จะได้บอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1 แล้วหรือไม่ก็ตาม ฉะนั้นการที่โจทก์ติดตามยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนจากจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงเป็นกรณีที่โจทก์สามารถกระทำได้โดยที่ยังมิได้มีการบอกเลิกสัญญากันและต่อมาภายหลังโจทก์จึงได้บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 ตามหนังสือบอกเลิกสัญญาเอกสารหมาย จ.6 ส่วนที่จำเลยที่ 1อ้างว่า จำเลยที่ 1 สมัครใจคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่โจทก์ เพราะเครื่องยนต์ขัดข้องบ่อย ๆจึงไม่ประสงค์จะเช่าซื้ออีกต่อไปและได้ติดต่อโจทก์ให้ส่งพนักงานมารับรถยนต์คืนไปนั้นเห็นว่า ข้ออ้างของจำเลยที่ 1 ที่ว่าเครื่องยนต์ของรถยนต์ที่เช่าซื้อขัดข้องบ่อย ๆ ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้แจ้งให้โจทก์ทราบตามข้อตกลงในสัญญาข้อ 3 (ญ) ซึ่งระบุว่าจำเลยที่ 1 จะแจ้งให้โจทก์ทราบเป็นลายลักษณ์อักษรทันทีถ้ารถยนต์ใช้การไม่ได้ดีตามควรหรือได้รับความเสียหายหรือสูญหาย และหากจำเลยที่ 1 ประสงค์ที่จะคืนรถยนต์แก่โจทก์เพื่อเลิกสัญญาเช่าซื้อก็น่าจะกระทำเสียตั้งแต่ตอนแรก ๆ ที่มีการผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ให้เนิ่นนานจนถึง 12 งวด ทั้งการส่งรถยนต์คืนให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1ก็ควรดำเนินการตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 7 โดยบอกกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรให้โจทก์ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน หรือมิฉะนั้นจำเลยที่ 1 ควรจัดทำเอกสารหลักฐานอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นเพื่อการคืนรถยนต์และเลิกสัญญาต่อกัน แต่จำเลยที่ 1 ก็หาได้กระทำการดังกล่าวไม่ อีกทั้งข้ออ้างที่ว่าจำเลยที่ 1 ได้ติดต่อโจทก์ให้ส่งพนักงานมารับรถยนต์คืนไปนั้น จำเลยที่ 1 ไม่มีหลักฐานมาแสดง จึงเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักในการรับฟัง นอกจากนี้หนังสือมอบอำนาจตามเอกสารหมาย ล.1 ที่จำเลยที่ 1อ้างส่งศาลนั้นก็เจือสมและสอดคล้องกับคำพยานโจทก์มากกว่าคำพยานจำเลยที่ 1เพราะได้แสดงถึงขั้นตอนการผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อของจำเลยที่ 1 และการติดตามยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนจากจำเลยที่ 1 เนื่องจากผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อมานานมากแล้ว และหนังสือมอบอำนาจตามเอกสารหมาย ล.1 มิได้มีข้อความแสดงให้เห็นถึงว่า จำเลยที่ 1เป็นฝ่ายติดต่อโจทก์ให้ส่งพนักงานมารับรถยนต์คืนจากจำเลยที่ 1 แต่กลับมีข้อความให้ติดตามเพื่อเอาคืน ยึด เข้าครอบครองหรือรับมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อ ยิ่งกว่านั้นหากจำเลยที่ 1 ประสงค์ที่จะคืนรถยนต์เพื่อเลิกสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์อย่างแท้จริงแล้วในตอนท้ายของหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย ล.1 ก็ไม่น่าจะมีหมายเหตุให้เวลาแก่จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 1 เดือน ข้อเท็จจริงตามพฤติการณ์แห่งคดีจึงน่าเชื่อว่าโจทก์ได้มอบหมายให้พนักงานของโจทก์ไปติดตามยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนจากจำเลยที่ 1 ซึ่งผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อรวม 12 งวดแล้ว และต่อมาโจทก์ก็ได้บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 โดยที่จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญา ฉะนั้น จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายอันเป็นค่าขาดราคารถยนต์แก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 สมัครใจคืนรถยนต์แก่โจทก์เองและโจทก์กับจำเลยที่ 1 ต่างสมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยาย จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าขาดราคารถยนต์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น

ปัญหาต่อไปต้องวินิจฉัยมีว่า ค่าเสียหายในส่วนค่าขาดราคารถยนต์จะมีจำนวนมากน้อยเพียงใดนั้น เห็นว่า เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคแรก โจทก์จึงไม่อาจบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าขาดราคารถยนต์เท่ากับค่าเช่าซื้อที่ยังขาดอยู่ได้ เพราะจะมีผลเท่ากับบังคับให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญาเช่าซื้อที่เลิกกันไปแล้วหากโจทก์ยังได้รับความเสียหายในส่วนราคารถยนต์ที่ขาด โจทก์สามารถเรียกได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคท้าย แต่ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกได้นี้คือ ค่าขาดราคาไปจากราคารถยนต์ที่แท้จริงมิใช่ค่าขาดราคาไปจากราคาตามสัญญาเช่าซื้อ ซึ่งในข้อนี้ข้อเท็จจริงก็ได้ความจากนางสาวน้ำฝน ศิลารัตน์ พยานโจทก์แต่เพียงว่าโจทก์ยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนมาจากจำเลยที่ 1 รถยนต์ได้รับความเสียหายเนื่องจากการใช้โดยปราศจากความระมัดระวังเท่านั้น และในการรับรถยนต์คืนก็ไม่มีการบันทึกเกี่ยวกับสภาพรถยนต์หรือความชำรุดเสียหายของรถยนต์ไว้ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์ต้องเปลี่ยนอะไหล่รถยนต์แต่อย่างใด ประกอบกับเมื่อได้คำนึงถึงว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นรถใหม่ จำเลยที่ 1เป็นผู้ครอบครองรถยนต์แต่ผู้เดียวเป็นเวลา 2 ปีเศษ รวมระยะทางประมาณ 120,000กิโลเมตร ฉะนั้นรถยนต์ที่เช่าซื้อจึงไม่ควรจะขายได้ราคาต่ำกว่า 350,000 บาท และเมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากพยานโจทก์ว่าโจทก์ลงทุนรถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นเงิน 906,542 บาท ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายในส่วนค่าขาดราคารถยนต์ให้เป็นเงิน 50,000บาท เมื่อรวมกับค่าเสียหายอันเป็นค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ 94,800 บาท รวมเป็นเงิน 144,800 บาท ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 144,800 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share