คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5363/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 8ไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรกศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 8 รู้ว่าที่พิพาทอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อจำเลยที่ 8 จ้างจำเลยที่ 1ถึงที่ 7 เข้าไปตัดถาง หญ้าในที่เกิดเหตุ การกระทำของจำเลยที่ 8 จึงเป็นความผิดฐานบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติชั้นอุทธรณ์ จำเลยที่ 8 อุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่มีพยานมาสืบให้เห็นว่า จำเลยที่ 8 เป็นผู้ยึดถือครอบครองถาง ป่าสงวนแห่งชาติ และจำเลยที่ 8 ไม่ทราบว่าที่เกิดเหตุเป็นป่าสงวนแห่งชาติ การที่จำเลยที่ 8 ว่าจ้างจำเลยที่ 1ถึงที่ 7 มาถาง ที่พิพาทโดยเข้าใจว่าที่เกิดเหตุเป็นการปลูกป่าของทางราชการ จึงขาดเจตนากระทำผิด การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนโดยเชื่อตามคำเบิกความและพยานหลักฐานโจทก์ว่าประชาชนทั่วไปทราบดีว่าเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ ถือได้ว่าจำเลยมีเจตนายึดถือครอบครองป่าสงวนแห่งชาติจึงมีความผิดตามฟ้อง จึงเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในสำนวน ดังนั้น ฎีกาของจำเลยที่ 8ที่ว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า ที่เกิดเหตุเป็นป่าสงวนแห่งชาติตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 1,122(พ.ศ. 2528)คลาดเคลื่อน เพราะหลงเชื่อคำเบิกความของพยานโจทก์โดยไม่ได้คำนึงถึงรายละเอียดในกฎกระทรวงซึ่งมิได้ระบุว่าหมู่ที่ 5 ตำบลระบำ อำเภอลานสัก ตามฟ้องเป็นป่าสงวนแห่งชาติ เนื่องจากในอำเภอลานสักคงมีแต่ตำบลลานสักและตำบลป่าอ้อเท่านั้น ย่อมเป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติพ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31, 35 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522 มาตรา 3 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2528 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83ริบของกลาง กับให้จำเลยทั้งแปดและบริวารออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ
จำเลยทั้งแปดไม่ได้ให้การ ถือว่าจำเลยทั้งแปดให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 8 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 วรรคสอง, 35พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522 มาตรา 3พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2528 มาตรา 4ให้จำคุก 3 ปี ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7ให้จำเลยที่ 8 และบริวารของจำเลยที่ 8 ออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติริบของกลาง คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 8 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยที่ 8 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 8 ไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 วรรคแรก ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 8รู้ว่าที่พิพาทอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อจำเลยที่ 8จ้างจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 เข้าไปตัดถาง หญ้าในที่เกิดเหตุ การกระทำของจำเลยที่ 8 จึงเป็นความผิดฐานบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติชั้นอุทธรณ์ จำเลยที่ 8 อุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่มีพยานมาสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 8 เป็นผู้ยึดถือครอบครอง ถาง ป่าสงวนแห่งชาติและจำเลยที่ 8 ไม่ทราบว่าที่เกิดเหตุเป็นป่าสงวนแห่งชาติการที่จำเลยที่ 8 ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 มาถาง ที่พิพาทโดยเข้าใจว่าที่เกิดเหตุเป็นการปลูกป่าของทางราชการ จึงขาดเจตนากระทำผิด การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนโดยเชื่อตามคำเบิกความและพยานหลักฐานโจทก์ว่าประชาชนทั่วไปทราบดีว่าเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ ถือได้ว่าจำเลยมีเจตนายึดถือครอบครองป่าสงวนแห่งชาติจึงมีความผิดตามฟ้อง จึงเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในสำนวน ดังนั้น ฎีกาของจำเลยที่ 8 ที่ว่าศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า ที่เกิดเหตุเป็นป่าสงวนแห่งชาติตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 1, 122 (พ.ศ. 2528) คลาดเคลื่อนเพราะหลงเชื่อคำเบิกความของพยานโจทก์โดยไม่ได้คำนึงถึงละเอียดในกฎกระทรวงซึ่งมิได้ระบุว่า หมู่ที่ 5 ตำบลระบำ อำเภอลานสักตามฟ้องเป็นป่าสงวนแห่งชาติ เนื่องจากในอำเภอลานสักคงมีแต่ตำบลลานสักและตำบลป่าอ้อ เท่านั้น ย่อมเป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรกที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยที่ 8 มาเป็นการมิชอบ ศาลฎีการับวินิจฉัยให้ไม่ได้
พิพากษายกฎีกาของจำเลยที่ 8

Share