คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5358/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้เป็นคดีฟ้องขับไล่จำเลยผู้เช่าออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าตามสัญญาเช่าในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละ10,000บาทแม้โจทก์ทั้งสองจะกล่าวมาในฟ้องด้วยว่าหากโจทก์ทั้งสองจะให้ผู้อื่นเช่าในปัจจุบันจะได้ค่าเช่าไม่น้อยกว่าเดือนละ45,000บาทและโจทก์ทั้งสองใช้เป็นหลักเกณฑ์คำนวณในการเรียกร้องค่าเสียหายไปตามอัตราจำนวน45,000บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากที่ดินพิพาทก็ตามแต่โจทก์ทั้งสองมิได้เรียกร้องค่าเสียหายนี้มาอย่างเอกเทศในข้อหาอื่นหากแต่เรียกร้องมาเป็นส่วนหนึ่งของการฟ้องขับไล่ผู้เช่าออกจากอสังหาริมทรัพย์ตามบทบัญญัติดังกล่าวเท่านั้นคู่ความจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา248วรรคสอง ที่จำเลยฎีกาว่าการที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจเชื่อว่าลายมือชื่อของผู้เช่าในสัญญาเช่าเป็นลายมือชื่อของจำเลยโดยเหตุผลว่าตามสัญญาเช่าจะเขียนคล้ายหมึกต่างสีกันก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาเพราะปากกาที่ใช้เขียนหมึกอาจจะออกมาไม่สม่ำเสมอหรือหมึกหมดแล้วเปลี่ยนด้ามใหม่ก็ได้อันเป็นความเห็นซึ่งโจทก์จำเลยมิได้นำสืบได้จึงเป็นการรับฟังโดยไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนั้นที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยดังกล่าวก็โดยพิจารณาจากพยานหลักฐานในสำนวนซึ่งสามารถตรวจดูด้วยสายตาและศาลอุทธรณ์สามารถใช้ดุลพินิจได้การที่จำเลยฎีกาโต้แย้งดังกล่าวจึงเป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจของศาลอุทธรณ์อันเป็นปัญหาข้อเท็จจริงส่วนที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยได้สร้างอาคารในที่ดินพิพาทและโจทก์ที่1สัญญาจะให้จำเลยเช่าอยู่ต่อไปอีก10ปีหลังจากสัญญาเช่าสิ้นสุดลงสัญญาเช่าที่ดินพิพาทจึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดานั้นคดีนี้ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าข้ออ้างของจำเลยที่ว่าโจทก์ที่1จะให้จำเลยเช่าที่ดินพิพาท10ปีโดยมีค่าตอบแทนอันมีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนนั้นไม่มีน้ำหนักให้รับฟังการที่จำเลยฎีกาว่าพยานหลักฐานของจำเลยฟังได้ว่าโจทก์ที่1ตกลงให้จำเลยเช่าที่ดินพิพาทต่อไปอีก10ปีตามสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าที่มีต่อกันจึงเป็นฎีกาเถียงข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาเป็นปัญหาข้อเท็จจริงฎีกาจำเลยทั้งหมดเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 6763เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2532 จำเลยได้ทำสัญญาเช่าที่ดินตามโฉนดเลขที่ 6763 ของโจทก์ทั้งสองเนื้อที่ 4 ไร่ มีกำหนด 1 ปีนับแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2532 ครบกำหนดวันที่ 5 พฤศจิกายน 2533ค่าเช่าไร่ละ 2,000 บาท เมื่อครบกำหนดตามสัญญาโจทก์ทั้งสองได้บอกเลิกการเช่าและให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปภายใน 30 วัน จำเลยเพิกเฉย โจทก์ทั้งสองอาจนำที่ดินพิพาทให้เช่าได้ค่าเช่าไม่ต่ำกว่าเดือนละ 45,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนโรงงานเลขที่ 60/1 หมู่ที่ 6 แขวงบางบอนเขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร และสิ่งปลูกสร้างอื่นพร้อมขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ทั้งสองดังกล่าวส่งมอบที่ดินคืนในสภาพเรียบร้อย และใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเดือนละ 45,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากที่เช่าและส่งมอบที่ดินคืนแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า เมื่อประมาณปี 2523 จำเลยได้เช่าที่ดินประมาณ 3 ไร่ จากโจทก์ที่ 1 เพื่อปลูกสร้างบ้านและโรงงาน(โรงหล่อ) ค่าเช่าปีละ 4,200 บาท และได้มีการต่อสัญญาเช่าเรื่อยมาจนปี 2531 โจทก์ที่ 1 ปรับปรุงขึ้นค่าเช่าเป็นปีละ15,000 บาท และทำหนังสือสัญญาเช่าตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2531ถึงวันที่ 17 มีนาคม 2532 ระหว่างกำหนดเวลาเช่าดังกล่าวโจทก์ที่ 1ตกลงกับจำเลยว่าโจทก์ที่ 1 ยอมให้จำเลยเช่าที่ดินสร้างโรงงาน(โรงหล่อ) ให้เป็นการถาวรและปลูกสร้างที่อยู่อาศัยในที่เช่าเดิมเพิ่มจาก 3 ไร่ เป็น 5 ไร่ ค่าเช่าปีละ 70,000 บาท กำหนด 10 ปีและเมื่อครบกำหนดการเช่าตามสัญญาเช่าดังกล่าว โจทก์ที่ 1จะจดทะเบียนการเช่าให้โดยจำเลยต้องถมที่ดินให้เต็มเนื้อที่ปลูกสร้างโรงงานและเป็นฝ่ายออกค่าใช้จ่ายฝ่ายเดียว เมื่อครบกำหนด 10 ปี ให้ทรัพย์สินทั้งหมดที่ปลูกสร้างตกเป็นของโจทก์ที่ 1เว้นแต่เครื่องจักรกลที่จำเลยใช้ประกอบวิชาชีพให้จำเลยขนย้ายไปได้จำเลยได้ถมที่ดินเต็มเนื้อที่ 5 ไร่ ปลูกสร้างอาคารเสียค่าใช้จ่ายเป็นเงินประมาณ 3,500,000 บาท และยื่นแบบขออนุญาตการปลูกสร้างโรงงานต่อกระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งทางราชการก็ได้ออกใบอนุญาตให้แล้ว สัญญาระหว่างจำเลยกับโจทก์ที่ 1 จึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่า แม้โจทก์ที่ 1 ไม่ยินยอมจดทะเบียนการเช่าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โจทก์ที่ 1 ก็ไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่ และเรียกค่าเสียหายจากจำเลย ตามสัญญาเช่าที่ดินฉบับลงวันที่ 6 พฤศจิกายน2532 จำเลยไม่เคยทำกับโจทก์ที่ 1 โดยเฉพาะช่องลงชื่อผู้เช่ามิใช่ลายมือชื่อของจำเลย หากใช้สัญญาท้ายคำให้การและฟ้องแย้งเอกสารหมายเลข 1 มาใช้บังคับ คดีโจทก์ที่ 1 ก็ขาดอายุความฟ้องร้องเพราะเกิน 6 เดือน ขอให้ยกฟ้อง และบังคับโจทก์ทั้งสองให้ยินยอมให้จำเลยเช่าที่ดินพิพาทและอยู่อาศัยกำหนด 10 ปีนับแต่วันที่ 17 มีนาคม 2532 ถึงวันที่ 17 มีนาคม 2542ให้โจทก์ทั้งสองไปทำการจดทะเบียนการเช่าที่ดิน ณ สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางขุนเทียน หากโจทก์ทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของโจทก์ทั้งสอง
โจทก์ทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินและต่อสัญญาเช่าปีละครั้งตลอดมา โจทก์ทั้งสองไม่เคยตกลงให้จำเลยเช่าที่ดินพิพาทกำหนด 10 ปี ค่าเช่าปีละ 70,000 บาทและไม่เคยตกลงกับจำเลยว่าเมื่อสิ้นกำหนดเวลาเช่าตามเอกสารหมาย 1ท้ายคำให้การและฟ้องแย้งแล้วโจทก์ที่ 1 จะจดทะเบียนการเช่าที่ดินพิพาทโดยมีข้อตกลงและเงื่อนไขว่าจำเลยต้องถมดินที่เช่าและยกทรัพย์สินที่ปลูกสร้างในที่เช่าให้แก่โจทก์ที่ 1โจทก์ทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อจำเลยตามฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยออกไปจากที่เช่าโฉนดเลขที่ 6763แขวงบางบอน เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร รื้อถอนโรงงานเลขที่ 60/1 หมู่ที่ 6 แขวงบางบอน เขตบางขุนเทียนกรุงเทพมหานคร สิ่งปลูกสร้างอื่นขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินดังกล่าวพร้อมส่งมอบที่ดินคืนแก่โจทก์ทั้งสองในสภาพเรียบร้อยและชำระค่าเสียหายเดือนละ 8,000 บาท นับตั้งแต่วันฟ้อง (7 มีนาคม 2534) ไปจนกว่าจำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทและส่งมอบที่ดินคืนแก่โจทก์ทั้งสอง ยกฟ้องแย้งของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าเสียหายเดือนละ 6,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้เป็นคดีฟ้องขับไล่จำเลยผู้เช่าออกจากอสังหาริมทรัพย์ อันมีค่าเช่าตามสัญญาเช่าปีละ 8,000 บาทซึ่งถือได้ว่ามีค่าเช่าในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละ 10,000 บาทแม้โจทก์ทั้งสองจะกล่าวมาในฟ้องด้วยว่าหากโจทก์ทั้งสองจะให้ผู้อื่นเช่าในปัจจุบันจะได้ค่าเช่าไม่น้อยกว่าเดือนละ 45,000 บาทและโจทก์ทั้งสองใช้เป็นเกณฑ์คำนวณในการเรียกร้องค่าเสียหายไปตามอัตราจำนวน 45,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากที่ดินพิพาท โดยโจทก์ทั้งสองมิได้เรียกร้องค่าเสียหายนี้มาอย่างเอกเทศในข้อหาอื่น หากแต่เรียกร้องมาเป็นส่วนหนึ่งของการฟ้องขับไล่ผู้เช่าออกจากอสังหาริมทรัพย์ตามบทบัญญัติดังกล่าวเท่านั้น คู่ความจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคสองที่จำเลยฎีกาในข้อแรกว่า การที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจเชื่อว่าลายมือชื่อของผู้เช่าในเอกสารหมาย จ.3 เป็นลายมือชื่อของจำเลยโดยเหตุผลว่าตามสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.3 จะเขียนคล้ายหมึกต่างสีกันก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาเพราะปากกาที่ใช้เขียนหมึกอาจจะออกมาไม่สม่ำเสมอหรือหมึกหมดแล้วเปลี่ยนด้ามใหม่ก็ได้อันเป็นความเห็นซึ่งโจทก์จำเลยมิได้นำสืบไว้ จึงเป็นการรับฟังโดยไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนั้น เห็นว่าที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยดังกล่าวก็โดยพิจารณาจากพยานหลักฐานในสำนวนซึ่งสามารถตรวจดูด้วยสายตาและศาลอุทธรณ์สามารถใช้ดุลพินิจได้การที่จำเลยฎีกาโต้แย้งดังกล่าวจึงเป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ อันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ส่วนที่จำเลยฎีกาข้อต่อไปว่า จำเลยได้สร้างอาคารในที่ดินพิพาทและโจทก์ที่ 1สัญญาจะให้จำเลยเช่าอยู่ต่อไปอีก 10 ปี หลังจากสัญญาเช่าสิ้นสุดลงสัญญาเช่าที่ดินพิพาทจึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดานั้น เห็นว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าข้ออ้างของจำเลยที่ว่าโจทก์ที่ 1 จะให้จำเลยเช่าที่ดินพิพาท10 ปี โดยมีค่าตอบแทนอันมีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนนั้นไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง การที่จำเลยฎีกาว่าพยานหลักฐานของจำเลยฟังได้ว่าโจทก์ที่ 1 ตกลงให้จำเลยเช่าที่ดินพิพาทต่อไปอีก 10 ปีตามสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าที่มีต่อกัน จึงเป็นฎีกาเถียงข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาเป็นปัญหาข้อเท็จจริงฎีกาจำเลยทั้งหมดเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคสองศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายกฎีกาจำเลย

Share