คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1505/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บริษัทโจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลที่เมืองไซ่ง่อน ประเทศสาธารณรัฐเวียตนาม และประธานกรรมการบริษัทโจทก์ได้มอบอำนาจให้ผู้จัดการสาขาบริษัทของโจทก์ซึ่งมีสาขาอยู่ที่ประเทศไทย มีอำนาจดำเนินการปฏิบัติแทนและในนามของบริษัทในเรื่องการสัมพันธ์ติดต่อรัฐบาลไทย เจ้าหน้าที่และบริษัทเอกชน สำนักงานหนังสือพิมพ์ และสาธารณชนทั่วไปได้ ดังนั้น เมื่อต่อมาจำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างสาขาบริษัทโจทก์ในประเทศไทยทำหน้าที่พนักงานขายตั๋วโดยสารเครื่องบินแล้ว ไม่นำเงินค่าตั๋วส่งให้สาขาบริษัทโจทก์ ผู้จัดการสาขาบริษัทโจทก์ในประเทศไทยย่อมมีอำนาจร้องทุกข์หรือมอบอำนาจให้ผู้อื่นไปร้องทุกข์แทนได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัท จำกัด อยู่ที่ประเทศสาธาณรัฐเวียตนาม นายเหงียน ตัน ตรุง ประธานกรรมการบริษัทที่มีอำนาจกระทำการใด ๆ แทนบริษัทได้ และโจทก์มีสำนักงานหรือตัวแทนอยู่ที่ประเทศไทย นายตรัน วัน ลาย เป็นผู้จัดการมีอำนาจกระทำการใด ๆ ในประเทศไทยแทนบริษัทโจทก์ได้ จำเลยเป็นลูกจ้างและมีหน้าที่จัดการทรัพย์สินของโจทก์ โดยจัดการจำหน่ายตั๋วเครื่องบินและเก็บเงินค่าโดยสารส่งให้บริษัทโจทก์ แต่จำเลยกลับยักยอกเอาเงินค่าโดยสารเครื่องบินของบริษัทโจทก์ไปเป็นของจำเลยโดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒,๓๕๓
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว มีคำสั่งประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่า ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.๓ และคำแปลเอกสารหมาย จ.๔ มิได้อนุญาตให้นายตรัน วัน ลาย ผู้จัดการบริษัทของโจทก์ในกรุงเทพฯ ร้องทุกข์และดำเนินคดีทางศาล คดีโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๖ ไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่น พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ตามเอกสารหมาย จ.๓ และ จ.๔ ซึ่งเป็นคำแปลนายตรัน วัน ลาย ผู้จัดการบริษัทของโจทก์มีอำนาจร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งได้รับการร้องทุกข์ไว้แล้วปรากฏตามเอกสาร จ.๑๕ การที่นายตรัน วัน ลาย มอบอำนาจให้นายประพันธ์ เอี่ยมนิรัตน์ เจ้าหน้าที่ของบริษัทไปแจ้งความร้องทุกข์จึงชอบแล้ว คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๕(๓) และมาตรา ๙๖ แต่ศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ ตามรูปคดี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า บริษัทโจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลที่เหมืองไซ่ง่อน ประเทศสาธารณรัฐเวียตนาม มีนายเหงียน ตัน ตรัน เป็นประธานกรรมการบริษัท บริษัทโจทก์ได้มีสาขาที่ประเทศเขมร ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย และลาว นายตรัน วัน ลาย เป็นผู้จัดการเขตเฉพาะในประเทศไทย เขมร และลาว และเป็นผู้จัดการสำนักงานในประไทย ประธานกรรมการบริษัทโจทก์ได้มอบอำนาจให้นายตรัน วัน ลาย ดังปรากฏหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ. ๓ และคำแปรเอกสารหมาย จ. ๔ จำเลยเป็นลูกจ้างบริษัทโจทกทำหน้าที่พนักงานขายตั๋วโดยสารเครื่องบินเมื่อขายแล้วต้องส่งมอบเงินให้บริษัทโจทก์ ระหว่างวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๑๖ ถึงวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๑๖ จำเลยได้รับตั๋วโดยสารเครื่องบินไปจำหน่ายหลายคราวครั้นวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๑๗ ได้ตรวจพบว่า จำเลยนำตั๋วโดยสารเครื่องบินไปจำหน่ายแล้วไม่ได้นำเงินค่าตั๋วส่งให้บริษัทโจทก์เป็นเงินทั้งสิ้น ๓๔,๓๘๐ บาท นายตรัน วัน ลาย ผู้จัดการบริษัทโจทก์ทราบเรื่องจึงทำหนังสือมอบอำนาจให้นายประพันธ์ เอีอมนิรัตน์ สมุห์บัญชีบริษัทไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางรัก เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๑๗ กล่าวหาว่า จำเลยยักยอก
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.๓ และคำแปลเอกสารหมาย จ.๔ มีความดังนี้ “โดยหนังสือมอบอำนาจฉบับนี้ ข้าพเจ้าประธานแอร์เวียดนาม บริษัทซึ่งได้ก่อตั้งขึ้นในสาธารณรัฐเวียดนาม มีสำนักงานจดทะเบียนอยู่เลขที่ ๑๑๖ ได โล เหงียน หัว ไซง่อน ขอมอบอำนาจให้นายตรัน วัน ลาย ผู้จัดการเขตแอร์เวียตนามในกรุงเทพฯ ให้ดำเนินการปฏิบัติแทนข้าพเจ้าและในนามของบริษัทในเรื่องการสัมพันธ์ติตต่อรัฐบาลไทย เจ้าหน้าที่และบริษัทเอกชน สำนักงานหนังสือพิมพ์และสาธารณชนทั่วไป การที่นายตรัน วัน ลาย ทำหนังสือมอบอำนาจให้นายประพันธ์ เอี่ยมนิรัตน์ ไปแจ้งความร้องทุกข์จึงชอบแล้ว คดีโจทก์ ไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๖ เพราะบริษัทโจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดเมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๑๗ คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๑๐/๒๕๑๕ ที่จำเลยอ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share