คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5356/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 กับพวกปลอมหนังสือเดินทางและเช็คเดินทางรวม 12 ฉบับ แล้วแยกนำไปใช้แสดงต่อเจ้าหน้าที่ธนาคารต่าง ๆ รวม 4 ธนาคารในคราวเดียวกันในแต่ละธนาคาร โดยมีเจตนาเพียงประการเดียวเพื่อฉ้อโกงเงินจากธนาคารแต่ละธนาคารด้วยการขอแลกเงินตามเช็คเดินทาง ปลอมนั้นให้ได้ ความผิดข้อหาปลอมหนังสือเดินทางและเช็คเดินทางกับใช้เอกสารปลอมดังกล่าวแต่ละครั้งในแต่ละธนาคาร จึงเป็นกรรมเดียวกันกับความผิดฐานฉ้อโกงอันเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษข้อหาใช้เช็คเดินทางปลอมซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด แต่จำเลยที่ 1ได้ใช้เช็คเดินทางปลอมดังกล่าวที่ธนาคารต่าง ๆ รวม 4 ธนาคารการกระทำความผิดในส่วนนี้จึงเป็นความผิดหลายกรรมรวม 4 กรรม.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓, ๘๓, ๙๐, ๙๑,๑๘๘, ๒๖๔, ๒๖๖, ๒๖๘, ๓๓๕, ๓๔๑, ๓๔๒, ๓๕๗ ริบของกลางทั้งหมด ยกเว้นเงินสดซึ่งผู้เสียหายได้รับคืนไปแล้ว และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้เงินสดที่ฉ้อโกงซึ่งยังไม่ได้รับคืนให้แก่ผู้เสียหาย
จำเลยที่ ๑ ให้การรับสารภาพตามฟ้อง เฉพาะข้อหาลักทรัพย์หรือรับของโจร รับว่ากระทำความผิดฐานลักทรัพย์
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๘๘, ๒๖๔, ๒๖๖, ๒๖๘, ๓๓๕, ๓๔๑, ๓๕๒ สำหรับความผิดตามมาตรา ๑๘๘ กับมาตรา ๓๓๕ เป็นกรรมเดียวให้ลงโทษตามมาตรา ๓๓๕ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุก ๔ ปี ส่วนความผิดตามมาตรา ๒๖๔, ๒๖๖, ๒๖๘, ๓๔๑,๓๔๒ เป็นกรรมเดียวกันกันให้ลงโทษบทหนักตามมาตรา ๒๖๘ ประกอบกับมาตรา ๒๖๖ จำคุก ๔ ปี รวมให้จำคุก ๘ ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก๔ ปี ของกลางริบ ให้จำเลยที่ ๑ คืนหรือใช้เงินสดแก่ผู้เสียหาย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๘๘, ๒๖๔ วรรคหนึ่ง, ๒๖๖(๔), ๒๖๘ วรรคหนึ่ง,๓๓๕ วรรคหนึ่ง(๗) และวรรคสอง (ที่ถูกเป็น ๓๓๕(๑) (๗) วรรคสาม),๓๔๑, ๓๔๒(๒) ประกอบด้วยมาตรา ๘๓ ความผิดตามมาตรา ๑๘๘ และ๓๓๕ วรรคหนึ่ง (๗) (ที่ถูกเป็นมาตรา ๓๓๕(๑) (๗) วรรคสาม) เป็นกรรมเดียวให้ลงโทษตามมาตรา ๓๓๕ วรรคสอง (ที่ถูกเป็นมาตรา ๓๓๕(๑)(๗) วรรคสาม) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ ความผิดตามมาตรา ๒๖๔ วรรคหนึ่ง,๒๖๖(๔), ๒๖๘ วรรคหนึ่ง, ๓๔๑ และ ๓๔๒(๑) เป็นกรรมเดียว ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๖๘ วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา ๒๖๖(๔) ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า คดีมีปัญหาตามฎีกาโจทก์ว่าการกระทำของจำเลยที่ ๑ ในข้อหาปลอมหนังสือเดินทาง ใช้หนังสือเดินทางปลอมกับข้อหาปลอมเช็คเดินทาง และใช้เช็คเดินทางปลอมเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกัน พิเคราะห์แล้วได้ความว่าการกระทำความผิดของจำเลยที่ ๑ ดังกล่าว โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับปัญหานี้ว่า จำเลยที่ ๑ กับพวกได้ปลอมหนังสือเดินทางและเช็คเดินทางรวม ๑๒ ฉบับ แล้วนำหนังสือเดินทางปลอมและเช็คเดินทางปลอมดังกล่าว๔ ฉบับแรก ไปใช้แสดงต่อนายทนงสิทธิ์ จารุสัจัจานนท์ เจ้าหน้าที่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด ประจำสำนักงานแลกเปลี่ยนเงินนานาใต้ ๒ ฉบับต่อมาไปใช้แสดงต่อนางยุวดี เมฆรักเสรี เจ้าหน้าที่ธนาคารกรุงเทพจำกัด สาขาบางกะปิ ๓ ฉบับต่อมาไปใช้แสดงต่อนายชัยพร ศิริสัวสดิ์เจ้าหน้าที่ธนาคารทหารไทย จำกัด ประจำตู้แลกเปลี่ยนเงินโรงแรมแลนด์มาร์ค และ ๓ ฉบับสุดท้ายไปใช้แสดงต่อนายพีระชาติ บุญมาเจ้าหน้าที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด ประจำสำนักงานแลกเปลี่ยนเงินธนาคารกรุงไทย จำกัด นานาเหนือ ซึ่งเป็นการใช้ในคราวเดียวกันในแต่ละธนาคารโดยมีเจตนาเพียงประการเดียวคือเพื่อฉ้อโกงเงินจากธนาคาร โดยขอแลกเงินตามเช็คเดินทางปลอมนั้นให้ได้ ศาลฎีกาเห็นว่าการกระทำความผิดในข้อหาปลอมหนังสือเดินทาง ปลอมเช็คเดินทางและใช้เอกสารปลอมดังกล่าวของจำเลยที่ ๑ แต่ละครั้งในแต่ละธนาคารนี้เป็นความผิดกรรมเดียวกันกับความผิดฐานฉ้อโกงอันเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษในข้อหาใช้เช็คเดินทางปลอมซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ แต่จำเลยที่ ๑ได้ใช้เช็คเดินทางปลอมดังกล่าว ณ ที่ธนาคารต่าง ๆ รวม ๔ ธนาคารการกระทำความผิดของจำเลยที่ ๑ ในส่วนนี้จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๖๔ วรรคแรก, ๒๖๖(๔), ๒๖๘ วรรคแรก, ๓๔๑ และ ๓๔๒(๑)เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามมาตรา ๒๖๘วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา ๒๖๖(๔) ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ อีกกรรมหนึ่ง รวมจำเลยที่ ๑ กระทำความผิดในส่วนนี้ ๔ ครั้ง เป็นความผิด ๔ กรรม วางโทษจำคุกกระทงลง ๔ ปีรวม ๑๖ ปี และเมื่อรวมกับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕(๑) (๗)วรรคสามแล้ว รวมเป็นจำคุกจำเลยที่ ๑ มีกำหนด ๒๐ ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา นับเป็นเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ ๑มีกำหนด ๑๐ ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share