คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 743/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่ผู้ตายเอาเบียร์จากโต๊ะของจำเลยที่ 1 ไปดื่มโดยพลการ จนผู้ตายและจำเลยที่ 1 ทะเลาะกัน เมื่อ ป.เข้าห้าม ผู้ตายก็เดินไปทางปากซอยส่วนจำเลยที่ 1กลับไปนั่งดื่มเบียร์ต่อที่โต๊ะ แต่ผู้ตายยังไม่ยอมเลิกแล้วต่อกันกลับไปท้าท้ายจำเลยที่ 1 ให้ชกต่อยกันอีกจึงถือได้ว่าจำเลยทั้งสองถูกผู้ตายข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้มีดแทงผู้ตายในเวลาเกี่ยวเนื่องใกล้ชิดกันจึงเป็นการกระทำผิดโดยบันดาลโทสะ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72 การกระทำผิดโดยบันดาลโทสะต้องพิจารณาว่า ขณะนั้นโทสะของผู้กระทำผิดหมดสิ้นไปแล้วหรือหาไม่ โดยพิจารณาจากพฤติการณ์อื่นประกอบ การที่จำเลยทั้งสองบันดาลโทสะจึงวิ่งไล่แทงผู้ตาย และจำเลยที่ 2 แทงผู้ตายได้ในที่สุดเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องกันย่อมแสดงว่าขณะผู้ตายหนีต่อไปไม่ได้และใช้โต๊ะขึ้นกันนั้นโทสะของจำเลยทั้งสองยังไม่หมดสิ้นไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 พาอาวุธมีดปลายแหลม 1 เล่มติดตัวไปในเมืองและทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร และจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันใช้อาวุธมีดดังกล่าวแทงประทุษร้ายนายณัฐพงศ์ แซ่ก๊วยหลายครั้งโดยเจตนาฆ่า เป็นเหตุให้นายณัฐพงษ์ถึงแก่ความตายขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 83, 371, 91, 33และริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 288 วางโทษจำคุกตลอดชีวิตจำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371อีกกระทงหนึ่งให้ปรับ 90 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสาม เปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นจำคุก 50 ปี ตามมาตรา 53 คงจำคุกคนละ 33 ปี 4 เดือนและปรับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 60 บาท ริบของกลาง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 83 ประกอบด้วยมาตรา 72 ลงโทษจำคุกคนละ 6 ปี คำให้การของจำเลยทั้งสองในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกคนละ 4 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยโจทก์และจำเลยมิได้ฎีกาโต้แย้งว่าตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุที่โจทก์ฟ้อง จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้มีดพกปลายแหลมเป็นอาวุธแทงทำร้ายผู้ตายโดยเจตนาฆ่าคมมีดถูกผู้ตายมีบาดแผลที่ท้องด้านซ้ายที่ขอบหน้าเชิงกรานซ้ายและที่หน้าต้นขาขวาถึงแก่ความตายในเวลาต่อมามีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้มีดพกปลายแหลมแทงผู้ตายโดยบันดาลโทสะหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้กระทำผิดโดยบันดาลโทสะเห็นว่า นายประยุทธหรือเล็กมานุชานนท์ พยานโจทก์เบิกความว่า ในวันเกิดเหตุเวลา 2 ทุ่มเศษขณะพยานนั่งรอนางสาวต่ายคนรักอยู่ในร้านขายอาหารไม่มีชื่อในซอยเกิดเหตุระหว่างนั้นจำเลยทั้งสองนั่งดื่มเบียร์อยู่ที่โต๊ะติดกัน ประมาณ 10 นาที ผู้ตายเดินมาจากทางปากซอยแล้วเข้าไปหยิบเบียร์จากโต๊ะของจำเลยที่ 1 ไปดื่ม จึงเกิดปากเสียงกับจำเลยที่ 1 พยานเข้าห้ามผู้ตายเดินออกจากร้านขายอาหารไปบริเวณสามแยก มีจำเลยที่ 1 เดินตามออกไปแล้วผู้ตายกับจำเลยที่ 1 ทะเลาะกันอีก พยานจึงเดินไปห้าม จากนั้นผู้ตายเดินข้ามถนนซอยไปอีกฟากหนึ่ง ส่วนจำเลยที่ 1 เดินกลับไปดื่มเบียร์ต่อที่โต๊ะ หลังจากนั้นพยานก็ไปส่งนางสาวต่ายคนรักในชั้นสอบสวนนายประยุทธให้การทำนองเดียวกับที่เบิกความดังกล่าวข้างต้น แต่มีรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาว่า ในวันเกิดเหตุเวลา 20.45 นาฬิกา พยานนั่งรอนางสาวต่ายอยู่ในร้านขายอาหารตรงข้ามกับร้านขายข้าวต้มครั้นเวลาประมาณ 21 นาฬิกา จำเลยทั้งสองไปนั่งดื่มเบียร์ หลังจากนั้นประมาณ 10 นาที ผู้ตายเดินเข้าไปรินเบียร์ของจำเลยที่ 1 ดื่มจึงเกิดปากเสียงและทำท่าจะชกต่อยกันพยานเข้าห้าม ดังนี้ เชื่อได้ว่าคำให้การชั้นสอบสวนของนายประยุทธเกี่ยวกับเวลาในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากกว่าที่เบิกความต่อศาล เพราะนายประยุทธให้การต่อพนักงานสอบสวนในคืนเกิดเหตุย่อมจะจำเหตุการณ์ต่าง ๆได้แม่นยำกว่าที่มาเบิกความซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากวันเกิดเหตุถึง 1 ปีเศษ นอกจากนี้นางสาวสายสุนี ร่าเริงรัมย์ และนางสาวสุภาพร แสงตระการ ซึ่งรู้เห็นเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุแต่โจทก์ไม่ได้ตัวบุคคลทั้งสองมาเบิกความในชั้นศาลนั้นก็ได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนในคืนเกิดเหตุตรงกันว่าในวันเกิดเหตุเวลา 21.15 นาฬิกา ขณะบุคคลทั้งสองอยู่ในร้านขายข้าวต้มในซอยที่เกิดเหตุได้ยินเสียงจำเลยที่ 1 และผู้ตายทะเลาะกันอยู่ฝั่งตรงข้ามกับร้านที่บุคคลทั้งสองอยู่ แล้วเห็นผู้ตายวิ่งข้ามถนนซอยเข้ามาในร้านขายข้าวต้ม จำเลยทั้งสองวิ่งไล่ตามมาติด ๆ โดยจำเลยที่ 2 ถือมีด ผู้ตายวิ่งเข้าไปด้านในของร้านแต่วิ่งต่อไปไม่ได้เนื่องจากติดหน้าร้านของผู้อื่นซึ่งปิดประตูแล้วผู้ตายจึงเอาโต๊ะขึ้นกันไม่ให้จำเลยที่ 2 เข้าไปแทง จำเลยที่ 1เข้าล็อกแขนของผู้ตายทางด้านหลัง จำเลยที่ 2 เข้าแทงผู้ตายหลายครั้ง ถูกผู้ตาย 3 ครั้ง จากนั้นผู้ตายวิ่งหนีไปทางปากซอยส่วนจำเลยวิ่งหลบหนีไป เมื่อนำเหตุการณ์ที่ได้ความจากนายประยุทธกับที่ได้ความจากคำให้การชั้นสอบสวนของนางสาวสายสุนีและนางสาวสุภาพรมาเชื่อมโยงกันแล้วจะเห็นว่านายประยุทธเห็นเหตุการณ์สิ้นสุดเพียงผู้ตายเดินไปทางปากซอยเกิดเหตุส่วนจำเลยที่ 1 เดินกลับไปดื่มเบียร์ที่โต๊ะต่อ แต่นางสาวสายสุนีและนางสาวสุภาพรเห็นเหตุการณ์เริ่มจากจำเลยที่ 1 และผู้ตายทะเลาะกันสำหรับเหตุการณ์ที่ผู้ตายย้อนกลับมาที่ร้านขายอาหารแล้วทะเลาะกับจำเลยที่ 1 อีกไม่มีพยานโจทก์เบิกความถึงซึ่งเหตุการณ์ช่วงดังกล่าวได้ความจากคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยทั้งสองว่า หลังจากผู้ตายเดินไปทางปากซอยที่เกิดเหตุประมาณ 5 นาที ก็เดินย้อนกลับไปท้าทายจำเลยที่ 1 ให้ชกต่อยกันตัวต่อตัวจึงเกิดปากเสียงทะเลาะกัน จำเลยทั้งสองเดินออกจากร้านขายอาหาร ผู้ตายจึงโต้เถียงกับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2ชักมีดพกออกมา ผู้ตายจึงวิ่งข้ามถนนซอยเข้าไปในร้านขายข้าวต้มเมื่อศาลอุทธรณ์รับฟังคำรับสารภาพของจำเลยทั้งสองในชั้นสอบสวนจึงต้องฟังตลอดถึงคำให้การของจำเลยทั้งสองดังกล่าวนั้นด้วยดังนี้ นับแต่เวลาที่ผู้ตายดื่มเบียร์ที่โต๊ะของจำเลยที่ 1 ตลอดมาถึงจำเลยที่ 1 ล็อกแขนผู้ตาย และจำเลยที่ 2 ใช้มีดพกปลายแหลมแทงผู้ตาย เป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องกันมาเป็นระยะเวลาประมาณ15 นาที หาใช่ห่างกัน 1 ชั่วโมงเศษ ดังที่โจทก์ฎีกาไม่ การที่ผู้ตายเอาเบียร์จากโต๊ะของจำเลยที่ 1 ไปดื่มโดยพลการจนผู้ตายและจำเลยที่ 1 ทะเลาะกัน เมื่อนายประยุทธเข้าห้ามครั้งหลังผู้ตายก็เดินไปทางปากซอย ส่วนจำเลยที่ 1 กลับไปนั่งดื่มเบียร์ต่อที่โต๊ะแล้ว แต่ผู้ตายยังไม่ยอมเลิกแล้วต่อกันกลับไปท้าทายจำเลยที่ 1 ให้ชกต่อยกันอีก จึงถือได้ว่าจำเลยทั้งสองถูกผู้ตายข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้มีดแทงผู้ตายในเวลาเกี่ยวเนื่องใกล้ชิดกันเป็นการกระทำผิดโดยบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72 ที่โจทก์ฎีกาว่า เมื่อผู้ตายวิ่งหนีต่อไปไม่ได้แล้วจึงเอาโต๊ะกันจำเลยทั้งสองควรจะเลิกรานั้น เห็นว่า การกระทำผิดโดยบันดาลโทสะต้องพิจารณาว่า ขณะนั้นโทสะของผู้กระทำผิดหมดสิ้นไปแล้วหรือหาไม่โดยพิจารณาจากพฤติการณ์อื่นประกอบ การที่จำเลยทั้งสองบันดาลโทสะจึงวิ่งไล่แทงผู้ตายและจำเลยที่ 2 แทงผู้ตายได้ในที่สุดเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องกันย่อมแสดงว่าขณะผู้ตายหนีต่อไปไม่ได้และใช้โต๊ะขึ้นกันนั้น โทสะของจำเลยทั้งสองยังไม่หมดสิ้นไปที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยทั้งสองกระทำผิดโดยบันดาลโทสะนั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share