คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5354/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยนำโทรศัพท์มือถือมาปรับจูนและก๊อปปี้คลื่นสัญญาณโทรศัพท์ของผู้เสียหายแล้วใช้รับส่งวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นเพียงการแย่งใช้คลื่นสัญญาณโทรศัพท์ของผู้เสียหายโดยไม่มีสิทธิ มิใช่เป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยทุจริต ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ แม้จำเลยให้การรับสารภาพ ก็ต้องพิพากษายกฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคมพ.ศ. 2498 มาตรา 4, 6, 22, 23 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334ริบของกลางเพื่อให้ไว้ใช้ในราชการกรมไปรษณีย์โทรเลข และให้จำเลยใช้ราคาทรัพย์จำนวน 24,733 บาท แก่ผู้เสียหายด้วย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 มาตรา 6 ประกอบด้วยมาตรา 23 กระทงหนึ่งและประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 อีกกระทงหนึ่ง ให้เรียงกระทงลงโทษฐานทำ มี และใช้เครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตปรับ 10,000 บาท และฐานลักทรัพย์จำคุก 2 ปี รวมจำคุก 2 ปี และปรับ10,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่งคงจำคุก 1 ปี และปรับ 5,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลางเพื่อให้ไว้ในราชการกรมไปรษณีย์โทรเลข และให้จำเลยใช้ราคาทรัพย์จำนวน 24,733 บาทแก่ผู้เสียหายด้วย
จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษ โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยในประการแรกว่า จำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ ปัญหานี้แม้คู่ความมิได้ยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 16 กรกฎาคม 2537 ถึง 28 ตุลาคม2537 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกันจำเลยได้ทำและมีเครื่องวิทยุคมนาคม โดยการนำโทรศัพท์มือถือ ยี่ห้อโมบิล่าซิตี้แมน 200 มาทำการปรับจูนโดยใช้เครื่องดีเลอโค๊ดหมายเลข 4000 และก๊อปปี้คลื่นสัญญาณโทรศัพท์หมายเลข 9573336ซึ่งเป็นคลื่นสัญญาณโทรศัพท์ระบบเซลลูล่า 900 มือถือของบริษัทแอดวานซ์อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหายเข้าเครื่องโทรศัพท์มือถือดังกล่าวจนสามารถใช้ส่งและรับวิทยุคมนาคมได้ แล้วจำเลยได้บังอาจลักเอาไปซึ่งสัญญาณโทรศัพท์หมายเลข 9573336ของผู้เสียหายคิดค่าเสียหายเป็นเงิน 24,733 บาท โดยทุจริต โดยใช้โทรศัพท์มือถือดังกล่าวส่งและรับวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตนั้น ขอให้ลงโทษฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 จำเลยให้การรับสารภาพ เห็นว่าที่ฟ้องระบุว่าจำเลยนำโทรศัพท์มือถือมาทำการปรับจูนและก๊อปปี้คลื่นสัญญาณโทรศัพท์หมายเลข 9573336 ของผู้เสียหายแล้วใช้ทำการรับส่งวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตนั้นก็เป็นเพียงการทำการรับส่งวิทยุคมนาคม โดยอาศัยคลื่นสัญญาณโทรศัพท์ของผู้เสียหายโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าเป็นการแย่งใช้คลื่นสัญญาณโทรศัพท์ของผู้เสียหายโดยไม่มีสิทธินั่นเองจึงมิใช่เป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยทุจริต การกระทำของจำเลยตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพก็ตาม เมื่อการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ต้องพิพากษายกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยมาตรา 215 และมาตรา 225 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
ปัญหาต่อไปมีว่า ควรรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยหรือไม่ เห็นว่าเมื่อฟังว่าจำเลยไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์แล้ว จำเลยยังคงมีความผิดฐานทำ มี และใช้เครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 มาตรา 6, 23ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษปรับจำเลย 5,000 บาท เท่านั้น และโจทก์มิได้อุทธรณ์ในลักษณะของให้เพิ่มเติมโทษจำเลยสูงขึ้น ปัญหาเรื่องควรรอการลงโทษจำคุกหรือไม่ จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยต่อไปฎีกาจำเลยฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องในความผิดฐานลักทรัพย์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share