คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2086/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตามมาตรา 2 ของ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ซึ่งบัญญัติให้ยกเลิก พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 ทั้งฉบับ บัญญัติว่า “พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป” เมื่อมีการประกาศใช้วันที่ 4 มีนาคม 2551 การเริ่มต้นนับระยะเวลาจึงต้องเริ่มนับหนึ่งในวันรุ่งขึ้น คือ 5 มีนาคม 2551 เป็นวันที่หนึ่ง ซึ่งจะครบ 90 วัน ในวันที่ 2 มิถุนายน 2551
คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพและข้อเท็จจริงยุติแล้วว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยประกอบกิจการจำหน่ายวีซีดีภาพยนตร์และแผ่นดิจิตอลวิดีโอดิสก์ภาพยนตร์ (ดีวีดีภาพยนตร์) โดยไม่ได้รับใบอนุญาต และขณะจำเลยกระทำความผิดคดีนี้ พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 ยังคงมีผลใช้บังคับ เพียงแต่ขณะที่ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพิจารณาคดีนี้อยู่นั้น กฎหมายฉบับดังกล่าวถูกยกเลิกไปแล้วโดยมาตรา 3 (4) แห่ง พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 โดยยังให้การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดอยู่ถือไม่ได้ว่า พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ยกเลิกความผิดฐานนี้ แต่เป็นเรื่องที่กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างจากกฎหมายที่ใช้บังคับขณะที่ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพิจารณาคดี อันเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลที่จะต้องปรับใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลย เมื่อระวางโทษในความผิดฐานดังกล่าวตาม พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มีเพียงโทษปรับโดยไม่มีโทษจำคุกจึงเป็นคุณมากกว่า ต้องใช้โทษตามกฎหมายดังกล่าวในส่วนที่ไม่มีโทษจำคุกมาบังคับแก่คดี สำหรับในส่วนของโทษปรับ เมื่อโทษปรับตาม พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 ลงโทษปรับได้เพียงไม่เกินสองหมื่นบาทแต่โทษตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 กำหนดโทษปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท ทั้งยังให้ปรับต่อไปรายวันอีกวันละหนึ่งหมื่นบาท จึงต้องใช้โทษปรับตาม พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาบังคับแก่คดี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 8, 15, 28, 31, 61, 70, 75, 76, และ 78 พระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาตรา 4, 6 และ 34 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้แผ่นวีซีดีภาพยนตร์และแผ่นดิจิตอลวิดีโอดิสก์ (ดีวีดีภาพยนตร์) ของกลางที่ละเมิดลิขสิทธิ์จำนวน 52 แผ่น ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์และสั่งจ่ายเงินค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (1) และ 70 วรรคสอง ปรับ 54,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 27,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 ให้ของกลางที่ละเมิดลิขสิทธิ์จำนวน 52 แผ่น ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ และให้จ่ายเงินค่าปรับที่ได้ชำระตามคำพิพากษาฐานละเมิดลิขสิทธิ์เป็นจำนวนกึ่งหนึ่งแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ ให้ยกฟ้องสำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาตรา 6 และ 34
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามอุทธรณ์โจทก์ว่า พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ซึ่งบัญญัติให้ยกเลิกพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 ทั้งฉบับ มีผลใช้บังคับเมื่อใด เห็นว่า ตามมาตรา 2 ของพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 บัญญัติว่า “พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป” ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 125 ตอนที่ 42 ก เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2551 ดังนั้น เมื่อมาตรา 2 ของพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ไม่ได้บัญญัติให้พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มีผลบังคับนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป แต่ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป อันต้องมีการคำนวณนับกำหนดเก้าสิบวัน การคำนวณนับจึงต้องเป็นไปตามหลักการคำนวณนับระยะเวลาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/3 วรรคสองตอนต้น ที่บัญญัติว่า “ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นวัน… มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน” การเริ่มต้นนับระยะเวลาเก้าสิบวันจึงไม่นับวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่ต้องเริ่มนับหนึ่งในวันรุ่งขึ้น คือ 5 มีนาคม 2551 เป็นวันที่หนึ่ง ซึ่งจะครบ 90 วัน ในวันที่ 2 มิถุนายน 2551 ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 5470/2538 การที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ในวันที่ 2 มิถุนายน 2551 โดยอ้างว่าจำเลยกระทำผิดและขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 อันเป็นวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มีผลใช้บังคับและให้เป็นการยกเลิกพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 จึงชอบแล้ว ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางยกฟ้องโจทก์ในข้อหาตามพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 โดยเห็นว่าโจทก์อ้างว่าจำเลยกระทำผิดและขอให้ลงโทษตามกฎหมายที่ถูกยกเลิกไปแล้วจึงเป็นการไม่ชอบ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยฐานประกอบกิจการจำหน่ายวีซีดีภาพยนตร์และแผ่นดิจิตอลวิดีโอดิสก์ภาพยนตร์ (ดีวีดีภาพยนตร์) โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาตรา 6 และ 34 ได้หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพและข้อเท็จจริงยุติแล้วว่าตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยประกอบกิจการจำหน่ายวีซีดีภาพยนตร์และแผ่นดิจิตอลวีดีโอดิสก์ภาพยนตร์ (ดีวีดีภาพยนตร์) โดยไม่ได้รับใบอนุญาต และขณะจำเลยกระทำความผิดในคดีนี้ พระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 ยังคงมีผลใช้บังคับ เพียงแต่ขณะที่ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพิจารณาคดีนี้อยู่นั้น พระราชบัญญัติดังกล่าวได้ยกเลิกไปแล้วโดยมาตรา 3 (4) แห่งพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ที่บัญญัติว่า ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 แต่ตามมาตรา 38 และ 79 แห่งพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ก็ยังบัญญัติให้การประกอบกิจการจำหน่ายวีซีดีภาพยนตร์และแผ่นดิจิตอลวิดีโอดิสก์ภาพยนตร์ (ดีวีดีภาพยนตร์) โดยไม่ได้รับใบอนุญาตเป็นความผิดอยู่ กรณีจึงถือไม่ได้ว่าพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดีทัศน์ พ.ศ.2551 ยกเลิกความผิดฐานประกอบกิจการจำหน่ายแผ่นวีซีดีภาพยนตร์และแผ่นดิจิตอลวิดีโอดิสก์ (ดีวีดีภาพยนตร์) โดยไม่ได้รับใบอนุญาต แต่เป็นเรื่องที่กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างจากกฎหมายที่ใช้บังคับขณะที่ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพิจารณาคดี อันเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศที่จะต้องปรับใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยไม่ว่าในทางใดตามมาตรา 3 แห่งประมวลกฎหมายอาญาที่บัญญัติว่า “ถ้ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด ให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใด…” ซึ่งปรากฏว่าความผิดฐานประกอบกิจการจำหน่ายวีซีดีภาพยนตร์และแผ่นดิจิตอลวิดีโอดิสก์ภาพยนตร์ (ดีวีดีภาพยนตร์) โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 นั้น มีระวางโทษตามมาตรา 79 คือปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืนอยู่ โดยไม่มีโทษจำคุก อันต่างจากความผิดฐานประกอบกิจการจำหน่ายวีซีดีภาพยนตร์และแผ่นดิจิตอลวิดีโอดิสก์ภาพยนตร์ (ดีวีดีภาพยนตร์) โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 ซึ่งมีระวางโทษตามมาตรา 34 จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้น โทษตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ที่มีเพียงโทษปรับโดยไม่มีโทษจำคุกจึงเป็นคุณมากกว่าโทษ ตามพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 ที่มีโทษจำคุกด้วยจึงต้องใช้โทษตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ในส่วนที่ไม่มีโทษจำคุกซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่าบังคับแก่คดี สำหรับในส่วนของโทษปรับที่ศาลจะนำมาพิจารณาลงโทษนั้น เมื่อโทษปรับตามพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 ลงโทษปรับได้เพียงไม่เกินสองหมื่นบาท แต่โทษตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 นั้นกำหนดให้ลงโทษปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท ทั้งยังให้ปรับต่อไปรายวันอีกวันละหนึ่งหมื่นบาท โทษปรับตามพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 จึงเป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้โทษปรับตามพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาบังคับแก่คดี อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง โทษปรับในความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (1), 70 วรรคสอง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางลงโทษจำเลยมานั้น ยังสูงเกินไปกว่าสภาพความผิด ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรแก้ไข”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง, 34 และพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 38 วรรคหนึ่ง, 79 อีกกระทงหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดสองกระทง ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานประกอบกิจการจำหน่ายวีซีดีภาพยนตร์และแผ่นดิจิตอลวิดีโอดิสก์ภาพยนตร์ (ดีวีดีภาพยนตร์) โดยไม่ได้รับใบอนุญาต ลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง และ 34 ปรับ 10,000 บาท ฐานขายเสนอขาย มีไว้เพื่อขายงานซึ่งมีผู้อื่นทำซ้ำโดยละเมิดลิขสิทธิ์ ปรับ 50,000 บาท รวมปรับ 60,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงลงโทษปรับ 30,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share