แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
คู่ความทั้งสองฝ่ายแถลงร่วมกันต่อศาลชั้นต้นว่า ทั้งสองฝ่ายต่างไม่ติดใจสืบพยาน โดยขอให้ศาลวินิจฉัยตามคำฟ้องและคำให้การในประเด็นข้อแรกว่าจำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ ข้อสอง จำเลยทั้งสองผิดสัญญาและจะต้องชำระหนี้แก่โจทก์หรือไม่ และข้อสาม โจทก์จะต้องคืนเงินประกันแก่จำเลยที่ 1 หรือไม่และคู่ความยังแถลงรับกันว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันประกอบอาชีพเลี้ยงไก่ จำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายลูกไก่และรับซื้อคืนไก่กระทงกับโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญาในฐานะสามีผู้ให้ความยินยอม ต่อมาจำเลยที่ 1 ไม่สามารถนำไก่มาขายคืนให้แก่โจทก์เนื่องจากเกิดโรคระบาดไข้หวัดนกและทางราชการได้สั่งทำลายฆ่าไก่ที่จำเลยที่ 1 เลี้ยงไว้ทั้งหมด 40,137 ตัว โดยทางราชการจ่ายค่าชดเชยให้ตัวละ 45 บาท รวมเป็นเงิน 1,806,165 บาท เหตุดังกล่าวเป็นเหตุสุดวิสัยทำให้การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยที่จะทำได้ จำเลยที่ 1 จึงหลุดพ้นจากการชำระหนี้โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ โดยที่คู่ความทั้งสองฝ่ายไม่ได้กล่าวถึงประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องตามที่ให้การต่อสู้ไว้ จึงถือได้ว่าจำเลยทั้งสองได้สละประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องไปแล้วจำเลยทั้งสองจะมายกประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องขึ้นต่อสู้อีกในชั้นฎีกาไม่ได้ อีกทั้งเหตุที่จำเลยทั้งสองอ้างในชั้นฎีกาขึ้นใหม่ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง โดยไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย
สัญญาซื้อขายลูกไก่และรับซื้อคืนไก่กระทงมีสาระสำคัญว่า โจทก์ตกลงขายลูกไก่และขายอาหารไก่ให้แก่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 มีสิทธิที่จะเลือกชำระค่าลูกไก่และค่าอาหารไก่ให้โจทก์โดยจ่ายเป็นเช็ค โจทก์ให้สินเชื่อจำเลยที่ 1 สามารถสั่งจ่ายเช็คล่วงหน้า 60 วัน แต่หากจำเลยที่ 1 จ่ายเป็นเงินสดหรือดร๊าฟหรือแคชเชียร์เช็คโจทก์ก็จะลดราคาลูกไก่ให้ตัวละ 25 สตางค์ ของราคาลูกไก่แต่ละชนิด หรือมิฉะนั้นจำเลยที่ 1 จะนำลูกไก่และอาหารไก่ที่ซื้อไปจากโจทก์ไปเลี้ยงจนโตได้ขนาดตามที่โจทก์กำหนดแล้วนำมาขายคืนให้แก่โจทก์ตามราคาที่โจทก์กำหนด แล้วหักชำระค่าลูกไก่และอาหารไก่ภายหลังก็ได้ ล้วนเป็นวิธีการที่จำเลยที่ 1 สามารถเลือกชำระค่าลูกไก่อาหารไก่ที่ทำสัญญาซื้อไปจากโจทก์ได้ เห็นได้ว่าสัญญาดังกล่าวมีสัญญาสองส่วนรวมอยู่ด้วยกัน คือสัญญาซื้อขายลูกไก่และอาหารไก่ส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งเป็นสัญญาที่โจทก์สัญญาว่าจะรับซื้อไก่ที่จำเลยที่ 1 ซื้อไปเลี้ยงจนโตได้ขนาดตามที่โจทก์กำหนดแล้วนำมาขายคืนโจทก์ในราคาที่โจทก์กำหนด โดยโจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 หักชำระค่าลูกไก่และอาหารไก่จากราคาไก่ที่โจทก์รับซื้อคืนได้ สัญญาดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นสัญญาต่างตอนแทนที่แยกจากกันไม่ได้ การชำระหนี้ตามสัญญาจึงสามารถแยกออกจากกันได้
ดังนั้น การที่ไก่ของจำเลยที่ 1 ที่ซื้อจากโจทก์ไปเลี้ยงถูกทางราชการสั่งให้ฆ่าทำลายไปทั้งหมด เนื่องจากเกิดโรคระบาดไข้หวัดนกทำให้ไม่สามารถนำไก่ไปขายคืนให้แก่โจทก์ตามสัญญาได้ เป็นเหตุสุดวิสัยที่ทำให้จำเลยที่ 1 ไม่สามารถนำไก่ที่เลี้ยงโตแล้วไปขายคืนโจทก์นั้น จึงเป็นการชำระหนี้ที่พ้นวิสัยเฉพาะในส่วนสัญญาที่โจทก์สัญญาว่าจะรับซื้อไก่คืนโดยยอมให้จำเลยที่ 1 หักชำระหนี้ค่าลูกไก่และค่าอาหารไก่ที่จำเลยที่ 1 ซื้อไปจากโจทก์เท่านั้น หากทำให้การชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายลูกไก่และอาหารไก่ที่จำเลยที่ 1 ได้รับเงินค่าชดเชยจากโจทก์ตกเป็นพ้นวิสัยไปด้วยไม่สำหรับจำเลยที่ 2 นั้น เป็นสามีของจำเลยที่ 1 รู้เห็นและให้ความยินยอมให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อลูกไก่และอาหารไก่จากโจทก์ไปใช้เพื่อการประกอบอาชีพเลี้ยงไก่ ถือเป็นหนี้ร่วมที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานที่สามีภริยาทำด้วยกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490 (3) แม้จำเลยที่ 2 จะไม่ได้ลงนามในสัญญาในฐานะคู่สัญญากับโจทก์ก็ตาม จำเลยที่ 2 ก็ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายแก่โจทก์และโจทก์มีสิทธิหักเงินค้ำประกันสัญญา เพื่อชำระหนี้ได้ด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 902,015 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 เพราะจำเลยที่ 2 ไม่ได้มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับโจทก์ เพียงลงนามให้ความยินยอมในการทำนิติกรรมของจำเลยที่ 1 เท่านั้น จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เนื่องจากเกิดโรคไข้หวัดนกระบาดในพื้นที่เลี้ยงไก่ของจำเลยที่ 1 ปศุสัตว์อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ได้เข้าควบคุมการระบาดของเชื้อโรคและได้ทำลายไก่ในฟาร์มของจำเลยที่ 1 ทั้งหมดจำนวน 40,137 ตัว เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ไม่สามารถขายไก่ให้แก่โจทก์ได้ อันเป็นเหตุสุดวิสัย จึงถือว่าการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยและเป็นพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิด จำเลยที่ 1 จึงไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 และไม่มีสิทธินำเงินค้ำประกันจำนวน 260,000 บาท ไปหักชำระหนี้ จึงต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง และให้โจทก์คืนเงินจำนวน 260,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์ให้การฟ้องแย้งว่า จำเลยทั้งสองตกเป็นหนี้ค่าไก่กระทง ค่าอาหารไก่ และค่าวัคซีนต่อโจทก์ทันทีที่จำเลยทั้งสองซื้อสินค้าดังกล่าวไปจากโจทก์ แม้ต่อมาไก่ที่จำเลยซื้อไปถูกรัฐบาลทำลายเนื่องจากเกิดโรคไข้หวัดนกระบาดถือเป็นเหตุสุดวิสัยทำให้จำเลยทั้งสองไม่สามารถส่งมอบไก่ที่เลี้ยงไว้แก่โจทก์ก็ตาม หนี้ดังกล่าวก็ยังไม่ระงับไป จำเลยทั้งสองยังได้รับเงินชดเชยจากรัฐบาลเป็นเงินไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท โจทก์จึงมีสิทธิหักเงินค้ำประกันความเสียหายจำนวน 260,000 บาท จำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิเรียกเงินดังกล่าวคืนจากโจทก์ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
โจทก์และจำเลยทั้งสองไม่สืบพยาน
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้โจทก์ชำระเงินแก่จำเลยที่ 1 จำนวน 260,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้ง (ฟ้องแย้งวันที่ 4 กรกฎาคม 2548) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมตามฟ้องและฟ้องแย้งระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 902,015 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 12 พฤษภาคม 2548) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องแย้ง ค่าฤชาธรรมเนียมตามฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้คู่ความทั้งสองฝ่ายแถลงร่วมกันต่อศาลชั้นต้น ตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 28 ตุลาคม 2548 ว่าทั้งสองฝ่ายต่างไม่ติดใจสืบพยาน โดยขอให้ศาลวินิจฉัยตามคำฟ้อง และคำให้การในประเด็นข้อแรกว่า จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ ข้อสองจำเลยทั้งสองผิดสัญญาและจะต้องชำระหนี้แก่โจทก์หรือไม่ และข้อสามโจทก์จะต้องคืนเงินประกันแก่จำเลยที่ 1 หรือไม่ และคู่ความยังแถลงรับกันว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันประกอบอาชีพเลี้ยงไก่ จำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายลูกไก่และรับซื้อคืนไก่กระทงกับโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญาในฐานะสามีผู้ให้ความยินยอม ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 ต่อมาจำเลยที่ 1 ไม่สามารถนำไก่มาขายคืนให้แก่โจทก์เนื่องจากเกิดโรคระบาดไข้หวัดนกและทางราชการได้สั่งทำลายฆ่าไก่ที่จำเลยที่ 1 เลี้ยงไว้ทั้งหมด 40,137 ตัว โดยทางราชการจ่ายค่าชดเชยให้แก่จำเลยที่ 1 ตัวละ 45 บาท รวมเป็นเงิน 1,806,165 บาท เหตุดังกล่าวเป็นเหตุสุดวิสัยทำให้การชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 กลายเป็นพ้นวิสัยที่จะทำได้ จำเลยที่ 1 จึงหลุดพ้นจากการชำระหนี้โจทก์ตามฟ้องหรือไม่โดยที่คู่ความทั้งสองฝ่ายไม่ได้กล่าวถึงประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องตามที่จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ไว้ในคำให้การข้อ 2 ว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 เพียงแต่ลงนามให้ความยินยอมในการทำนิติกรรมของจำเลยที่ 1 เท่านั้น ไม่ได้ลงนามในฐานะเป็นคู่สัญญากับโจทก์แต่อย่างใด จึงถือได้ว่าจำเลยทั้งสองได้สละประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องไปแล้ว ดังนั้น จำเลยทั้งสองจะมายกประเด็นเรื่องอำนาจฟ้อง ตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อ 2.1 ขึ้นต่อสู้อีกในชั้นฎีกาไม่ได้ อีกทั้งเหตุที่จำเลยทั้งสองอ้างในชั้นฎีกาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากนายวิชัย มีทรัพย์อนันต์ ผู้ลงนามในสัญญาดังกล่าวไม่ใช่กรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์เพราะไม่มีชื่อเป็นกรรมการของโจทก์ตามหนังสือรับรองการจดทะเบียนเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 นั้น ก็ไม่ใช่ข้อที่จำเลยทั้งสองยกขึ้นต่อสู้ในคำให้การแต่อย่างใด จึงเป็นข้อที่จำเลยทั้งสองยกขึ้นใหม่ในชั้นฎีกา โดยไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้ในข้อนี้
ปัญหาวินิจฉัยข้อต่อไปตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อ 2.2 ที่ว่า สัญญาซื้อขายลูกไก่และรับซื้อคืนไก่กระทงเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 4 เป็นสัญญาต่างตอบแทน และเป็นสัญญาอันเดียวกันไม่สามารถแยกจากกันได้หรือไม่นั้น เห็นว่า รายละเอียดข้อความตามสัญญาดังกล่าวข้อ 1 เป็นเรื่องการซื้อขายและจัดหาลูกไก่ ส่วนข้อ 2 เป็นเรื่องการซื้อขายอาหารไก่ โดยได้กำหนดวิธีชำระค่าลูกไก่หรือค่าอาหารไก่ไว้แจ้งชัดความว่า ผู้เลี้ยงจะสั่งจ่ายเช็คชำระค่าลูกไก่กระทง หรือค่าอาหารไก่ ให้แก่บริษัท ฯ ลงวันที่ล่วงหน้าภายใน 60 วัน นับจากวันที่รับลูกไก่หรือวันรับอาหารไก่งวดแรกไปจากบริษัท ฯ หรือยินยอมให้บริษัท ฯ หักค่าลูกไก่หรือค่าอาหารไก่ที่ยังค้างอยู่ทั้งหมดจากผลตอบแทนค่าไก่กระทง (ไก่ใหญ่) ที่บริษัทฯ รับซื้อคืนก็ได้ และหากผู้เลี้ยงประสงค์ซื้อลูกไก่ด้วยเงินสดหรือจ่ายเป็นดร๊าฟหรือแคชเชียร์เช็คแล้วบริษัท ฯ ก็จะลดราคาลูกไก่ให้ตัวละ 25 สตางค์ จากราคาลูกไก่ที่กำหนดไว้ในแต่ละชนิด ส่วนสัญญาข้อ 3 และข้อ 4 เป็นเรื่องที่บริษัท ฯ จะรับซื้อไก่กระทงคืนจากผู้เลี้ยง และเงื่อนไขในการกำหนดราคาไก่กระทงที่บริษัทฯ จะรับซื้อคืน ทั้งบริษัท ฯ ยังสงวนสิทธิที่จะปฎิเสธไม่รับซื้อคืนไก่กระทงนั้นก็ได้ หรืออาจจะรับซื้อคืนโดยมีเงื่อนไข ลดราคาลง หากผู้เลี้ยงไม่สามารถส่งไก่กระทงตามน้ำหนักที่บริษัท ฯ กำหนดตามข้อ 4.2 เมื่อพิจารณาข้อตกลงทั้งสี่ข้อดังกล่าวแล้วพอสรุปสาระสำคัญได้ว่า โจทก์ตกลงขายลูกไก่และขายอาหารไก่ให้แก่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 มีสิทธิที่จะเลือกชำระค่าลูกไก่และค่าอาหารไก่ให้โจทก์โดยจ่ายเป็นเช็ค โจทก์ก็ให้สินเชื่อจำเลยที่ 1 สามารถสั่งจ่ายเช็คล่วงหน้า 60 วัน แต่หากจำเลยที่ 1 จ่ายเป็นเงินสดหรือดร๊าฟหรือแคชเชียร์เช็คโจทก์ก็จะลดราคาลูกไก่ให้ตัวละ 25 สตางค์ ของราคาลูกไก่แต่ละชนิด หรือมิฉะนั้นจำเลยที่ 1 จะนำลูกไก่และอาหารไก่ที่ซื้อไปจากโจทก์ไปเลี้ยงจนโตได้ขนาดตามที่โจทก์กำหนด แล้วนำมาขายคืนให้แก่โจทก์ตามราคาที่โจทก์กำหนด แล้วหักชำระค่าลูกไก่และอาหารไก่ภายหลังก็ได้ ล้วนเป็นวิธีการที่จำเลยที่ 1 สามารถเลือกชำระค่าลูกไก่ อาหารไก่ที่ทำสัญญาซื้อไปจากโจทก์ได้ จึงเห็นได้ว่าสัญญาดังกล่าวมีสัญญาสองส่วนรวมอยู่ด้วยกัน กล่าวคือเป็นสัญญาซื้อขายลูกไก่และอาหารไก่ส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งเป็นสัญญาที่โจทก์สัญญาว่าจะรับซื้อไก่ที่จำเลยที่ 1 ซื้อไปเลี้ยงจนโตได้ขนาดตามที่โจทก์กำหนดแล้วนำมาขายคืนโจทก์ในราคาที่โจทก์กำหนด โดยโจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 หักชำระค่าลูกไก่และอาหารไก่จากราคาไก่ที่โจทก์รับซื้อคืนได้ สัญญาดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นสัญญาต่างตอบแทนที่แยกจากกันไม่ได้ตามที่จำเลยทั้งสองฎีกา ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังว่าสัญญาดังกล่าวสามารถแบ่งแยกเป็นสองสัญญา คือสัญญาที่โจทก์สัญญาว่าจะซื้อไก่โตคืนจากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 สัญญาว่าจะขายไก่โตคืนแก่โจทก์ ส่วนหนึ่ง และสัญญาซื้อขายลูกไก่ อาหารไก่และวัคซีนระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 อีกส่วนหนึ่ง การชำระหนี้ตามสัญญาจึงสามารถแยกออกจากกันได้นั้นชอบแล้ว
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อสุดท้ายในข้อ 2.3 ที่ว่า การที่ไก่ของจำเลยที่ 1 ที่ซื้อจากโจทก์ไปเลี้ยงถูกทางราชการสั่งให้ฆ่าทำลายไปทั้งหมด 40,137 ตัว เนื่องจากเกิดโรคระบาดไข้หวัดนก เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2547 ทำให้จำเลยที่ 1 ไม่สามารถนำไก่ไปขายคืนให้แก่โจทก์ตามสัญญาได้ เป็นเหตุสุดวิสัยที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ก่อขึ้นทำให้การชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 กลายเป็นพ้นวิสัย จำเลยที่ 1 จึงหลุดพ้นจากการชำระหนี้ค่าลูกไก่ ค่าอาหารไก่และค่าวัดซีน ที่ซื้อมาจากโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 219 วรรคหนึ่ง หรือไม่นั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงจริงฟังได้แล้วว่า สัญญาที่จำเลยที่ 1 ซื้อลูกไก่ อาหารไก่และวัคซีนจากโจทก์เป็นสัญญาที่แยกต่างหากจากสัญญาที่จำเลยที่ 1 จะขายไก่ที่เลี้ยงโตแล้วคืนให้แก่โจทก์ ดังนั้น เหตุสุดวิสัยที่ทำให้จำเลยที่ 1 ไม่สามารถนำไก่ที่เลี้ยงโตแล้วไปขายคืนโจทก์นั้น จึงเป็นการชำระหนี้ที่พ้นวิสัยเฉพาะในส่วนสัญญาที่โจทก์สัญญาว่าจะรับซื้อไก่คืนโดยยอมให้จำเลยที่ 1 หักชำระหนี้ค่าลูกไก่และค่าอาหารไก่ที่จำเลยที่ 1 ซื้อไปจากโจทก์เท่านั้น หาทำให้การชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายลูกไก่และอาหารไก่ที่จำเลยที่ 1 ซื้อไปจากโจทก์ตกเป็นพ้นวิสัยไปด้วยไม่ นอกจากนี้ยังได้ความว่า จำเลยที่ 1 ได้รับเงินค่าชดเชยจากทางราชการที่ฆ่าทำลายไก่ของจำเลยที่ 1 ไป จำนวน 40,137 ตัว ตัวละ 45 บาท รวมทั้งสิ้นเป็นเงินถึง 1,806,165 บาท หากฟังว่าจำเลยที่ 1 ไม่ต้องชำระหนี้ตามฟ้องแก่โจทก์ตามที่จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดีแล้ว ย่อมเป็นการไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ สำหรับจำเลยที่ 2 นั้น เป็นสามีของจำเลยที่ 1 รู้เห็นและให้ความยินยอมให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อลูกไก่และอาหารไก่จากโจทก์ไปใช้เพื่อการประกอบอาชีพเลี้ยงไก่นั้นถือเป็นหนี้ร่วมที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานที่สามีภริยาทำด้วยกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1490 (3) ดังนั้น แม้จำเลยที่ 2 จะไม่ได้ลงนามในสัญญาในฐานะคู่สัญญากับโจทก์ก็ตาม จำเลยที่ 2 ก็ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายแก่โจทก์และโจทก์มีสิทธิหักเงินค้ำประกันสัญญาเพื่อชำระหนี้ได้ด้วย ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้ที่ค้างชำระตามฟ้องแก่โจทก์จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ