คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2126/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคสอง ได้บัญญัติในกรณีที่การละเมิดที่เกิดขึ้นดังกล่าวมีโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา และกำหนดอายุความทางอาญายาวกว่าก็ให้เอาอายุความที่ยาวกว่าใช้บังคับ ซึ่งหมายความว่า หากความเสียหายในมูลละเมิดที่เกิดขึ้นมีความผิดที่มีโทษตาม ป.อ. ที่เกิดขึ้นด้วย ก็ให้ใช้อายุความที่ยาวกว่า แต่ก็หมายความถึงการเรียกร้องจากผู้กระทำความผิดหรือผู้ร่วมกระทำความผิดโดยเฉพาะ ไม่หมายความรวมถึงผู้อื่นที่มิได้ร่วมกระทำความผิดด้วย

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา ขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบห้าร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 724,625 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 527,000 บาท นับแต่ถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 ที่ 14 และที่ 15 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 13 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต และมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 13 ออกเสียจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับในส่วนของค่าฤชาธรรมเนียมที่โจทก์ทั้งสองได้รับการยกเว้นให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 157
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ทั้งสองในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ขาดอายุความแล้วหรือไม่ โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ทั้งสองแจ้งความให้ดำเนินคดีเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจอำเภอกบินทร์บุรีซึ่งหมายถึงจำเลยที่ 2 ถึงที่ 12 ที่ 14 เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง บัญญัติเรื่องอายุความในมูลละเมิดไว้ว่า “สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดจากมูลละเมิดนั้น ท่านว่าขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน” ส่วนวรรคสองได้บัญญัติในกรณีที่การละเมิดที่เกิดขึ้นดังกล่าวมีโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา และกำหนดอายุความทางอาญายาวกว่า ก็ให้เอาอายุความที่ยาวกว่าใช้บังคับ ซึ่งหมายความว่าหากความเสียหายในมูลละเมิดที่เกิดขึ้นมีความผิดที่มีโทษตามประมวลกฎหมายอาญาที่เกิดขึ้นด้วยก็ให้ใช้อายุความที่ยาวกว่า แต่ก็หมายความถึงการเรียกร้องจากผู้กระทำความผิดหรือผู้ร่วมในการกระทำความผิดโดยเฉพาะ ไม่หมายความรวมถึงผู้อื่นที่มิได้ร่วมกระทำความผิดด้วย คดีนี้จำเลยที่ 1 มิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองโดยตรง แต่ต้องถูกฟ้องให้ร่วมรับผิดโดยผลของกฎหมาย จึงต้องใช้อายุความหนึ่งปี นับแต่วันที่โจทก์ทั้งสองรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หาใช่นับตั้งแต่คดีอาญาของนายอุดมถึงที่สุดดังที่โจทก์ทั้งสองฎีกาไม่ เพราะไม่มีกฎหมายกำหนดให้นับอายุความไว้เช่นนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 ที่ 14 และที่ 15 ต่อสู้ว่าคดีของโจทก์ทั้งสองขาดอายุความ โจทก์ทั้งสองมีหน้าที่นำสืบว่า คดีของโจทก์ทั้งสองไม่ขาดอายุความ แต่โจทก์ทั้งสองมิได้นำสืบว่า นับจากวันที่โจทก์ทั้งสองรู้ตัวผู้พึงจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนจนถึงวันฟ้องคดี คดีของโจทก์ทั้งสองไม่ขาดอายุความเพราะเหตุใด กลับปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 26 และ 23 กันยายน 2540 ว่า เชื่อว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 15 เป็นผู้ใช้อาวุธปืนยิงเด็กชายฉัตรชัย จนถึงแก่ความตาย ทั้งฎีกาของโจทก์ทั้งสองก็ไม่ได้โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสองที่วินิจฉัยว่า วันที่โจทก์ทั้งสองรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงจะใช้ค่าสินไหมทดแทน คือวันที่ 24 กันยายน 2540 อันเป็นวันเกิดการละเมิดนั้นไม่ถูกต้องอย่างไรเมื่อโจทก์ทั้งสองฟ้องคดีในวันที่ 2 มกราคม 2546 ข้อเท็จจริงจึงยังฟังมิได้ว่า โจทก์ทั้งสองรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่เกินหนึ่งปีนับถึงวันที่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดี ฟ้องโจทก์ทั้งสองในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 จึงขาดอายุความ ฎีกาของโจทก์ทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน และเมื่อวินิจฉัยเช่นนี้แล้วฎีกาของโจทก์ทั้งสองในข้ออื่นก็ไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share