คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5352/2552

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสิบสามคนมีกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท การคำนวณทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาตามฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งต้องถือตามราคาที่ดินในส่วนที่จำเลยสืบสิทธิมา มิใช่แยกคำนวณตามส่วนที่จำเลยแต่ละคนมีกรรมสิทธิ์เพราะไม่ปรากฏว่าจำเลยแต่ละคนแยกการครอบครองเป็นส่วนสัด เมื่อโจทก์ระบุในคำแก้ฎีกาว่า ที่ดินพิพาทตามฟ้องโจทก์และตามฟ้องแย้งราคาตารางวาละ 125 บาท เท่ากับไร่ละ 50,000 บาท จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาตามฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งในส่วนของจำเลยทุกคน จึงเกิน 200,000 บาท จำเลยทั้งสิบสามไม่ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง
การที่ ก. ย. และ อ. ตกลงแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท และร่วมกันยื่นคำร้องขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวมต่อเจ้าพนักงานที่ดินแล้ว แม้จะยังไม่มีการรังวัดแบ่งกรรมสิทธิ์รวม แต่ไม่ปรากฏว่า ก. ย. และ อ. แสดงเจตนาจะยกเลิก จึงต้องถือว่าข้อตกลงแบ่งกรรมสิทธิ์รวมระหว่างเจ้าของรวมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1364 วรรคหนึ่ง ย่อมผูกพัน ก. ย. และ อ.
ก. ย. และ อ. ได้แบ่งการครอบครองที่ดินโฉนดพิพาทเป็นส่วนสัดแล้ว จึงถือไม่ได้ว่า ก. ย. อ. และจำเลยต่างเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดพิพาทตลอดมา เมื่อ ย. อ. และจำเลยทั้งสิบสามครอบครองที่ดินพิพาทที่ซื้อจาก ก. โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาติดต่อกันเป็นเวลาเกิน 10 ปี จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนที่ครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382
ธ. และโจทก์ซื้อที่ดินโดยรู้ว่ามีผู้ครอบครอง กรณีถือไม่ได้ว่า ธ. และโจทก์รับโอนที่ดินไว้โดยสุจริตและจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบสามทำการแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 1049 ตำบลมาบโป่ง (มาบกระบก) อำเภอพานทอง (ท่าตะกูด) จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ 29 ไร่ 11 ตารางวา ทางด้านทิศเหนือ ตะวันออกและตะวันตกของที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสอง หากจำเลยทั้งสิบสามหรือคนใดคนหนึ่งไม่ปฏิบัติให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ถ้าไม่สามารถแบ่งแยกได้ให้เอาที่ดินแปลงดังกล่าวออกประมูลขายระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยทั้งสิบสาม หากไม่ตกลงให้นำที่ดินออกขายทอดตลาดได้เงินสุทธิเท่าใดให้แบ่งกันตามส่วน
จำเลยทั้งสิบสามให้การขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งขอให้พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินเนื้อที่ 8 ไร่ 73 ตารางวา ในส่วนของนายยศ กับจำเลยที่ 12 และที่ 13 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินเนื้อที่ 8 ไร่ 73 ตารางวา ในส่วนของนายอินโดยการครอบครองปรปักษ์ ให้โจทก์ทั้งสองทำการรังวัดแบ่งแยกโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยทั้งสิบสาม ณ สำนักงานที่ดิน จังหวัดชลบุรี โดยให้โจทก์ทั้งสองได้รับที่ดินพิพาทด้านทิศตะวันออกจำนวน 12 ไร่ หากโจทก์ทั้งสองไม่ปฏิบัติให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
โจทก์ทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสิบสามจดทะเบียนแบ่งแยกโฉนดที่ดินเลขที่ 1049 ตำบลมาบโป่ง (มาบกระบก) อำเภอพานทอง (ท่าตะกูด) จังหวัดชลบุรี บริเวณกรอบเส้นสีน้ำเงินในแผนที่พิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสอง หากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 กับจำเลยที่ 12 และที่ 13 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินเฉพาะส่วนในบริเวณหมายเลข 10 พื้นที่กรอบเส้นสีแดง และบริเวณหมายเลข 8 พื้นที่กรอบเส้นสีเหลืองในแผนที่พิพาทตามลำดับ โดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คำขออื่นของโจทก์ทั้งสองและคำขอตามฟ้องแย้งอื่นของจำเลยทั้งสิบสามให้ยก
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 โจทก์ที่ 1 ถึงแก่ความตาย นายนิพนธ์ ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์ภาค 2 อนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้ว่า ให้โจทก์ทั้งสองร่วมกันมีส่วนในที่ดินโฉนดเลขที่ 1049 ตำบลมาบโป่ง (มาบกระบก) อำเภอพานทอง (ท่าตะกูด) จังหวัดชลบุรี จำนวน 28 ไร่ 1 งาน 46 ตารางวา หรือ 11,346 ส่วน แต่ระหว่างโจทก์ทั้งสองให้มีส่วนเท่า ๆ กัน ให้นำที่ดินแปลงนี้ออกประมูลระหว่างโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสิบสาม หากไม่ตกลงก็ให้นำออกขายทอดตลาดได้เงินสุทธิเท่าใดแบ่งให้โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสิบสามตามส่วน คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสิบสาม ให้จำเลยทั้งสิบสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท
จำเลยทั้งสิบสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามคำแก้ฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า จำเลยทั้งสิบสามต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงหรือไม่ เห็นว่า เดิมนายยศและนายอินถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับนางกิมเสียงในที่ดินโฉนดพิพาท ต่อมาจำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 สืบสิทธิในที่ดินเฉพาะส่วนของนายยศ จำเลยที่ 12 และที่ 13 สืบสิทธิในที่ดินเฉพาะส่วนของนายอิน การคำนวณทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาตามฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งจึงต้องถือตามราคาที่ดินในส่วนที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 กับจำเลยที่ 12 และที่ 13 สืบสิทธิมามิใช่แยกคำนวณตามส่วนที่จำเลยแต่ละคนมีกรรมสิทธิ์เพราะไม่ปรากฏว่าจำเลยแต่ละคนแยกการครอบครองเป็นส่วนสัด เมื่อโจทก์ทั้งสองระบุในคำแก้ฎีกาว่า ที่ดินพิพาทตามฟ้องโจทก์และตามฟ้องแย้งราคาตารางวาละ 125 บาท คำนวณแล้วเท่ากับไร่ละ 50,000 บาท จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาตามฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งในส่วนของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 กับจำเลยที่ 12 และที่ 13 จึงเกิน 200,000 บาทจำเลยทั้งสิบสามไม่ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยทั้งสิบสามว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 ครอบครองที่ดินภายในกรอบเส้นสีแดง กับจำเลยที่ 12 และที่ 13 ครอบครองที่ดินภายในกรอบเส้นสีเหลืองตามแผนที่พิพาทจนได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ และโจทก์ทั้งสองมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดพิพาทเพียงใด เห็นว่า ที่ดินโฉนดพิพาทมีสภาพเป็นที่นา มีจำเลยทั้งสิบสามครอบครองทำนาและปลูกบ้าน เล้าไก่ เล้าสุกร และต้นไม้ ตลอดจนขุดบ่อน้ำไว้ในที่ดินภายในกรอบเส้นสีน้ำตาล เส้นสีเหลือง เส้นสีดำ และเส้นสีแดงในแผนที่พิพาท ส่วนที่ดินภายในกรอบเส้นสีน้ำเงินทางทิศตะวันออกของที่ดินโฉนดพิพาทของโจทก์ทั้งสองมีนายจี๊ดทำนาโดยเช่าจากนางกิมเสียงเจ้าของเดิม และได้ความจากทางนำสืบของจำเลยทั้งสิบสามว่า เดิมที่ดินภายในกรอบเส้นสีเหลืองและเส้นสีแดงเป็นของนางกิมเสียงจริง แต่เมื่อปี 2510 นางกิมเสียงขายที่ดินภายในกรอบเส้นสีเหลืองให้นายอินและขายที่ดินภายในกรอบเส้นสีแดงให้นายยศโดยไม่ได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือซึ่งแม้การซื้อขายดังกล่าวตกเป็นโมฆะเพราะมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ตาม แต่จำเลยทั้งสิบสามมีจำเลยที่ 8 ที่ 11 และที่ 12 เบิกความเป็นพยานยืนยันว่า หลังจากซื้อขายที่ดินดังกล่าวแล้ว นางกิมเสียง นายยศและนายอินต่างแบ่งการครอบครองเป็นส่วนสัดนับแต่นั้น โดยที่ดินส่วนของนางกิมเสียงอยู่ทางทิศตะวันออกภายในกรอบเส้นสีน้ำเงิน ที่ดินของนายอินอยู่ตรงกลางของที่ดินโฉนดพิพาท ที่ดินส่วนของนายยศอยู่ถัดลงมาทางใต้ ทั้งในวันที่ 2 พฤษภาคม 2510 นางกิมเสียง นายยศและนายอินร่วมกันยื่นคำร้องขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวมต่อเจ้าพนักงานที่ดินตามสำเนาบันทึกข้อตกลงแบ่งกรรมสิทธิ์รวม (จำกัดเนื้อที่) ซึ่งมีข้อความระบุว่า ให้รังวัดแบ่งกรรมสิทธิ์รวม 1 แปลง ทางด้านทิศตะวันออก เนื้อที่ 12 ไร่ เป็นของนางกิมเสียง ส่วนแปลงคงเหลือเป็นของนายยศและนายอิน ผู้ยื่นคำขอต่างลงลายมือชื่อไว้ในบันทึกดังกล่าวต่อหน้าพยานและเจ้าพนักงานที่ดิน ซึ่งนายสุรัตน์ และนางรุ่งอรุณ พนักงานที่ดินประจำสำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรีเบิกความเป็นพยานโจทก์ทั้งสองรับรองความถูกต้องแล้ว ดังนี้ แม้จะยังไม่มีการรังวัดแบ่งกรรมสิทธิ์รวมเพราะเจ้าพนักงานที่ดินยกเลิกคำขอไปเมื่อปี 2516 เนื่องจากผู้ขอไม่มาติดต่อ แต่ไม่ปรากฏว่านางกิมเสียง นายยศและนายอินแสดงเจตนาจะยกเลิก การไม่ไปติดต่ออาจเป็นเพราะแบ่งการครอบครองเป็นส่วนสัดกันแล้วดังจำเลยทั้งสิบสามนำสืบก็เป็นได้ จึงต้องถือว่าบันทึกเป็นข้อตกลงแบ่งกรรมสิทธิ์รวมระหว่างเจ้าของรวมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364 วรรคหนึ่ง ย่อมผูกพันนางกิมเสียง นายยศและนายอิน ยังได้ความจากคำเบิกความของนายสุรินทร์ พยานโจทก์ ทั้งสองผู้ทำแผนที่พิพาทอีกว่า ที่ดินโฉนดพิพาทมีแนวคันนาสูงมองเห็นชัดเจนเป็นเขตแดนกั้นระหว่างที่ดินภายในกรอบเส้นสีน้ำเงินกับที่ดินภายในกรอบเส้นสีเหลืองและสีส้ม กับมีต้นยูคาลิปตัสแบ่งเป็นแนวเขตชัดเจน มีบ้านของพวกจำเลยปลูกอยู่หลายหลังในบริเวณด้านทิศเหนือและกลางของพื้นที่ กับมีบ่อน้ำขุดไว้ เมื่อปรากฏว่าถัดจากที่ดินภายในกรอบเส้นสีน้ำเงินเป็นที่ดินส่วนที่จำเลยทั้งสิบสามครอบครองทำนา โดยนับแต่ยื่นคำขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวม นางกิมเสียงไม่เคยเสียภาษีบำรุงท้องที่และคงเกี่ยวข้องเฉพาะที่ดินภายในกรอบสีน้ำเงินซึ่งให้นายจี๊ด เช่าทำนาเท่านั้น นอกจากนี้จำเลยทั้งสิบสามมีนายจี๊ดมาเบิกความเป็นพยานสนับสนุนว่า ที่ดินส่วนของนางกิมเสียงคือที่ดินภายในกรอบสีน้ำเงิน เพราะเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2532 นางกิมเสียงแบ่งขายที่ดินส่วนที่เหลือดังกล่าวให้นายจี๊ด 1 ไร่ ตามหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย ล. 7 โจทก์ทั้งสองไม่นำสืบโต้แย้งความถูกต้องของเอกสาร เมื่อเอกสารหมาย ล. 7 มีข้อความเขียนไว้ชัดเจนว่า นางกิมเสียงหรือสมลักษณ์มีที่ดินทั้งหมด 12 ไร่ แม้จะไม่ระบุเลขที่โฉนดที่ดินพิพาทไว้ในสัญญาดังกล่าว แต่ไม่ปรากฏว่านางกิมเสียงมีที่ดินแปลงอื่นอีก จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อว่าที่ดินที่นางกิมเสียงจะขายให้นายจี๊ดคือที่ดินโฉนดพิพาทนั่นเอง
ส่วนที่โจทก์ทั้งสองนำสืบโดยมีตัวโจทก์ทั้งสองและนายเธียรพงษ์เบิกความว่า ที่ดินส่วนของนางกิมเสียงมีเนื้อที่ 28 ไร่เศษ นั้น เป็นการกล่าวอ้างตามที่ปรากฏในสารบัญท้ายโฉนดพิพาทและตามที่ให้สำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรีคำนวณบรรยายส่วนมาในคำสั่งศาลชั้นต้น หาใช่เป็นการยืนยันแน่นอนว่า นางกิมเสียงมีที่ดินตามจำนวนที่คำนวณบรรยายส่วนไว้ไม่ เพราะการบรรยายส่วนกับการครอบครองเป็นส่วนสัดเป็นคนละกรณีกัน เมื่อโจทก์ทั้งสองไม่มีนางกิมเสียงมาเบิกความสนับสนุน พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสิบสามจึงมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสอง ข้อเท็จจริงฟังว่านางกิมเสียง นายยศและนายอินได้แบ่งการครอบครองที่ดินโฉนดพิพาทเป็นส่วนสัดมาตั้งแต่ยื่นคำขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวมเมื่อปี 2510 แล้ว หาใช่นางกิมเสียง นายยศ นายอินและจำเลยทั้งสิบสามผู้สืบสิทธิจากนายยศและนายอินต่างเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดพิพาทตลอดมาไม่ เมื่อนายยศและนายอินกับจำเลยทั้งสิบสามครอบครองที่ดินที่ซื้อจากนางกิมเสียงภายในกรอบเส้นสีเหลืองและเส้นสีแดงโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาติดต่อกันเป็นเวลาเกิน 10 ปี จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนที่ครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 อันเป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม และแม้จำเลยทั้งสิบสามจะยังไม่ได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ก็ตาม แต่นายเธียรพงษ์และโจทก์ทั้งสองต่างเบิกความรับว่า ก่อนซื้อที่ดินได้ไปดูที่ดินที่ซื้อ เห็นมีบ้านปลูกอยู่หลายหลังรวมทั้งบ่อน้ำ บ่งชี้ว่ามีบุคคลอื่นครอบครองทำนาในที่ดินที่ซื้อแต่กลับไม่สอบถามว่าบุคคลนั้นครอบครองโดยอาศัยสิทธิอย่างไร แสดงว่านายเธียรพงษ์และโจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินโดยรู้ว่ามีผู้ครอบครอง กรณีถือไม่ได้ว่านายเธียรพงษ์และโจทก์ทั้งสองรับโอนที่ดินไว้โดยสุจริตและจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง จำเลยทั้งสิบสามย่อมยกการครอบครองปรปักษ์ที่ดินภายในกรอบสีเหลืองและเส้นสีแดงขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งสองได้ และฟังว่า นางกิมเสียงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดพิพาทเฉพาะภายในกรอบเส้นสีน้ำเงิน เมื่อนายเธียรพงษ์และโจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินส่วนของนางกิมเสียง จึงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดพิพาทเฉพาะภายในกรอบเส้นสีน้ำเงินเท่าที่นางกิมเสียงมีกรรมสิทธิ์เช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสิบสามฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ.

Share