คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 535/2521

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

อ.ยิงตำรวจตายเพื่อจะหลบหนีจากห้องขังของศาล จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตำรวจกับพวกได้ล้อมห้องขังไว้ ขณะนั้นมีผู้ต้องขังอยู่ในห้องขังรวม 6 คน ประตูห้องขับเปิดไม่ได้ อ.ก็ไม่ได้ยิงจำเลยที่ 1 กับพวกอีก จำเลยที่ 1 เอาปืนยิงเข้าไปในห้องขังเพื่อให้ถูก อ. แต่กระสุนพลาดไปถูก ร.ผู้ต้องขังอีกคนหนึ่งถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่ใช่วิธีหรือความป้องกันเท่าที่เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งเรื่องในการจับผู้พยายามจะหลบหนีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 83 วรรค 2 คดีไม่มีเหตุที่จำเลยจะปฏิเสธความรับผิดได้ จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์
โจทก์ซึ่งเป็นมารดา ร. ได้ถึงแก่ความตายในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ค่าขาดไร้อุปการะที่โจทก์ควรจะได้จึงคิดให้นับแต่วันที่ ร. ถึงแก่ความตายไปจนถึงวันที่โจทก์ถึงแก่ความตายเท่านั้น ไม่ใช่กำหนดให้ 10 ปีตามที่โจทก์ขอมาแต่เดิม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ เป็นข้าราชการตำรวจ ปฏิบัติหน้าที่ราชการของจำเลยที่ ๒ ทราบว่าผู้ต้องหาจะหลบหนีออกจากห้องขังของศาลจังหวัดนนทบุรี และได้ยิงจ่าสิบตำรวจกลั่น มาประดิษฐ์ ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ ๑ กับตำรวจอีก ๔ – ๕ คน จึงไปที่นั่น จำเลยที่ ๑ ได้ยิงปืนเข้าไปในห้องขังเพื่อให้ถูกนายอินทร์ ศรีทับทิม ซึ่งอยู่ในห้องขัง แต่กระสุนปืนพลาดไปถูกนนายเริงฤทธิ์ เลี่ยมอยู่ บุตรโจทก์ซึ่งถูกขังรวมอยู่ในห้องขังนั้น เป็นเหตุให้นายเริงฤทธิ์ถึงแก่ความตาย ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ ๒๕๐,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ กระทำเพื่อป้องกันตัวกระสุนพลาดไปถูกผู้ตายทั้ง ๆ ที่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้ว เพราะผู้ตายไม่หมอบหลบ จึงไม่ต้องรับผิด และว่าค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์เรียกสูงเกินไป
จำเลยที่ ๒ ให้การต่อสู้เช่นเดียวกับจำเลยที่ ๑ และว่าจำเลยที่ ๑ กระทำไปโดยลำพังตามอำนาจหน้าที่เฉพาะตัวของจำเลยที่ ๑ เอง และนอกเหนือจากทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๑ ยิงปืนเข้าไปในห้องขังเพื่อป้องกันมิให้นายอินทร์หลบหนี เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย กระสุนปืนพลาดไปถูกผู้ตาย ถือไม่ได้ว่าเกิดจากความประมาทเลินเล่อ จำเลยที่ ๑ ไม่ต้องรับผิดฐานละเมิดต่อโจทก์ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๑ กับพวกยิงปืนเข้าไปในห้องขังทั้ง ๆ ที่มีผู้ต้องขังอื่นรวมอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก โดยฝ่ายผู้จะถูกจับไม่ได้ยิงต่อสู้ไม่เข้าลักษณะป้องกัน และจำถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบไม่ได้ พิพากษากลับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เป็นเงิน ๙๕,๐๐๐ บาท
โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ตามฟ้อง
จำเลยทั้งสองฎีกาขอให้ยกฟ้อง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีได้ความว่าจำเลยที่ ๑ ยิงปืนเข้าไปในห้องขังของศาลจังหวัดนนทบุรี ทั้ง ๆ ที่เห็นแล้วว่าในห้องขังมีผู้ต้องขังอื่นรวมอยู่ด้วยหลายคน รวม ๖ คน ซึ่งอาจเห็นผลได้ว่า กระสุนปืนอาจพลาดไปถูกผู้ต้องขังอื่นที่อยู่ในห้องขังได้ง่าย เพราะอยู่ในที่จำกัดและคับแคบ รอบ ๆ ห้องขังเป็นกำแพงคอนกรีตมีทางออกทางเดียวคือทางประตูห้องขัง เป็นประตูลูกกรงเหล็กบานประตูเปิดเข้าข้างใน มีศพของจ่าสิบตำรวจกลั่น นาคประดิษฐ์ นอนขวางประตูอยู่ด้านในไม่สามารถจะเปิดออกไปได้ ซึ่งจำเลยนำสืบรับในข้อนี้ ทันทีที่จำเลยที่ ๑ ยิงปืนเข้าไปในห้องขังปรากฏว่ามีเสียงปืนภายนอกยิงเข้าไป ๑๑ – ๑๒ นัด แสดงว่ามีตำรวจล้อมไว้หมดแล้ว นายอินทร์เบิกความว่าถ้าตำรวจไม่ยิงเข้ามา ตนก็ไม่สามารถจะหลบหนี เพราะประตูเปิดไม่ได้ ศาลฎีกาเห็นว่า เหตุการณ์ดังกล่าวลำพังแต่ตำรวจล้อมไว้เท่านั้นนายอินทร์ก็ไม่มีทางหนีออกไปได้อยู่แล้ว ไม่น่าที่จำเลยที่ ๑ จะต้องใข้อาวุธปืนยิงเข้าไปในห้องขังซึ่งมีผู้ต้องขังอื่นรวมอยู่ด้วย เห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ ๑ ไม่ใช่วิธีหรือความป้องกันเท่าที่เหมาะแก่พฤติการณ์แห่งเรื่องในการจับผู้พยายามจะหลบหนีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๘๓ วรรค ๒ ที่จำเลยที่ ๑ นำสืบอ้างว่า นายอินทร์จำเลยที่ ๑ หนึ่งนัด แต่ไม่ถูกขณะจะยิงซ้ำจำเลยที่ ๑ จึงยิงไป ๒ นัดเพื่อป้องกันด้วยนั้น ปรากฏว่าปืนของนายอินทร์เป็นปืนลูกซองพกใช้ยิงได้ทีละนัดเท่านั้น ร้อยตำรวจเอกสมชาย ศรีสุวรรณพยานจำเลยว่าปืนของนายอินทร์ยาวจากนกปืนถึงปากกระบอกประมาณ ๑๐ นิ้ว ยิงแล้วต้องหักลำกล้องบรรจุกระสุนใหม่ ประกอบทั้งนายอินทร์ได้เบิกความว่าตนยิงไปเพียงนัดเดียว คือนัดที่ยิงจ่าสิบตำรวจกลั่นเท่านั้น เพราะไม่สามารถบรรจุกระสุนใหม่ได้ อีกประการหนึ่งหากนายอินทร์ยิงต่อสู้ก็น่าจะมีร่อยรอยกระสุนปืนให้เห็นบ้าง เพราะขณะยิงจำเลยที่ ๑ แอบอยู่ที่เสาระเบียงห้องขังข้างห้องพิจารณา หากนายอินทร์ยิงพลาด กระสุนก็น่าจะถูกเสาระเบียบหรือห้องพิจารณา แต่ไม่ปรากฏว่ามีร่องรอยกระสุนปืนใกล้ ๆ กับที่จำเลยที่ ๑ ยืนอยู่เลย ไม่เชื่อว่านายอินทร์จะยิงจำเลยที่ ๑ นอกจากเหตุผลดังกล่าวแล้วยังปรากฏจากหลักฐานตามสมุดบัญชีและรักษาทรัยพ์ของสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี ที่โจทก์อ้างส่งศาล ว่ามีการแก้ตัวเลขที่ลงไว้ในตอนแรกว่ามีกระสุนปืนลูกซองจำนวน ๒ นัด (ยังไม่ได้ยิง) ลบเลข ๒ ออกแล้วเขียนเลข ๑ แทน ปลอกกระสุนปืนลูกซองยิงแล้ว ๑ ปลอกแก้เป็น ๒ ปลอก มีพฤติการณ์ส่อพิรุธ ด้วยเหตุดังวินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ประกอบด้วยเหตุผลมั่นคง ฟังได้ว่านายอินทร์ใช้อาวุธยิงเพียงนัดเดียวคือยิงจ่าสิบตำรวจกลั่น นาคประดิษฐ์ จากการกระทำของจำเลยที่ ๑ ที่ยิงปืนเข้าไปในห้องขังทั้ง ๆ ที่เห็นอย่างแน่ชัดแล้วว่ามีผู้ต้องขังอื่นรวมอยู่ด้วยในห้องขังหลายคน กระสุนปืนอาจพลาดไปถูกผู้ต้องขังอื่นได้ การกระทำของจำเลยที่ ๑ เป็นเหตุให้นายเริงฤทธิ์ผู้ต้องขังคนหนึ่งถูกกระสุนปืนถึงแก่ความตาย คดีไม่มีเหตุที่จำเลยจะปฏิเสธความรับผิดได้ จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายให้แก่โจทก์ ฎีกาจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าขาดไร้อุปการะให้โจทก์ปีละ ๘,๐๐๐ บาท นั้นเป็นการสมควร แต่เนื่องด้วยระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ปรากฏว่านางผัน เลี่ยมอยู่ โจทก์ได้ถึงแก่กรรมเสียก่อน ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าสินไหมทดแทนให้จำเลยใข้เป็นค่าขาดไร้อุปการะในเวลาอนาคต ๑๐ ปี จึงเห็นสมควรกำหนดเวลาเสียใหม่ โดยให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าขาดไร้อุปการะให้โจทก์ถึงวันที่โจทก์ถึงแก่กรรม คือวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๑๙ (ตามสำเนาใบมรณะบัตรในสำนวนลำดับที่ ๑๙๑) นับตั้งแต่นายเริงฤทธิ์ตายถึงวันโจทก์ถึงแก่กรรมเป็นเวลา ๕ ปี ๑ เดือน ๑๘ วัน เป็นเงิน ๔๑,๐๖๗ บาท ส่วนค่าปลงศพผู้ตายที่โจทก์อ้างว่าจ่ายจริงเกินกว่า ๒๐,๐๐๐ บาท แต่ขอมาเพียง ๒๐,๐๐๐ บาท ขอให้ศาลกำหนดค่าทำศพให้เท่าที่ขอนั้น พิเคราะห์แล้วโจทก์ไม่มีหลักฐานใบเสร็จรับเงินมาแสดง เมื่อคำนึงถึงรายได้และฐานะของผู้ตายแล้ว เห็นว่าทีศาลอุทธรณ์กำหนดค่าทำศพให้เป็นเงิน ๑๕,๐๐๐ บาท เป็นการเหมาะสมแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้ เป็นให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ เป็นเงิน ๕๖,๐๖๗ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ ๗ ครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

Share