คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5347/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ป.อ. มาตรา 21 วรรคสอง บัญญัติว่า “ถ้าระยะเวลาที่คำนวณนั้นกำหนดเป็นเดือนให้นับสามสิบวันเป็นหนึ่งเดือน ถ้ากำหนดเป็นปี ให้คำนวณตามปีปฏิทินในราชการ” ดังนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 6 เดือน รวม 18 กระทง เป็นโทษจำคุก 9 ปี นั้น ไม่ถูกต้อง เพราะการวางโทษเป็นปีทำให้จำเลยต้องรับโทษมากกว่าการวางโทษจำคุกเป็นเดือนตามบทบัญญัติดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 264, 265, 268
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 จำเลยเป็นผู้ปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมเอง จึงให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 ตามมาตรา 268 วรรคสอง จำคุกกระทงละ 6 เดือน รวม 18 กระทง เป็นจำคุก 9 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายประการแรกว่า การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำความผิดต่อผู้เสียหายในแต่ละรายเป็นกรรมเดียวกัน จึงต้องลงโทษจำเลยเพียง 2 กระทง นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน โดยแยกกระทงเรียงเป็นลำดับข้อรวม 36 กระทง มีใจความว่า จำเลยปลอมใบเสร็จรับเงินเบี้ยประกันภัยของบริษัทไทยสมุทรพาณิชย์ประกันภัย จำกัด และใช้ใบเสร็จรับเงินเบี้ยประกันภัยดังกล่าวอ้างแสดงต่อนายนคร ทองตา และนางเพ็ญศรี ขอนคำ จำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังตามฟ้อง จำเลยจะโต้เถียงข้อเท็จจริงเพื่อให้ศาลรับฟังเป็นอย่างอื่นมิได้ จำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยปลอมใบเสร็จรับเงินเบี้ยประกันภัยและใช้ใบเสร็จรับเงินเบี้ยประกันภัยดังกล่าวอ้างแสดงต่อนายนคร 6 ครั้ง รวม 16 ฉบับ และนางเพ็ญศรี 2 ครั้ง รวม 2 ฉบับ เพื่อนำเงินไปชำระค่าเบี้ยประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับเดียวกัน การกระทำของจำเลยจึงมีเจตนาเดียวเพื่อต้องการนำเงินไปชำระค่าเบี้ยประกันภัย ถือได้ว่าเป็นการกระทำต่อผู้เสียหายในแต่ละรายอันเป็นกรรมเดียวกัน อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นอุทธรณ์โต้เถียงข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมาย จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งจำเลยไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ชอบที่จะไม่รับวินิจฉัยให้ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยให้จึงเป็นการไม่ชอบ เมื่อจำเลยฎีกาทำนองเดียวกับอุทธรณ์ของจำเลยอีก ฎีกาของจำเลยจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 5 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 แม้ศาลชั้นต้นรับฎีกาข้อนี้ของจำเลย ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้
ส่วนที่จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายประการต่อไปว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 5 คำนวณระยะเวลาจำคุกจำเลยไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 21 วรรคสอง นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 21 วรรคสอง บัญญัติว่า “ถ้าระยะเวลาที่คำนวณนั้น กำหนดเป็นเดือน ให้นับสามสิบวันเป็นหนึ่งเดือน ถ้ากำหนดเป็นปี ให้คำนวณตามปีปฏิทินในราชการ” ดังนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 6 เดือน รวม 18 กระทง เป็นโทษจำคุก 9 ปี นั้น ไม่ถูกต้อง เพราะการวางโทษเป็นปีทำให้จำเลยต้องรับโทษมากกว่าการวางโทษจำคุกเป็นเดือนตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว จำคุกจำเลยมีกำหนด 108 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 54 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5

Share