แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ข้อหาความผิดฐานมีและพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและไม่มีเหตุสมควร ซึ่งศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยเพราะต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 นั้น เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยพยานหลักฐานโจทก์แล้ว เห็นว่ายังมีข้อสงสัยตามสมควรว่า จำเลยจะเป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงข่มขู่ในการปล้นทรัพย์รายนี้หรือไม่และยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ศาลฎีกาก็ต้องยกประโยชน์ให้แก่จำเลยในข้อหาความผิดฐานมีและพาอาวุธปืนด้วย เพราะเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 340, 340 ตรี, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาสร้อยคอทองคำหนัก 2 บาท จำนวน 1 เส้น ราคา 12,200 บาท และคืนเงินจำนวน 3,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371, 340 วรรคสอง ประกอบมาตรา 340 ตรี, 83 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานปล้นทรัพย์โดยมีและใช้อาวุธปืนและโดยใช้ยานพาหนะ จำคุก 18 ปี ฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองจำคุก 6 เดือน ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ กับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 18 ปี 12 เดือน และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาสร้อยคอทองคำหนัก 2 บาท จำนวน 1 เส้น ราคา 12,200 บาท และคืนเงินจำนวน 3,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติในเบื้องต้นว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง มีคนร้าย 3 คน ร่วมกันปล้นทรัพย์สร้อยคอทองคำหนัก 2 บาท ราคา 12,200 บาท และเงินสดจำนวน 3,000 บาท ของนางวิญญา ปิยะพันธ์ ผู้เสียหาย และในการปล้นทรัพย์นั้น คนร้ายคนหนึ่งได้ใช้อาวุธปืนยิงขู่เข็ญผู้เสียหายและนายลิขิต ปิยะพันธ์ เพื่อให้ความสะดวกแก่การพาทรัพย์นั้นไปให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น และเพื่อให้พ้นจากการจับกุมด้วย และหลังจากได้ทรัพย์สินจากผู้เสียหายแล้ว คนร้าย 2 คนที่ร่วมกันกระทำการปล้นได้พากันหลบหนีโดยวิ่งไปขึ้นรถจักรยานยนต์ที่คนร้ายอีกคนหนึ่งจอดรถจักรยานยนต์รออยู่ขับหลบหนีไป คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเพียงว่า จำเลยเป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงขู่และร่วมกันกระทำการปล้นทรัพย์ของผู้เสียหายตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 หรือไม่ เห็นว่า แม้ประจักษ์พยานโจทก์ทั้งสองจะเบิกความยืนยันว่าต่างมีโอกาสเห็นและจำหน้าจำเลยได้ก็ตาม แต่ผู้เสียหายและนายลิขิตต่างเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยยอมรับว่า ขณะเกิดเหตุยังมืดอยู่ และที่บุคคลทั้งสองเบิกความสอดคล้องกันว่า อาศัยแสงสว่างจากโคมไฟหน้ารถและหลอดไฟที่จำเลยคาดไว้บนศีรษะทำให้สามารถเห็นและจดจำใบหน้าของจำเลยได้ แต่ผู้เสียหายตอบคำถามติงของโจทก์ว่า แสงสว่างจากหลอดไฟที่คาดอยู่บนศีรษะของจำเลยส่องไปไกลได้หลายวา ผู้เสียหายมีโอกาสเห็นหน้าจำเลยเนื่องจากจำเลยหันหน้าไปทางอื่นด้วยไม่ได้หันหน้ามาทางผู้เสียหายตลอด ทำให้แสงไฟหน้ารถส่องไปถึงหน้าจำเลยและมองเห็นหน้าจำเลยได้ เท่ากับผู้เสียหายยอมรับว่าหากจำเลยหันหน้ามาทางผู้เสียหายและนายลิขิต แสงจากหลอดไฟที่คาดศีรษะจำเลยจะส่องเข้าตาบุคคลทั้งสอง ทำให้บุคคลทั้งสองไม่เห็นหน้าจำเลย ย่อมแสดงว่าแท้จริงแล้วมีเฉพาะแสงจากโคมไฟหน้ารถจักรยานยนต์เท่านั้น ที่จะทำให้ผู้เสียหายและนายลิขิตสามารถมองเห็นหน้าจำเลยได้ แต่บุคคลทั้งสองต่างเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยยอมรับว่า ขณะที่จำเลยยืนอยู่หน้ารถ แสงไฟจากโคมไฟหน้ารถจะอยู่ต่ำกว่าแสงไฟจากหลอดไฟที่คาดศีรษะจำเลย โดยเฉพาะนายลิขิตเบิกความด้วยว่า ขณะจำเลยใช้อาวุธปืนจี้พยานอยู่หน้ารถนั้นจำเลยยืนอยู่ จึงอยู่สูงกว่าแสงไฟหน้ารถและจำเลยสูงประมาณ 160 เซนติเมตร ดังนั้น แสงสว่างจากโคมไฟหน้ารถจึงมิได้ส่องไปที่ใบหน้าของจำเลยโดยตรงด้วยลักษณะของแสงสว่างในที่เกิดเหตุดังกล่าว ประกอบกับผู้เสียหายและนายลิขิตไม่เคยรู้จักและเห็นหน้าจำเลยมาก่อน อีกทั้งจำเลยยังสวมหมวกปิดหน้าผากและศีรษะด้วย ซึ่งเหตุก็เกิดขึ้นโดยกะทันหัน และขณะเกิดเหตุคนร้ายใช้อาวุธปืนข่มขู่จะยิงทำร้าย ทั้งได้ยิงขู่จนผู้เสียหายตกใจกลัวก้มหน้าไม่กล้ามองคนร้ายด้วย เช่นนี้ตามพฤติการณ์แห่งคดีจึงมีเหตุน่าสงสัยว่าทั้งผู้เสียหายและนายลิขิตจะมีโอกาสสังเกตเห็นและจดจำหน้าคนร้ายได้ว่าเป็นจำเลยไม่ผิดตัวหรือไม่ เมื่อพิจารณาประกอบข้อเท็จจริงว่า เมื่อจำเลยถูกจับกุมจำเลยก็ได้ให้การปฏิเสธมาตั้งแต่ต้น และเจ้าพนักงานตำรวจก็ไม่สามารถตรวจค้นพบของกลางใด ๆ ที่บ้านจำเลยด้วย พยานหลักฐานโจทก์ดังที่ได้วินิจฉัยมาจึงมีข้อสงสัยตามสมควรว่าจำเลยจะเป็นคนร้ายที่ร่วมกับพวกปล้นทรัพย์ผู้เสียหายจริงตามฟ้องหรือไม่ จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ฟังข้อเท็จจริงเชื่อตามคำประจักษ์พยานโจทก์ว่าจำเลยเป็นคนร้ายร่วมกับพวกปล้นทรัพย์ของผู้เสียหายตามฟ้อง และพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำเลยมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
อนึ่ง สำหรับข้อหาความผิดฐานมีและพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและไม่มีเหตุสมควร ซึ่งศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาของจำเลย เพราะต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 นั้น เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยพยานหลักฐานโจทก์แล้วเห็นว่ายังมีข้อสงสัยตามสมควรว่า จำเลยจะเป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงข่มขู่ในการปล้นทรัพย์รายนี้หรือไม่ และยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ศาลฎีกาก็ต้องยกประโยชน์ให้แก่จำเลยในข้อหาความผิดฐานมีและพาอาวุธปืนด้วย เพราะเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทุกข้อหา