แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 39 และมาตรา 29 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติเรื่องการจดประเด็นข้อพิพาทและการดำเนินกระบวนพิจารณาจะต้องเป็นไปโดยประหยัด สะดวก รวดเร็ว และเที่ยงธรรมไว้เป็นการเฉพาะแล้ว กรณีจึงไม่อาจนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เรื่องการชี้สองสถานและการคัดค้านการกำหนดประเด็นข้อพิพาทมาอนุโลมใช้บังคับแก่การจดประเด็นข้อพิพาทและการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงาน ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ได้
ในคดีแรงงานพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 ได้บัญญัติให้ศาลแรงงานมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาทั้งปวงรวมทั้งการกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินกระบวนพิจารณาและให้มีอำนาจระบุให้คู่ความฝ่ายใดนำพยานมาสืบก่อนหลังได้ด้วย หากศาลแรงงานพิจารณาวินิจฉัยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตามข้อต่อสู้ของคู่ความครบถ้วนแล้วต้องถือว่าศาลแรงงานได้ดำเนินกระบวนพิจารณาชอบด้วยกฎหมาย คู่ความไม่มีสิทธิคัดค้านว่าศาลแรงงานกำหนดประเด็นข้อพิพาทหรือระบุให้คู่ความฝ่ายใดนำพยานมาสืบก่อนหลังไม่ถูกต้องเช่นที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 183 วรรคท้ายได้
โจทก์ฟ้องต่อศาลแรงงานว่า จำเลยในฐานะจำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบกรณีกล่าวหาว่าจำเลยฉ้อโกงเรียกเงินค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลจากลูกค้าของโจทก์ในวันโอนบ้านและที่ดินทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ซึ่งเป็นการฟ้องบังคับตามสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้จากการผิดสัญญาจ้างแรงงาน ไม่ใช่เป็นฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา การพิจารณาพิพากษาคดีแรงงานนี้จึงไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์ ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2535ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายประจำโครงการบ้านรังสิยา ปากเกร็ด มีหน้าที่ควบคุมการขายและเป็นตัวแทนผู้รับมอบอำนาจโจทก์ในการโอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินรวมทั้งมีอำนาจรับเงินจากลูกค้า จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ว่า หากจำเลยที่ 1 กระทำความเสียหายให้แก่โจทก์จำเลยที่ 2 ยอมรับผิดในวงเงิน 200,000 บาท เมื่อปลายปี 2538 โจทก์ได้รับการร้องเรียนจากลูกค้าโครงการบ้านรังสิยา ปากเกร็ด ว่า จำเลยที่ 1ใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบทำการฉ้อโกงเรียกเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลจากลูกค้าในวันโอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดิน ซึ่งภาษีเงินได้นิติบุคคลดังกล่าวนี้โจทก์มีหน้าที่จะต้องชำระ และลูกค้าเรียกร้องให้โจทก์คืนเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ลูกค้าทั้งที่จำเลยที่ 1 ได้เบิกเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลจากโจทก์ไปแล้ว โจทก์แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงพบว่า จำเลยที่ 1 เรียกเงินค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลจากลูกค้าตามที่ถูกร้องเรียนและกระทำการทุจริตเปลี่ยนสัญญาจะซื้อขายบ้านและที่ดินจากชื่อนางสาวอรศรี พุ่มไหม เป็นนายจิระวัฒน์ เรืองเขตรการณ์และนางสาวอำพร เพียรเขตรกิจ เข้าไปแทนที่ ซึ่งเป็นการไม่ชอบ เพราะกระทำไปโดยพลการ และจำเลยที่ 1 ได้เรียกให้นางสาวอรศรีจ่ายเงินค่าธรรมเนียมการเปลี่ยนสัญญาให้จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 30,000 บาท ทั้งที่ตามระเบียบของโจทก์ในการเปลี่ยนสัญญาจะซื้อขายลูกค้าต้องเสียค่าธรรมเนียมให้แก่โจทก์เพียง 10,000 บาท นอกจากนี้จำเลยที่ 1ยังได้ยักยอกเงินที่รับไว้จากลูกค้าจำนวน 10,000 บาท ไปเป็นของจำเลยที่ 1 ด้วยสื่อมวลชนได้ลงข่าวการกระทำของจำเลยที่ 1 ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่าโจทก์ฉ้อโกงและเอาเปรียบลูกค้า ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงเลิกจ้างจำเลยที่ 1 และเนื่องจากโจทก์ในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1 ได้จ่ายเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จำเลยที่ 1 เรียกจากลูกค้าคืนให้แก่ลูกค้าไปจำนวน 40 ราย เป็นเงิน522,000 บาท จำเลยที่ 1 จึงต้องชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดในวงเงินดังกล่าว แต่ไม่เกิน 200,000 บาทโจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระแล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 522,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2539 ถึงวันฟ้องเป็นเงินดอกเบี้ย 8,473.56บาท และดอกเบี้ยต่อไปในอัตราเดียวกันจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 2ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2539 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 4,767.12 บาท และดอกเบี้ยต่อไปในอัตราเดียวกันจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขาย ประจำโครงการบ้านรังสิยา ปากเกร็ด มีหน้าที่ขายและเป็นตัวแทนผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์กระทำการโอนบ้านและที่ดินให้แก่ลูกค้าผู้ซื้อ มีจำเลยที่ 2ทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 กับโจทก์ว่า หากจำเลยที่ 1 ทำความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ยอมรับผิดในวงเงิน 200,000 บาท ปลายปี 2538ลูกค้าผู้ซื้อบ้านและที่ดินของโจทก์ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ข้อหาฉ้อโกง โดยกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 เรียกเงินค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลจากลูกค้า แต่ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้กระทำละเมิดผิดสัญญาจ้างเรียกเงินค่าภาษีดังกล่าวจากลูกค้าโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงมิได้กระทำละเมิดในทางการที่จ้างต่อโจทก์ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์อุทธรณ์ข้อแรกว่า ที่ศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทข้อ 2 ว่า จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ในทางการที่จ้างหรือไม่ เป็นการกำหนดประเด็นที่ไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ถูกต้องกำหนดประเด็นว่า จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ นั้น เห็นว่าในคดีแรงงาน พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 39 และมาตรา 29 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติเรื่องการจดประเด็นข้อพิพาทและการดำเนินกระบวนพิจารณาจะต้องเป็นไปโดยประหยัด สะดวกรวดเร็ว และเที่ยงธรรมไว้เป็นการเฉพาะแล้ว กรณีจึงไม่อาจนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เรื่องการชี้สองสถานและการคัดค้านการกำหนดประเด็นข้อพิพาทมาอนุโลมใช้บังคับแก่การจดประเด็นข้อพิพาทและการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงาน ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ได้นอกจากนี้มาตรา 37ได้บัญญัติว่า เมื่อศาลแรงงานสั่งรับคดีไว้พิจารณาแล้ว ให้ศาลแรงงานกำหนดวันเวลาในการพิจารณาคดีโดยเร็วและออกหมายเรียกจำเลยให้มาศาลตามกำหนดในหมายนั้นให้จดแจ้งรายการแห่งข้อหาและคำขอบังคับให้จำเลยทราบ และให้ศาลแรงงานสั่งให้โจทก์มาศาลในวันเวลาเดียวกันนั้นด้วย โดยจำเลยจะยื่นคำให้การเป็นหนังสือก่อนวันเวลาดังกล่าวก็ได้ มาตรา 38 บัญญัติต่อไปว่า เมื่อโจทก์และจำเลยมาพร้อมกันแล้วให้ศาลแรงงานไกล่เกลี่ยให้คู่ความตกลงหรือประนีประนอมยอมความกันโดยให้ถือว่าคดีแรงงานมีลักษณะพิเศษอันควรระงับลงได้ด้วยความเข้าใจอันดีต่อกัน เพื่อที่ทั้งสองฝ่ายจะได้มีความสัมพันธ์กันต่อไปแต่ถ้าศาลแรงงานไกล่เกลี่ยแล้ว คู่ความไม่อาจตกลงหรือประนีประนอมยอมความกันได้ ก็ให้ศาลแรงงานดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ซึ่งมาตรา 39 บัญญัติว่าให้ศาลแรงงานจดประเด็นข้อพิพาท แล้วบันทึกคำแถลงของโจทก์กับคำให้การจำเลยอ่านให้คู่ความฟังและลงลายมือชื่อไว้ โดยจะระบุให้คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนำพยานมาสืบก่อนหรือหลังก็ได้ แล้วให้ศาลแรงงานกำหนดวันสืบพยานไปทันที ครั้นถึงวันนัดสืบพยานมาตรา 45 ได้บัญญัติให้อำนาจศาลแรงงานเรียกพยานหลักฐานมาสืบได้เองตามที่เห็นสมควรและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ทั้งในการซักถามพยานไม่ว่าจะเป็นพยานที่คู่ความฝ่ายใดอ้างหรือศาลแรงงานเรียกมาเองให้ศาลแรงงานเท่านั้นมีอำนาจซักถามพยาน ส่วนตัวความหรือทนายความจะซักถามพยานไม่ได้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานแล้ว จากบทบัญญัติที่กล่าวมานี้แสดงให้เห็นว่าในคดีแรงงาน พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 ได้บัญญัติให้ศาลแรงงานมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาทั้งปวง รวมทั้งการกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินกระบวนพิจารณาและให้มีอำนาจระบุให้คู่ความฝ่ายใดนำพยานสืบก่อนหลังได้ด้วย หากศาลแรงงานพิจารณาวินิจฉัยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตามข้อต่อสู้ของคู่ความครบถ้วนแล้ว ต้องถือว่าศาลแรงงานได้ดำเนินกระบวนพิจารณาชอบด้วยกฎหมาย คู่ความไม่มีสิทธิคัดค้านว่าศาลแรงงานกำหนดประเด็นข้อพิพาทหรือระบุให้คู่ความฝ่ายใดนำพยานมาสืบก่อนหลังไม่ถูกต้องเช่นที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 183 วรรคท้าย ที่ศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทข้อ 2 ว่า จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ในทางการที่จ้างหรือไม่ จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาตามอำนาจที่กฎหมายกำหนดไว้โดยชอบแล้ว
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่า ตามคำฟ้องและคำให้การเหตุละเมิดที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 มีมูลมากจากการกระทำอันเดียวกันกับที่บุคคลภายนอกได้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ 1 ต่อศาลแขวงนนทบุรี การพิจารณาพิพากษาคดีนี้ศาลแรงงานกลางจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาส่วนอาญา ศาลแรงงานกลางจึงต้องรอฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาของศาลแขวงนนทบุรีดังกล่าว ที่ศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษาคดีนี้โดยไม่ฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาในคดีอาญาของศาลแขวงนนทบุรีเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบกรณีกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ฉ้อโกงเรียกเงินค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลจากลูกค้าของโจทก์ในวันโอนบ้านและที่ดิน ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียแก่โจทก์ ซึ่งเป็นการฟ้องบังคับตามสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้จากการผิดสัญญาจ้างแรงงาน ฟ้องโจทก์ดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาในการพิจารณาพิพากษาคดีจึงไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาดังโจทก์อุทธรณ์
พิพากษายืน